กลุ่มต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์คว้าโนเบลสันติภาพ

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ตกเป็นของกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อทำลายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ไอแคน (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons--Ican)
นางเบริต รีส-แอนเดอร์เซน ประธานคณะกรรมการมอบรางวัลโนเบล กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่กลุ่มไอแคน เพราะความพยายามของกลุ่มที่ผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ
"เราอาศัยอยู่ในโลกซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทำให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าที่เคยเป็นมาอย่างยาวนาน" ประธานคณะกรรมการมอบรางวัลโนเบล แถลง
นางรีส-แอนเดอร์เซนยังได้อ้างถึงปัญหาเกาหลีเหนือ โดยเธอได้เรียกร้องให้บรรดาชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ริเริ่มการเจรจาเพื่อค่อย ๆ กำจัดอาวุธนิวเคลียร์ลง
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีนี้ 122 ชาติได้ยอมรับสนธิสัญญาของสหประชาติในการห้ามและค่อย ๆ กำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทุกชนิด แต่ยังไม่มีชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ชาติใดจากทั้งหมด 9 ชาติลงนามในสนธิสัญญานี้ รวมถึง สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ไอแคน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรเอกชนหลายร้อยแห่ง มีอายุ 10 ปีแล้ว และตั้งอยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทางกลุ่มจะได้รับเงินรางวัล 9 ล้านโครน หรือราว 37 ล้านบาท พร้อมกับเหรียญและใบประกาศนียบัตรที่พิธีมอบรางวัลโนเบลในเดือนธันวาคมนี้
กระบวนการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
- ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อจากทั่วโลกนำเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลให้คณะกรรมการมอบรางวัลโนเบลพิจารณาภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีที่มีการมอบรางวัล
- ผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาจากทางคณะกรรมการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งมีสมาชิก 5 คนที่ได้รับเลือกจากรัฐสภานอร์เวย์ จากนั้นจะคัดเลือกผู้เข้ารอบราว 20-30 รายชื่อ
- กลุ่มที่ปรึกษาทั้งในนอร์เวย์และนานาชาติเขียนรายงานส่วนตัวที่มีต่อผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ผ่านเข้ารอบ โดยคณะกรรมการจะใช้รายงานเหล่านี้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบต่อไป
- การตัดสินผู้ชนะมีขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้าย โดยปกติจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม ก่อนที่จะมีการประกาศผลรางวัลโนเบล
- ถ้าคณะกรรมการมีคะแนนเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ก็ให้ตัดสินจากเสียงข้างมาก
- หลังการประกาศผลแล้ว พิธีมอบรางวัลมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของนายอัลเฟรด โนเบล ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบล
