เขาเรียนอะไรในหลักสูตร "ไทยศึกษา" ในสหราชอาณาจักร
- สุชีรา มาไกวร์
- ผู้สื่อข่าววิดีโอ บีบีซีไทย
"ไทยศึกษา" ในสหราชอาณาจักร
ในสหราชอาณาจักร มีสถาบันการศึกษา 2 แห่งที่เปิดสอนหลักสูตรไทยศึกษาและภาษาไทยในระดับอุดมศึกษา คือ วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือ ใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า โซแอส แห่ง มหาวิทยาลัยลอนดอน และ มหาวิทยาลัยลีดส์
โซแอส เปิดสอนวิชาไทยศึกษามาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยปัจจัยทางการเมือง เนื่องจากขณะนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษที่จะเดินทางไปประเทศไทย ให้สามารถสื่อสารกับคนไทย คนที่ทำธุรกิจ และคนที่ทำงานการทูตด้วย
ที่มาของภาพ, BBC Thai
ดร. เรเชล แฮร์ริสัน อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา ของโซแอส บอกกับบีบีซีไทยว่า ในตอนแรกคนที่มาเรียนคือคนที่ทำงานเป็นนักการทูต ตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมา เริ่มมีคนทั่วไปมาสมัครเรียนด้วย ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยตัดสินใจเรียนทั้งที่ไม่เคยไปเมืองไทย แต่พื้นฐานเป็นคนชอบเรียนภาษาและอยากเรียนภาษาจากเอเชียเป็นทุนอยู่แล้ว หลังจากศึกษาจบชั้นปริญญาเอก เธอจึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาไทยศึกษาที่โซแอส
ส่วนมหาวิทยาลัยลีดส์เริ่มเปิดสอนวิชาไทยศึกษาเมื่อปี 2547 เนื้อหาการเรียนการสอนประกอบด้วย ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง และศาสนา
ที่มาของภาพ, BBC Thai
ศูนย์ภาษาที่มหาวิทยาลัยลีดส์เปิดสอนภาษาต่างประเทศรวม 12 ภาษา
ดร. มาร์ติน เซเกอร์ รองศาสตราจารย์วิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ เล่าให้ฟังว่าตอนที่ได้รับหน้าที่สร้างวิชาไทยศึกษา เขากำลังศึกษาระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทไทยที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในเยอรมนี ก่อนหน้านี้เขาเคยบวชเป็นพระที่เมืองไทย และเคยศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา ศึกษาพระคัมภีร์ พระไตรปิฎก จึงสร้างหลักสูตรที่มีการศึกษาพุทธศาสนาในระดับลึก ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนควบคู่ ไปกับวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญา และภาษาศาสตร์ได้
ทำไมชาวต่างชาติเลือกเรียนไทยศึกษา?
ชาวต่างชาติที่เรียนไทยศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยไปเมืองไทย แล้วรู้สึกประทับใจในวัฒนธรรม ประเพณีไทย จนเกิดความสนใจอยากศึกษาอย่างจริงจัง มีบางส่วนที่เป็นลูกครึ่งที่ไม่ได้เกิดหรือเติบโตที่เมืองไทย นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทำให้มีคนเดินทางไปเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น รวมทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาที่ได้ไปเที่ยวเมืองไทยตอนช่วง "แก๊ปเยียร์" ซึ่งเป็นช่วงพักเรียนเป็นเวลา 1 ปี หลังเรียนจบมัธยมปลาย เพื่อเดินทางท่องเที่ยวหรือค้นหาตัวเองก่อนเรียนต่อ เมื่อกลับมาก็มักเปลี่ยนใจขอเปลี่ยนสาขาวิชาเรียนเป็นภาษาไทยแทน
ที่มาของภาพ, Lauren Avery
ลอเรนเริ่มคุ้นเคยกับภาษาไทยจากการทำงานที่ร้านอาหารไทยในอังกฤษ
ลอเรน เอเวอรี่ หรือ "ฟ้า" นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยลีดส์บอกว่า หลังจากเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ที่อังกฤษ ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไทยเป็นเวลา 2 ปี ตอนแรกทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และเริ่มเรียนภาษาไทยและฝึกอ่านเขียน ต่อมาไปทำงานที่มูลนิธิสำหรับเด็กพิการที่นนทบุรี ภายหลังเมื่อกลับมาอังกฤษจึงตัดสินใจเรียนไทยศึกษา เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง
