นักวิทยาศาสตร์ชี้เดินวันละ 10,000 ก้าว เป็นเป้าหมายที่ "ไร้ประโยชน์"

คนออกกำลังกาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร.เกร็ก เฮเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ที่เมืองบัลติมอร์ บอกบีบีซี ว่า "มีน้อยมาก" ที่แอปฯ เพื่อการออกกำลังกาย จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

แอปฯ เพื่อการออกกำลังกายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีให้เลือกนับพันแอปฯ และมีสถิติดาวน์โหลดมากกว่าพันล้านครั้งทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน มีแอปฯ ยอดนิยมหลายรายที่ตั้งเป้าหมายให้ผู้ใช้งาน เดินให้ครบ 10,000 ก้าวต่อวัน แต่ดร.เฮเกอร์ กล่าวว่า เป้าหมายนี้ถูกกำหนดเอาเอง โดยอาศัยผลการศึกษาเก่าของนักวิจัยในญี่ปุ่น เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.เฮเกอร์ ได้กล่าวต่อสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา (American Association for the Advancement of Science) โดยยกตัวอย่าง ของกรณีที่แอปฯ เหล่านี้ อาจไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ว่า "บางคนอาจจะใส่ฟิตบิท หรืออุปกรณ์บางอย่างที่มีการทำงานใกล้เคียงกัน ซึ่งผมกล้าพนันว่า อุปกรณ์เหล่านี้จะขึ้นข้อความว่า 'วันนี้คุณเดินครบ 10,000 ก้าวแล้ว' แต่ทำไม 10,000 ก้าวนี้มีความสำคัญนัก" คำตอบคือ "ผลการศึกษาของญี่ปุ่นเมื่อปี 1960 บ่งชี้ว่า ชายชาวญี่ปุ่นจะเผาผลาญพลังงานได้ 3,000 แคลอรี่ เมื่อเดินครบ 10,000 ก้าวต่อวัน ซึ่งพวกเขาคิดว่า นั่นคือเกณฑ์ที่คนทั่วไปบริโภค จึงได้เลือกใช้ตัวเลข 10,000 ก้าว"

ดร.เฮเกอร์ ชี้ว่าการทำตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดขึ้นมาลอย ๆ นี้ อาจก่อให้เกิดผลเสียโดยรวม "สมมุติว่า ถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องเดินให้ครบ 10,000 ก้าว แต่ถ้าหากร่างกายคุณไม่สามารถทำตามนั้นได้ ในความเป็นจริงก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บได้"

ที่มาของภาพ, Getty Images

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอปฯ เพื่อการออกกำลังกายถูกตั้งคำถามถึงคุณประโยชน์ต่อผู้ใช้ โดยผลการศึกษาเมื่อปีที่แล้วก็พบว่า การนับก้าวจากการเดินไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้มีแนวโน้มในการลดน้ำหนักได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.เฮเกอร์ ยืนยันว่า เครื่องมือช่วยนับก้าวเหล่านี้ เป็นตัวบ่งชี้ปัญหาที่มีขอบเขตกว้างกว่า "คุณก็คงอยากเชื่อว่า แอปฯ จำนวนมากเหล่านี้ พัฒนามาจากข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง แต่ในหลายกรณียังไม่มีความชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เรามี กับสิ่งที่ถูกป้อนลงไปในแอปฯ"