เอเชียนเกมส์: ย้อนดูความสำเร็จในอดีตของนักกีฬาไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ปีเตอร์ วิธ และนักฟุตบอลทีมชาติไทย หลังจบเกมการแข่งขันนัดชิงที่ 3 ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ไทย
ทัพนักกีฬาไทยกว่า 800 ชีวิตกำลังร่วมแข่งขันเพื่อหวังคว้าเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซียครั้งนี้
นักกีฬาไทยเข้าร่วมเอเชียนเกมส์ มาแล้วทั้งหมด 18 ครั้ง และคว้าเหรียญรางวัลมาได้รวมกว่า 500 เหรียญ
บีบีซีไทยย้อนดูช่วงเวลาน่าประทับใจของนักกีฬาทีมชาติไทยที่ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน
เหรียญทองแรกของไทย
ไทยเข้าร่วมเอเชียนเกมส์มาตั้งแรกเริ่มในปี 1951 ที่อินเดีย แต่ต้องรอนานกว่า 10 ปี กว่าจะได้เหรียญทองมาครอบครอง
ในเอเชียนเกมส์ปี 1962 การแข่งขันจักรยานที่กรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ถาวร จิรพันธ์ ทำเวลาได้ดีที่สุดในประเภท road race ระยะทาง 159 กม. คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์แรกของประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้นทีมนักกีฬาจักรยานยังได้เหรียญเงินมาครองอีก 2 เหรียญ
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
เหรียญทองแรกและเหรียญสุดท้ายของนักเพาะกายไทย
กีฬาเพาะกาย เป็นหนึ่งประเภทกีฬาที่หายไปจากเอเชียนเกมส์ในปัจจุบัน แต่ย้อนไปเมื่อปี 2006 มีนักกีฬากว่า 94 คนจาก 25 ประเทศร่วมแข่งขันในเอเชียนเกมส์ที่กรุงโดฮา ของการ์ตา
ในครั้งนั้น สิทธิ เจริญฤทธิ์ ตัวแทนประเทศไทย ได้เหรียญทองในรุ่น 80 กิโลกรัมได้เป็นครั้งแรก แต่มันดูเหมือนจะเป็นเหรียญทองสุดท้ายของทัพนักกีฬาไทยในกีฬานี้ด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ซาแอด ฟาอีซ นักกีฬาเพาะกายของอิรัก ถูกพบว่าครอบครองยาอนาบอลิก สเตียรอยด์จำนวน 134 หลอดที่สนามบินโดฮา ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันในรุ่น 75 กิโลกรัม โดยได้อันดับ 7 ก่อนจะถูกตัดสิทธิ์ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงของมาเลเซียในเรื่องของมาตรฐานการตัดสิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้คณะกรรมการตัดสินใจถอดกีฬาประเภทนี้ออกจากเอเชียนเกมส์ในครั้งถัดไป
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
สุบรรณ พันโนน หลังชนะนักมวยจีนในรอบชิงชนะเลิศในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13
ชัยชนะเหนือคู่ปรับตลอดกาล
ทีมเซปักตะกร้อของไทยถูกยกให้เป็นอันดับ 1 และทำผลงานได้ยอดเยี่ยมมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1990 แต่นั่นไม่ได้แปลว่าหนทางสู่เหรียญทองในแต่ละครั้งจะเรียบง่ายเสมอไป
ทีมไทยมักเข้าชิงชนะเลิศกับ มาเลเซีย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งตลอดกาลในกีฬาประเภทนี้ และในเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กรุงกว่างโจว ประเทศจีน ในระหว่างการแข่งขันของทั้งทีมเอและบี มาเลเซียสามารถทำคะแนนสูสีจนเสมอกันในช่วงท้ายเซ็ตถึง 2 ครั้ง ก่อนที่ไทยจะสามารถเอาชนะไปได้ในที่สุด
ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมาไทยเป็นเจ้าเหรียญทองในกีฬาเซปักปตะกร้อในประเภททีมชุดมาโดยตลอด รวมถึงเหรียญทองล่าสุดที่อินโดนีเซียในครั้งนี้ โดยมีนักกีฬา อาทิ สืบศักดิ์ ผันสืบ, สุริยัน เป๊ะชาญ และพรชัย เค้าแก้ว เป็นกำลังสำคัญ
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ความทรงจำจากปี 1998
เอเชียนเกมส์ 1998 ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นครั้งที่ไทยทำผลงานได้ดีที่สุดแล้ว ยังมีเกมการแข่งขันหลายชนิดที่อยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาชาวไทย พร้อมกับสัญลักษณ์ "ช้างไชโย" และการแสดงของทาทา ยัง นักร้องชื่อดังในพิธีเปิด
ในครั้งนั้นไทยคว้าไปได้ทั้งหมด 24 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน และ 40 เหรียญทองแดง รวม 90 เหรียญ แต่มีอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่หลายคนยังจำได้ดีแม้ไทยจะไม่ได้เหรียญรางวัลก็ตาม
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 1998 นักฟุตบอลชายทีมชาติไทยเดินเข้าสู่สนาม ท่ามกลางเสียงเชียร์ของแฟนบอลราว 6-7 หมื่นคน เต็มความจุของสนามราชมังคลากีฬาสถาน
เกมยืดเยื้อมาถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ และในขณะที่เกมยังเสมออยู่ที่ 1-1 ประตู และไทยมีผู้เล่นน้อยกว่าถึง 2 คน ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกุล ยิงประตูฟรีคิกจากระยะไกลให้ไทยชนะด้วยกฎประตูโกลเด้นโกล เข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ
"เราดีใจกันอย่างสุดเหวี่ยง มันเป็นเกมที่ผมจะไม่มีวันลืมชั่วชีวิต" ปีเตอร์ วิธ หัวหน้าผู้ฝึกสอนกล่าวถึงความรู้สึกในวันนั้นผ่านบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์โกล
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
โชคทวี พรหมรัตน์ ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13
ผลงานในฐานะประเทศเจ้าภาพ
นอกจากทัพนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลได้ในแต่ละปี ไทยเคยได้รับคำชื่นชมอย่างมากในฐานะประเทศเจ้าภาพเมื่อปี 1970 และ 1978
เดิมทีเกาหลีใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 ในปี 1970 แต่สุดท้ายได้ประกาศถอนตัวเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความปลอดภัย
เมื่อเหลือเวลาคัดเลือกประเทศเจ้าภาพใหม่และเตรียมตัวอีกไม่มาก ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพครั้งก่อนหน้านั้น จึงเสนอตัวเข้าเป็นเจ้าภาพและทำให้เอเชียนเกมส์ดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด
เหตุการณ์คล้ายกันยังเกิดขึ้นกับเอเชียนเกมส์ 1978 ครั้งที่ 8 หลังจากปากีสถานแจ้งว่าไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ เนื่องจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศที่ประชุมของสหพันธ์เอเชียนเกมส์จึงมีมติขอให้ไทยเป็นเข้าภาพอีกครั้ง
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ไทยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์มากที่สุด รวมทั้งหมด 4 ครั้ง
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 1998
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ช้างไชโย มาสคอตสัญลักษณ์ของเอเชียนเกมส์ 1998 ภายใต้คำขวัญ "มิตรภาพไร้พรมแดน"
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ส่วนหนึ่งของการแสดงในพิฑีเปิดเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้น