7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

อียิปต์ค้นพบสุสานโบราณอีก 2 แห่งที่ลักซอร์

ที่มาของภาพ, EPA

ขวบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นพบครั้งสำคัญของวิทยาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย ซึ่งบีบีซีไทยรวบรวมมาให้อ่านกันในช่วงสิ้นปีดังนี้

1. สุสาน "ซานตาคลอส" อาจอยู่ที่ตุรกี

นักโบราณคดีตุรกีค้นพบหลุมฝังศพที่เชื่อว่าอาจเป็นสุสานของนักบุญนิโคลัสแห่งไมรา หรือที่ทั่วโลกนิยมเรียกขานกันในชื่อของ "ซานตาคลอส" ที่โบสถ์นักบุญนิโคลัสในเมืองเดมเรทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี

สุสาน "ซานตาคลอส" ที่โบสถ์นักบุญนิโคลัสในเมืองเดมเรของตุรกี

ที่มาของภาพ, ANADOLU/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

สุสาน "ซานตาคลอส" ที่โบสถ์นักบุญนิโคลัสในเมืองเดมเรของตุรกี

บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อราวศตวรรษที่ 4 นักบุญนิโคลัสเคยดำรงตำแหน่งสังฆราชแห่งเมืองไมรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอันตัลยาของตุรกี โดยมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องในหมู่ชาวคริสต์จากความอ่อนน้อมถ่อมตนและความใจบุญสุนทานโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่ากระดูกของนักบุญนิโคลัสถูกนำออกไปจากเมืองไมราตั้งแต่ปี 1087 เพื่อหนีการรุกรานของกองทัพชาวเติร์ก และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่โบสถ์ในเมืองบารีของอิตาลี แต่การค้นพบของนักโบราณคดีชาวตุรกีในครั้งนี้ ชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ากระดูกของนักบุญนิโคลัสอาจยังคงอยู่ในที่เก็บแห่งเดิม ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบภายในสุสานนี้กันต่อไป

กระดูกที่เชื่อว่าเป็นของนักบุญนิโคลัสได้รับการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีเป็นครั้งแรก

ที่มาของภาพ, T. HIGHAM & G. KAZAN

คำบรรยายภาพ,

กระดูกที่เชื่อว่าเป็นของนักบุญนิโคลัสได้รับการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีเป็นครั้งแรก

ด้านมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ได้ตรวจสอบหาอายุที่แท้จริงของชิ้นส่วนกระดูกที่มีผู้อ้างว่าเป็นของนักบุญนิโคลัสชิ้นหนึ่ง โดยใช้วิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีเป็นครั้งแรก และพบว่ามีความเก่าแก่เกือบ 1,700 ปี ซึ่งตรงกับสมัยที่ซานตาคลอสตัวจริงในประวัติศาสตร์ยังมีชีวิตอยู่

ศาสตราจารย์ทอม ไฮแฮม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ตรวจหาอายุของกระดูกดังกล่าวบอกว่า แม้ผลการตรวจด้วยคาร์บอน-14 ไม่อาจทำให้ทราบได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกของนักบุญนิโคลัสจริงหรือไม่ แต่การที่พบว่ามีอายุเก่าแก่ตรงกับช่วงชีวิตของ "ซานตาคลอส" ตัวจริงในประวัติศาสตร์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ากระดูกชิ้นนี้มีโอกาสเป็นของจริงมากกว่ากระดูกชิ้นอื่น ๆ ที่มักพบว่าเป็นของทำเลียนแบบขึ้นในยุคหลัง

2. อียิปต์พบสุสานใหม่ใกล้หุบเขากษัตริย์และรูปปั้นฟาโรห์รามเสสที่สอง

นักโบราณคดีของอียิปต์ค้นพบสุสานโบราณแห่งใหม่หลายแห่งในหุบเขาใกล้เมืองลักซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ห่างจากกรุงไคโรไปทางตอนใต้ราว 700 กิโลเมตร

ห้องลับที่เก็บมัมมี่เหล่านี้อยู่ในสุสานดราอาบูลนากา (Draa Abul Naga) ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาศพของขุนนางชั้นสูงในยุคอาณาจักรใหม่ที่มีความเก่าแก่ราว 3,500 ปี ตั้งอยู่ใกล้หุบเขากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เก็บซ่อนพระศพของฟาโรห์ที่มีชื่อเสียง

