อาชีพ : ทำไมเราถึงเจอหัวหน้าแย่ ๆ เต็มไปหมด?

ที่มาของภาพ, Getty Images
คุณจะจ้างนักบัญชีที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมเรื่องการทำบัญชีไหม? แล้วหมอที่ไม่จบโรงเรียนแพทย์ล่ะ? นี่คือคำถามของ อลิสัน กรีน นักเขียนและผู้ให้กำเนิดคอลัมน์ให้คำแนะนำเรื่องในที่ทำงาน Ask a Manager
คนส่วนใหญ่มักเห็นตรงกันว่าคนที่ทำงานประเภทวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการมาในระดับหนึ่ง ทว่าหนึ่งในงานที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่ความสำเร็จอย่าง "การบริหารจัดการ" นั้น บริษัทมักโยนคนที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมเรื่องนี้ลงไปทำ
แต่ปัญหาก็คือ ทักษะความรู้ที่ต้องใช้ในการบริหารจัดการนั้น มักแตกต่างไปจากทักษะการทำงานที่บุคคลนั้นเคยทำมาอย่างสิ้นเชิง
คนเป็นหัวหน้างานจะต้องรู้วิธีการกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจน การมอบหมายงาน, การตรวจความคืบหน้าของงานโดยไม่จู้จี้จุกจิกหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไป, การจ้างคนเก่งและพัฒนาพวกเขา, การให้คำติชมการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา, การพูดคุยเรื่องน่าลำบากใจเกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ และประเด็นที่พูดยากอื่น ๆ, การเอาผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยที่ไม่ต้องเป็นตัวร้าย, การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ฯลฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images
การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้ในระยะสั้น หรือใช้เวลาเข้าอบรมเพียงหนึ่งคอร์ส ทว่าเป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ และไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของคนส่วนใหญ่
และก็ไม่ใช่ว่าบริษัทจะไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ หัวหน้างานบางคนถูกส่งเข้าคอร์สฝึกอบรมการบริหารจัดการหลักสูตร 1-2 วัน ซึ่งพวกเขาจะได้เรียนหลักการพื้นฐานต่าง ๆ แต่การฝึกอบรมลักษณะนี้เพิ่งจะทำให้พวกเขาได้เริ่มคุ้นเคยกับหน้าที่นี้เท่านั้น และไม่ควรเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของเหล่าหัวหน้ามือใหม่ แต่บ่อยครั้งก็มักจะเป็นเช่นนั้น
หัวหน้างานบางคนไม่มีโอกาสแม้จะได้รับการอบรมแบบนี้ พวกเขาถูกจับโยนให้ไปทำหน้าที่นี้โดยที่ได้รับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือเพียงน้อยนิดจากผู้บริหารเบื้องบน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โลกแห่งการทำงานจะเต็มไปด้วยหัวหน้าแย่ ๆ แบบนี้ :
- หัวหน้าที่สั่งงานโดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการอะไร และหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้องต้องอึดอัดใจด้วยการสั่งให้แก้งานซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ไม่บอกเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรก
- เจ้านายที่ไม่ยอมแก้ปัญหา และปล่อยให้ปัญหาร้ายแรงหมักหมมอยู่ในทีมนานแรมเดือน แรมปี เพราะพวกเขาอยากหลีกเลี่ยงการจับเข่าพูดคุยเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ
- หัวหน้าที่ปฏิบัติกับลูกน้องราวกับเด็กดื้อ
- หัวหน้าที่อ่อนแอ, หยาบคาย, โลเล, กดขี่ และหัวหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพแบบอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่มาของภาพ, Alison Green
อลิสัน กรีน บอกว่า บริษัทมักโยนคนที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมเรื่อง "การบริหารจัดการ" ลงไปทำหน้าที่หัวหน้า
หัวหน้างานที่มีคุณภาพส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จของบริษัท รวมทั้งความสามารถของบริษัทในการดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้ ตลอดจนผลักดันให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ
หัวหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพคือแรงผลักทำให้พนักงานดี ๆ ต้องลาออก และเป็นตัวถ่วงความสำเร็จของทีม แล้วเหตุใดองค์กรจึงไม่หันมาให้ความสำคัญกับการฝึกฝนหัวหน้างานมือใหม่ให้มากขึ้นล่ะ?
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนายจ้างไม่เห็นความสำคัญของ "การบริหารจัดการ" ว่าเป็นทักษะงานอย่างหนึ่ง พวกเขาเห็นว่าใครทำงานเก่งก็มักทึกทักเอาว่าคนเหล่านี้จะสามารถบริหารจัดการคนที่ทำงานแบบเดียวกันได้ดีด้วยเช่นกัน
นายจ้างไม่เห็นคุณค่าของทักษะที่จะต้องใช้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นหัวหน้า ส่วนหนึ่งมาจาก "ธรรมเนียมการทำงานเก่า ๆ" ที่คนเป็นหัวหน้างานมักไม่ได้รับการฝึกอบรมมากนัก และจะต้องหาวิธีการด้วยตัวเอง มันง่ายที่จะคิดว่านี่คือสิ่งที่หัวหน้ารุ่นก่อน ๆ ทำกันมา และคนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน
อีกคำอธิบายหนึ่งก็คือ "เวลาและเงิน" เพราะการฝึกคนให้เรียนรู้ทักษะใหม่ที่ซับซ้อนจะต้องใช้ทรัพยากรเงินและเวลา การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้ในระยะสั้น หรือใช้เวลาเข้าอบรมเพียงหนึ่งคอร์ส ทว่าเป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และต้องคอยได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างานที่มีประสบการณ์มาก ที่สามารถเป็นผู้คอยชี้แนะและให้คำปรึกษาเวลาที่มีปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย
นายจ้างอาจพิจารณาจับคู่หัวหน้างานใหม่กับหัวหน้างานที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่การทำเช่นนี้หมายความว่า นายจ้างจะต้องเล็งเห็นตั้งแต่ต้นว่า การบริหารจัดการคือทักษะงานที่สำคัญ หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็แน่นอนว่าองค์กรจะเต็มไปด้วยหัวหน้างานแย่ ๆ ต่อไป