ที่มาของภาพ, Lauren Avery
ฟ้าบอกว่า ประสบการณ์ที่ดีสุดคือการมีโอกาสได้ไปทำวิจัยที่เมืองไทย หลังจากเรียนไทยศึกษาแล้วทำให้มีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมและสังคมไทยมากขึ้น
ที่มาของภาพ, Lauren Avery
ที่มาของภาพ, Lauren Avery
นักศึกษาที่เรียนไทยศึกษาส่วนมากรู้สึกสนใจวัฒนธรรมไทยอยู่ก่อนแล้ว
"ในฐานะที่ไปประเทศไทยเป็นนักท่องเที่ยวหรือเพิ่งไปอยู่ก็เห็นแต่สิ่งดี ๆ แล้วก็สนุกอย่างเดียว แต่พอไปอยู่นาน ๆ หรือมาศึกษา ก็เห็นว่าประเทศไทยก็เหมือนทุกประเทศในโลก มีปัญหาสังคม มีหลายอย่าง" ฟ้ากล่าว
ด้าน เจคอบ มาร์เชวิช หรือ "เจ" นักศึกษาปริญญาโท ของโซแอส บอกว่าตอนแรกไปเที่ยวเมืองไทย 1 เดือน พอกลับมาเลยอยากเรียนภาษาจากเอเชีย รู้สึกชอบตัวอักษรไทยจึงลองหัดเขียนเป็นงานอดิเรก ต่อมาไปเรียนภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 1 ปี ก่อนกลับมาศึกษาต่อที่โซแอส
ที่มาของภาพ, Jacob Marchewicz
ที่มาของภาพ, Jacob Marchewicz
เจบอกว่าภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศภาษาแรกที่เขาสามารถใช้สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว โดยหนังสือเล่มแรกที่อ่านจบคือ เพชรพระอุมา
"ผมสนใจสังคมไทย วัฒนธรรมไทย อ่านวรรณกรรม ดูหนัง ก่อนเริ่มเรียนไทยมีความรู้เกี่ยวกับไทยน้อยมาก ตอนแรกไม่คุ้นเคยกับเรื่องมารยาท"
"จาก culture shock เป็นความรักในวัฒนธรรม"
ส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาตรีคือนักศึกษาต้องเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยในไทยและใช้ชีวิตเรียนรู้สังคมไทยด้วย
ที่มาของภาพ, Rebecca Iszatt
รีเบกกา อิสแซตต์ หรือ "เบญจมาศ" นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยลีดส์ บอกว่าเลือกเรียนไทยศึกษาเพราะสนใจภาษาที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ไพเราะ ตัวอักษรสวย ตอนเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ได้ไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนแรกเธอรู้สึกตกใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็น culture shock เลยทีเดียว แต่เมื่อได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมไทย ก็รู้สึกรักในวิถีชีวิตแบบไทย ๆ โดยเฉพาะการทำอะไรด้วยกันเป็นกลุ่ม การแบ่งอาหารกัน ซึ่งไม่ค่อยได้เจอในสังคมอังกฤษ เพราะเป็นสังคมแบบโลกตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกบุคคลนิยมมาก
ที่มาของภาพ, Rebecca Iszatt
ที่มาของภาพ, Rebecca Iszatt
"ตอนมาถึงเชียงใหม่ รู้สึกกลัว ไม่ค่อยมั่นใจ แต่ผ่านไปได้ 3 เดือนรู้สึกรักชีวิตที่เชียงใหม่จนไม่อยากกลับบ้านที่อังกฤษเลย" เบญจมาศเล่าถึงชีวิตที่เชียงใหม่อย่างมีความสุข
ที่มาของภาพ, Rebecca Iszatt
รีเบกกาได้อ่านหนังสือเรื่อง "คำพิพากษา" ตอนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ตอนเรียนปริญญาโทเบญจมาศมีโอกาสได้ทำวิจัยเรื่องนักเขียนไทยร่วมสมัยกับการใช้โซเชียลมีเดีย และได้สัมภาษณ์นักเขียนชื่อดังของไทยหลายคน ซึ่งเป็นการขยายความเข้าใจเรื่องความเป็นไทยในโลกปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
มองสังคมไทยผ่านภาพยนตร์ไทยและศาสนาพุทธ