ห้องเก็บมัมมี่ที่ค้นพบใหม่อยู่ในสุสานดราอาบูลนากา ซึ่งเป็นที่เก็บศพของขุนนางและข้าราชสำนัก

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ห้องเก็บมัมมี่ที่ค้นพบใหม่อยู่ในสุสานดราอาบูลนากา ซึ่งเป็นที่เก็บศพของขุนนางและข้าราชสำนัก

มัมมี่ที่ค้นพบในห้องเก็บศพทั้ง 3 ห้องยังอยู่ในสภาพดี โดยสันนิษฐานว่าเป็นร่างของขุนนางตำแหน่งอาลักษณ์ผู้หนึ่ง และร่างของช่างทองหลวง "อาเมเนมฮัต" พร้อมทั้งครอบครัวในอีกห้องหนึ่ง

การอ่านจารึกในบริเวณนี้ทำให้พบรายชื่อของผู้ตาย ซึ่งน่าจะมีสุสานตั้งอยู่ใกล้เคียงกันอีกหลายราย นักโบราณคดีจึงมีความหวังว่าน่าจะพบสุสานโบราณที่ซ่อนอยู่อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบชิ้นส่วนรูปปั้นขนาดยักษ์ที่น่าจะมีอายุราว 3,000 ปี ใต้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในสลัมทางตะวันออกของกรุงไคโร โดยสันนิษฐานว่าเป็นรูปปั้นของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งปกครองอียิปต์อยู่นาน 60 ปี และได้ขยายดินแดนอียิปต์ให้กว้างไกลออกไปมากขึ้น

พื้นที่ซึ่งค้นพบรูปปั้นดังกล่าว ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองเก่าเฮลิโอโปลิส โดยชิ้นส่วนลำตัวของรูปปั้นที่พบอยู่ในสภาพดี แม้จะจมอยู่ในโคลนใต้ดินมาเป็นเวลานานก็ตาม ทางกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ได้เคลื่อนย้ายรูปปั้นนี้ไปประกอบให้สมบูรณ์และตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงไคโรแล้ว

3. ดีเอ็นเอชี้ชาวเกาะอีสเตอร์ไม่ได้ก่อสงคราม-ทำลายสิ่งแวดล้อม

ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากโครงกระดูกของชาวราปานุย ซึ่งเคยเป็นผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่บนเกาะอีสเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ พบว่าชาวราปานุยเผ่าต่าง ๆ ในอดีตไม่ได้รบราฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่นักโบราณคดีรุ่นก่อนได้สันนิษฐานไว้แต่อย่างใด

รูปปั้นโมอาย สัญลักษณ์ที่คุ้นตาของเกาะอีสเตอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

รูปปั้นโมอาย สัญลักษณ์ที่คุ้นตาของเกาะอีสเตอร์

ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า มีซากศพของชาวราปานุยที่ถูกฝังอยู่เพียง 2.5% เท่านั้น ที่มีร่องรอยว่าได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าชาวราปานุยไม่เคยทำสงครามแย่งชิงไม้และดินแดนกันจนจำนวนประชากรลดน้อยถอยลงอย่างมาก ต่างจากที่นักโบราณคดีรุ่นเก่าระบุว่า เคยมีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนักจนเป็นเหตุให้เกาะอีสเตอร์สูญสิ้นทรัพยากรทั้งพืชและสัตว์ป่า และเกิดสงครามตามมา

ผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับชาวราปานุยยังระบุว่า เรื่องการสู้รบระหว่างชนเผ่าในอดีตนั้นเป็นเพียงคำบอกเล่าของชนพื้นเมืองที่ชาวยุโรปบันทึกไว้เมื่อ 300 ปีก่อน ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่การจับตัวคนพื้นเมืองไปขายเป็นทาส การบังคับย้ายถิ่นฐาน และโรคติดต่อที่มากับชาวยุโรป น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรชาวราปานุยลดลง

4. พบสุสานผู้นำนักรบไวกิ้งคนแรกที่เป็นหญิง

ผลการตรวจดีเอ็นเอและลักษณะของกระดูกที่พบในสุสานนักรบไวกิ้งยุคศตวรรษที่ 10 บนเกาะ Bjorko ของสวีเดน ยืนยันว่าเจ้าของโครงกระดูกดังกล่าวเป็นหญิง โดยสิ่งของที่อยู่ในหลุมฝังศพชี้ว่าเธอเป็นนักรบและบุคคลสำคัญระดับสูงที่มีบทบาทในการวางแผนและบัญชาการรบด้วย

นักรบไวกิ้งหญิงที่เป็นผู้นำกองทัพเช่นเดียวกับในซีรีส์ดัง Vikings นั้นมีอยู่จริง

ที่มาของภาพ, HISTORY CHANNEL

คำบรรยายภาพ,

นักรบไวกิ้งหญิงที่เป็นผู้นำกองทัพเช่นเดียวกับในซีรีส์ดัง Vikings นั้นมีอยู่จริง

หลุมฝังศพแห่งนี้มีการค้นพบครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และมีการถกเถียงกันมานานว่า ร่างของนักรบที่อยู่ภายในนั้นเป็นชายหรือหญิงกันแน่ แต่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มชี้ว่า โครงกระดูกดังกล่าวไม่มีโครโมโซมวาย (Y) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นเพศชาย

คณะนักโบราณคดีผู้ขุดค้นหลุมฝังศพดังกล่าวบอกว่า พบอาวุธและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับนักรบมืออาชีพอย่างครบถ้วนในหลุมฝังศพของนักรบหญิงไวกิ้งผู้นี้ ทั้งดาบ ขวาน หอก โล่ ลูกธนู และซากม้าที่เป็นพาหนะ นอกจากนี้ยังพบกระดานสำหรับเล่นเกมชนิดหนึ่งวางอยู่บนตักของเธอด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเธอคือผู้วางแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพไวกิ้ง

5. เมืองที่สาบสูญของอเล็กซานเดอร์มหาราช

การใช้โดรนสำรวจหาซากเรือจม หรือร่องรอยของโบราณสถานขนาดใหญ่เช่นเมืองทั้งเมืองที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน กำลังมาแรงในปีนี้ โดยล่าสุดมีการค้นพบเมือง Qalatga Darband ในพื้นที่เขตเคอร์ดิสถานของอิรัก ซึ่งคาดว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล และมีชื่อเสียงในเรื่องการค้าไวน์มาก่อน แต่ชื่อของเมืองดังกล่าวก็ได้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในอีกไม่กี่ร้อยปีต่อมา

a historical site at the ancient city of Qalatga Darband, which is believed to have been founded in 331 BC by Alexander the Great

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เมือง Qalatga Darband ในเขตเคอร์ดิสถานของอิรัก คาดว่าก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล

นักโบราณคดีของอิรักและสหราชอาณาจักร ร่วมกันใช้โดรนออกสำรวจบริเวณที่พบในภาพถ่ายทางอากาศของซีไอเอเมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งปรากฎร่องรอยขอบเขตของเมืองโบราณอยู่ และได้ติดตามจนค้นพบซากเมืองดังกล่าว ซึ่งผลการขุดค้นล่าสุดพบรูปปั้นศิลปะเกรโก-โรมัน รวมทั้งเหรียญเงินของกรีกจำนวนหนึ่ง

6. ลำรางส่งน้ำของโรมันที่เก่าแก่ที่สุด

เมื่อช่วงปลายปี 2016 บรรดาคนงานก่อสร้างซึ่งกำลังขุดอุโมงค์ เพื่อวางเส้นทางรถไฟใต้ดินสายใหม่ในกรุงโรมของอิตาลี ได้พบซากหักพังของลำรางส่งน้ำโบราณ (Aqueduct) ในยุคโรมัน ซึ่งในปีต่อมานักโบราณคดีได้พิสูจน์ทราบว่า ลำรางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของลำรางส่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโรมันโบราณ

ลำรางส่งน้ำที่พบดังกล่าวมีความยาว 32 เมตร และมีแนวขอบกั้นด้านข้างสูง 2 เมตร อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 18 เมตร โดยคาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,300 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของ Aqua Appia ลำรางส่งน้ำในยุคโรมันที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่นักโบราณคดีในปัจจุบันทราบ โดยน่าจะสร้างขึ้นราว 312 ปีก่อนคริสตกาล

