พลาสติก : เปลือกล็อบสเตอร์ หนทางแก้ปัญหาพลาสติกล้นโลก?

พลาสติก : เปลือกล็อบสเตอร์ หนทางแก้ปัญหาพลาสติกล้นโลก?

ในขณะที่เรากำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก และได้ยินข่าวสลดของวาฬและสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ต้องตายลงเพราะกินพลาสติกเข้าไปอยู่เนือง ๆ ล่าสุด บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ได้คิดค้นการแก้ปัญหานี้ ด้วยการใช้เปลือกของสัตว์น้ำเปลือกแข็ง ผลิตถุงพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

บริษัท Shellworks ใช้เปลือกของสัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ มาทำเป็นพลาสติกชีวภาพ เพราะในเปลือกล็อบสเตอร์มีไบโอพอลิเมอร์ที่เรียกว่า "ไคติน"

สำหรับวิธีการผลิตนั้น ในขั้นแรกจะนำเปลือกล็อบสเตอร์ใส่เครื่องปั่นให้เป็นผงเพื่อสกัดเอาไคติน จากนั้นนำ "ผงไคโตซาน"ที่ได้มาผสมกับน้ำส้มสายชู จนเกิดสารละลายพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสารละลายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์สามมิติ เช่น ถุงพลาสติก ได้

อามีร์ อัฟชาร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Shellworks บอกว่า พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถต้านทานเชื้อราและแบคทีเรียได้ จึงเป็นวัสดุที่น่าสนใจมากสำหรับนำไปใช้ใส่อาหาร

แต่คุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยที่ไม่ก่อมลพิษได้เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว "คุณแค่ตัดมันเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโยนลงกระถางต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย" นายอัฟชาร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้บรรดานักวิจัยจะหวังว่าในอนาคตจะมีการใช้พลาสติกชีวภาพผลิตช้อนซ้อมแบบใช้แล้วทิ้งแพร่หลายขึ้น แต่บางคนบอกว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นถุงพลาสติกจากล็อบสเตอร์ในเร็ว ๆ นี้ เพราะกระบวนการผลิตไม่ได้มีราคาถูกเท่ากับพลาสติกที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บ่งชี้ว่า ในแต่ละปีชาวโลกใช้ถุงพลาสติกราว 5 แสนล้านใบ และพลาสติกที่รั่วไหลสู่ทะเลอย่างน้อย 8 ล้านตัน กำลังคุกคามสัตว์ทะเล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภายในปี 2050 มหาสมุทรจะมีพลาสติกมากกว่าประชากรปลาทั้งหมด