ปัจจุบัน โซแอสเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ศึกษาด้วย ดร. แฮร์ริสันบอกว่า ภาพยนตร์ไทยเป็นแหล่งที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง "เทพธิดาโรงแรม" หรือ "จัน ดารา" เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นเรื่องความรู้ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องเพศในยุคสมัยนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ดร. แฮร์ริสันบอกว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสอนภาษาไทย คือเขียนยาก สะกดยาก ถ้าไม่ใช้ทุกวัน เขียนทุกวัน จะลืมว่าสะกดยังไง แม้แต่ตัวเธอเองบางครั้งต้องสะกดคำยาก ๆ ก็ต้องใช้เวลาคิดทบทวน
ที่มาของภาพ, BBC Thai
ภาพยนตร์ที่นำมาสอนในวิชาภาพยนตร์ศึกษาเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ส่วนอุปสรรคในการสอนภาพยนตร์ไทยหรือวัฒนธรรมไทย ดร. แฮร์ริสันบอกว่าต้องระวังเรื่องการวิจารณ์ ตอนที่มีนักศึกษาไทยในห้องเรียน เพราะเธอกังวลว่าอาจทำให้นักศึกษาขุ่นเคืองใจหากมีการวิเคราะห์ในแง่ที่เป็นลบ เนื่องจากตระหนักดีว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ในสังคมไทยไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งก็เป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่เป็นอาจารย์
ที่มาของภาพ, BBC Thai
ดร. เรเชล แฮร์ริสัน เคยทำงานที่นสพ.มติชน และประชาชาติธุรกิจ ตอนอยู่เมืองไทย
"เราต้องระมัดระวังว่าเราจะใช้ value อะไร เราจะใช้มาตรฐานอะไร เหมือนเราวิจารณ์ญาติของตัวเองได้ แต่เราวิจารณ์ญาติของคนอื่นเขาอาจจะถือก็ได้"
ส่วนที่มหาวิทยาลัยลีดส์ มีการสอนเนื้อหาวิชาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ดร. เซเกอร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า มหาวิทยาลัยลีดส์เน้นเรื่องทักษะทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโดยอย่างยิ่งพุทธศาสนา ซึ่งเนื้อหาวิชาเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจภาษาไทยระดับสูงได้ดีมากขึ้น
ที่มาของภาพ, BBC Thai
ดร. มาร์ติน เซเกอร์ ตัดสินใจบวชเป็นพระที่เมืองไทยเพราะต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
ดร. เซเกอร์ บอกว่าเขาสอนนักศึกษาโดยยึดหลัก "ฉันทะ" เมื่อนักศึกษามีความสุขก็จะทำงานแบบค้นคว้า มีการตั้งคำถาม ตั้งกระทู้ เขามองว่าการศึกษาวัฒนธรรมของผู้อื่นเป็นวิธีศึกษาวัฒนธรรมตัวเอง และสร้างความรู้ที่เป็นความรู้สากลที่จะไปประยุกต์ใช้ได้ในบริบทต่าง ๆ ทำให้นักศึกษามีการพัฒนาตัวเองได้ในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่ด้านภาษาอย่างเดียว
ที่มาของภาพ, BBC Thai
"เมื่อเด็กมีความสุข อาจารย์ก็มีความสุข เราไม่ใช่เป็นผู้ให้ความรู้ในห้องสอน เราเป็นผู้ช่วยสร้างความรู้ด้วยกัน การสร้างความรู้นั้นต้องเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกวันก็จะมีสิ่งใหม่ ๆ ถ้าสามารถตั้งกระทู้ใหม่ ๆ ได้"
ไทยศึกษาในอนาคต
แม้ปัจจุบัน จำนวนผู้เรียนไทยศึกษายังอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีนักศึกษาเลือกเรียนไทยศึกษาน้อยลงในอนาคต เนื่องจากค่าเล่าเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้นักศึกษาหันมาเลือกเรียนสาขาวิชาที่สามารถทำเงินได้เมื่อเรียนจบ มากกว่าเลือกเรียนเพราะใจรัก
"ค่าเรียนแต่ก่อนปีละ 3,000 ปอนด์ ตอนนี้ปีนึง 9,000 ปอนด์ ทำให้นักศึกษาไม่ค่อยอยากเข้ามาเรียนวิชาที่เขากลัวว่าเรียนจบแล้วก็จะไม่ได้งาน การเรียนภาษาต่างประเทศโดยรวมก็น้อยลง คนคิดเยอะว่าลงทุนเยอะแล้วไม่ได้อะไร ได้สนุกอย่างเดียว" ดร. แฮร์ริสันกล่าวทิ้งท้าย