นักโบราณคดีจะได้ศึกษาซากสัตว์และเศษอาหารที่พบในลำรางส่งน้ำนี้ต่อไป เพื่อหาความรู้เรื่องสัตว์เลี้ยง อาหารการกิน โรคภัย และความเป็นอยู่ของชาวโรมันโบราณให้ได้มากยิ่งขึ้น

7. ฟรุตเค้กร้อยปีที่ทวีปแอนตาร์กติกา

องค์กรอนุรักษ์มรดกแอนตาร์กติกทรัสต์ (Antarctic Heritage Trust) ค้นพบขนมเค้กผลไม้แห้งหรือ "ฟรุตเค้ก" สไตล์อังกฤษชิ้นหนึ่งที่มีอายุถึง 106 ปี ที่กระท่อมเก่าแก่หลังหนึ่งบนแหลมเคปอาแดร์ ในดินแดนอันหนาวเหน็บใกล้ขั้วโลกใต้ โดยเชื่อว่าฟรุตเค้กก้อนนี้เป็นอาหารที่เหลืออยู่ของกัปตัน โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ นักสำรวจชาวอังกฤษที่รู้จักกันในฉายาว่า "สกอตต์แห่งดินแดนแอนตาร์กติก" นั่นเอง

แม้ว่ากระป๋องบรรจุฟรุตเค้กดังกล่าวจะมีสนิมเขรอะ แต่ผู้ค้นพบระบุว่าขนมยังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม และกลิ่นก็บ่งบอกว่า "รับประทานได้"

สภาพอากาศอันเยือกแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาได้ช่วยรักษาฟรุตเค้กนี้ ซึ่งนักวิจัยระบุว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม

ที่มาของภาพ, ANTARCTIC HERITAGE TRUST

คำบรรยายภาพ,

สภาพอากาศอันเยือกแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาได้ช่วยรักษาฟรุตเค้กนี้ ซึ่งนักวิจัยระบุว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม

กระท่อมเก่าแก่ที่ค้นพบฟรุตเค้กในครั้งนี้ สร้างขึ้นโดยคณะนักสำรวจชาวนอร์เวย์เมื่อปี 1899 และเคยถูกใช้โดยกัปตันสกอตต์ในปี 1911 ระหว่างดำเนินโครงการสำรวจแทร์ราโนวา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เชื่อกันว่าคณะนักสำรวจกลุ่มนี้ชื่นชอบการรับประทานฟรุตเค้ก ซึ่งผลิตโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษชื่อ "ฮันท์ลีย์ แอนด์ พาล์เมอร์ส" เป็นพิเศษ โดยฟรุตเค้กเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมชาวอังกฤษยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การใช้ชีวิตและทำงานในแอนตาร์กติกา ต้องอาศัยอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณสูง ซึ่งฟรุตเค้กตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ยังไม่รวมถึงรสชาติที่เข้ากันดีหากว่าจะมีน้ำชาสักถ้วย

ภาพถ่ายกัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ (ตรงกลางท้ายโต๊ะ) และสมาชิกร่วมโครงการสำรวจแทร์ราโนวา ที่ทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี 1912

ที่มาของภาพ, PRESS ASSOCIATION

คำบรรยายภาพ,

ภาพถ่ายกัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ (ตรงกลางท้ายโต๊ะ) และสมาชิกร่วมโครงการสำรวจแทร์ราโนวา ที่ทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี 1912

นักอนุรักษ์ยังได้ขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายอย่างในกระท่อมหลังนี้กว่า 1,500 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประเภทต่างๆ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นเนื้อและปลาที่เน่าเปื่อย รวมทั้งแยมผลไม้ที่สภาพค่อนข้างดี

แม้กัปตันสกอตต์และเพื่อนร่วมคณะสำรวจชาวอังกฤษจะสามารถพิชิตขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ แต่ก็ล่าช้ากว่าคู่แข่งจากคณะสำรวจชาวนอร์เวย์ ซึ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว 33 วัน เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้น คือทีมนักสำรวจชาวอังกฤษเสียชีวิตทั้งหมดระหว่างการเดินทางกลับฐาน