หมอกควันภาคเหนือ : “ใจจริงก็อยากจะย้ายบ้านหนีฝุ่นไปอยู่ที่อื่น... เป็นห่วงอนาคตลูกด้วย แต่ไม่มีที่ไป”

  • เรื่องโดย ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ,

เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยจากภาวะหมอกควันครั้งนี้แล้วกว่า 89,219 คน

"ตอนแรกน้องก็มีน้ำมูก ต่อมาเห็นได้ชัดเลยว่าน้ำมูกไหลออกมาเป็นสำดำ พอล้างจมูกให้น้องก็เห็นว่าฝุ่นสีดำ ๆ ไหลออกมาเต็มเลย" เกศินี แสงมะโน คุณแม่อายุ 27 ปี ชาว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่เฝ้าดูลูกน้อยของเธอที่เพิ่งลืมตาดูโลกมาได้แค่ 11 เดือนเท่านั้น ด้วยความเป็นห่วงในอนาคตของน้องฟ้ามุ่ยว่าจะต้องเจ็บป่วยอีกนานแค่ไหนในสภาพ มลพิษอากาศของเชียงใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะแย่ขึ้นทุก ๆ ปี และถึงแม้ว่าจะแย่แค่ไหนแต่นี่ก็คือบ้านหลังเดียวของคนหลาย ๆ คน และการย้ายถิ่นฐานหนีมลพิษก็ไม่ใช่ทางเลือก

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

กรณีของ เกศินี เป็นหนึ่งในหลายหมื่นรายที่ได้รับผลกระทบจากสภาพหมอกควันพิษในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบนทั้งหมด โดยช่วงเดือนที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือตกอยู่ในสภาพหมอกควันพิษอันเลวร้าย โดยที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้แตะระดับสูงมากจนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกเป็นเวลาห้าวันติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 15 มีนาคม

จากสถิติ 10 ปีย้อนหลังของรายงานสถานการณ์มลพิษในประเทศไทยที่จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ จะพบได้ว่าจังหวัดที่มีดัชนีคุณภาพทางอากาศที่แย่ที่สุดในประเทศไทยได้แก่ จ.สระบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย โดยถึงแม้ว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะไม่ได้รวมอยู่ในรายงานจนกระทั่งปี พ.ศ. 2558 แต่ดัชนีชีวัดก็แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศของเชียงใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140 - 160 AQI แต่มาในปีนี้ค่าของมลพิษในอากาศพุ่งสูงขึ้นทะลุ 300 AQI และมีค่า PM 2.5 เกิน 200 ไม่โครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

เกศินี รีบพาน้องฟ้ามุ่ย ลูกสาวของเธอเพื่อไปพบแพทย์ โดยได้รับการยืนยันอันน่าตกใจว่าหากเธอนำลูกสาวไปโรงพยาบาลช้ากว่านี้ การรักษาจะเป็นไปได้ยากและอาจจะสายเกินไปที่จะรักษาให้หายหรือยื้อชีวิตไว้ได้

"เราก็ตกใจมากเพราะว่าไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ คุณหมอให้น้องรมยาทุก ๆ สี่ชัวโมงและเราต้องช่วยเคาะปอดอยู่ตลอดเวลา น้องร้องไห้ตลอดและอยากจะถอดหน้ากากออกด้วยความรำคาญ" เกศินีกล่าว

ที่มาของภาพ, เกศินี แสงมะโน

คำบรรยายภาพ,

น้องฟ้ามุ่ยต้องพ่นยาทุก ๆ 4 ชั่วโมงในขณะที่รับการรักษาที่โรงพยาบาล

หลังจากได้รับการรักษา แพทย์วินิจฉัยว่า ด.ญ. ปริมประภา เรือนใส หรือน้องฟ้ามุ่ย ป่วยเป็นปอดอักเสบ อันเป็นผลมาจากการสูดดมฝุ่นพิษเข้าไปทำให้ปอดข้างขวาของเธออักเสบ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีอาการหนักอะไรมาก แต่แพทย์ยืนยันกับครอบครัวว่าภาวะแบบนี้จะส่งผลให้น้องฟ้ามุ่ยป่วยบ่อย และถ้าหากเธอได้รับฝุ่นพิษเข้าร่างกายอยู่เป็นประจำเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดเธอก็จะป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ที่จัดเก็บข้อมูลของอาการเจ็บป่วยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 30 มีนาคม 2562 เผยให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาหมอก ควันและไฟป่ามีทั้งสิ้น 89,219 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยตาอักเสบ 2,983 ราย หัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 35,879 ราย ทางเดินหายใจทุกชนิด 46,989 ราย และผิวหนัง 3,368 ราย โดยเมื่อเทียบกับสถิติของทั้งปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพทั้งสิ้น 155,775 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยตาอักเสบ 5,718 ราย หัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 73,811 ราย ทางเดินหายใจทุกชนิด 70,350 ราย และผิวหนัง 5,896 ราย

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

ผู่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยน้องฟ้ามุ่ยและเด็กหลาย ๆ คนก็ตกเป็นเหยื่อจากมลพิษทางอากาศในภาคเหนือที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าสภาพอากาศจะแย่แค่ไหน แต่คนในพื้นที่หลาย ๆ คนก็ทำอะไรไปไม่ได้มากไปกว่าการป้องกันตัวเอง

"บางวันที่หมอกควันลงจัด ๆ เราก็จะเห็นเศษใบไม้สำดำ ๆ และขี้เถ้าลอยมากับอากาศและมาตกอยู่บริเวณหน้าบ้าน เราต้องกวาดบ้านกันทั้งวันเพื่อไม่ให้มันเข้าบ้าน" เกศินี กล่าว "ใจจริงก็อยากจะย้ายบ้านหนีฝุ่นไปอยู่ที่อื่นที่ปลอดภัยกว่านี้เพราะเป็นห่วงอนาคตลูกด้วย แต่ไม่มีที่ไป นี่เป็นบ้านหลังเดียวของพวกเรา"