มารี โบนาปาร์ต เจ้าหญิงฝรั่งเศสผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องเพศของสตรี
- อนาเลีย ลอเรนเต
- บีบีซีนิวส์ มุนโด

ที่มาของภาพ, Getty Images
มารี โบนาปาร์ต เป็นราชนิกุลผู้ปฏิวัติการศึกษาเรื่องเพศของผู้หญิง
สำหรับใครหลายคนเธอคือผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องเพศของสตรี แต่สำหรับบางคนเธอเป็นเพียงสตรีสูงศักดิ์ผู้มีสายสัมพันธ์กับบุคคลทรงอิทธิพลมากมาย
ความจริงก็คือ เจ้าหญิงมารี โบนาปาร์ต ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1882-1962 เป็นเหลนของอดีตจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และยังมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (ป้า) ของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร
- 5 เรื่องเกี่ยวกับ "จุดซ่อนเร้น" ที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
- ฝรั่งเศสเผยเอกสารลับชี้เหตุประหาร "มาตา ฮารี" เมื่อ 100 ปีก่อน
- เผย "ราชินีพรหมจรรย์" คือนักแปลนิรนามผู้เขียนเอกสารชิ้นประวัติศาสตร์
- นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติด้วย "เด็กหลอดแก้ว"
- รู้จักกับ มิเลวา ไอน์สไตน์ ภรรยาของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ความสนใจหลักของเจ้าหญิงผู้นี้คือการศึกษาเรื่องการถึงจุดสุดยอดทางเพศของผู้หญิง (female orgasm) และเรื่องจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ทางจิตวิทยา ซึ่งนำพาให้เธอได้กลายเป็นลูกศิษย์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เป็นบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และครั้งหนึ่งเธอได้เคยช่วยชีวิตเขาเอาไว้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มารี โบนาปาร์ต คือ "หญิงผู้มีความคิดอิสระ"
ในหนังสืออัตชีวประวัติของมารี โบนาปาร์ตหลายเล่ม บรรยายถึงเธอในฐานะสตรีผู้มีความโดดเด่นทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ และในหมู่ราชวงศ์ชนชั้นสูง รวมทั้งในฐานะบุคคลผู้เฝ้าค้นหาคำตอบเรื่องความสุขสมทางเพศของผู้หญิง
เจ้าหญิง
มารี โบนาปาร์ต ถือกำเนิดในกรุงปารีส ในตระกูลที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียง
เธอเป็นบุตรสาวของ มารี-เฟลิกซ์ (สกุลเดิม บล็องค์) และเจ้าชายโรลังด์ นโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศส
ฟรองซัวส์ บล็องค์ ตาของเธอเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และผู้ก่อตั้งคาสิโนมอนติคาร์โล (Monte Carlo Casino) อันโด่งดังในโมนาโก
ที่มาของภาพ, Getty Images
มารี มีวัยเด็กที่โดดเดี่ยว และโตมาเป็นวัยรุ่นหัวขบถ
ทว่าชีวิตของเธอต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการเกือบเอาชีวิตไม่รอดตอนคลอดออกมา และการที่แม่ผู้ให้กำเนิดต้องเสียชีวิตลง 1 เดือนหลังจากนั้น
ชีวิตวัยเด็กของเธอเต็มไปด้วยปัญหาและความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย
การไม่มีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกัน ทำให้มารีใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพ่อผู้เป็นนักมานุษยวิทยาและนักภูมิศาสตร์ รวมทั้งย่าผู้ที่เธอรู้สึกยำเกรง
มารีเป็นคนช่างสงสัยใคร่รู้ตั้งแต่เด็ก ทั้งในเรื่องวิทยาศาสตร์ วรรณคดี การเขียน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของเธอ...
วันหนึ่ง พี่เลี้ยงเข้าไปพบมารีกำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
"มันเป็นบาป! มันเป็นเรื่องชั่วร้าย! คุณจะต้องตายถ้าคุณทำแบบนี้!" พี่เลี้ยงคนดังกล่าวบอกมารี ซึ่งเธอได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ในไดอารี่เมื่อปี 1952
เนลลี ธอมป์สัน เขียนในบทความเรื่อง The Theory of Female Sexuality of Marie Bonaparte: Fantasy and Biology เอาไว้ว่า "โบนาปาร์ต ระบุว่าเธอเลิกสำเร็จความใคร่ด้วยการสัมผัสที่ปุ่มกระสัน หรือ คลิตอริส (clitoris) ตอนอายุ 8-9 ปี เพราะกลัวคำที่พี่เลี้ยงขู่เอาไว้ว่าความตายคือสิ่งที่ต้องแลกกับความสุขสมทางเพศ"
ตั้งแต่เด็ก มารีมีความคิดแบบคนหัวขบถ และไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรเป็นคนหัวอ่อนและยอมจำนน
ในช่วงวัยรุ่น มารีเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน แต่จู่ ๆ ย่าและพ่อก็สั่งห้ามเธอเข้าสอบวัดความรู้ในวิชาเหล่านี้
"เธอ (ย่า) และโรลังด์ อ้างว่าบรรดาศัตรูของตระกูลโบนาปาร์ต ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมการปกครองระบอบสาธารณรัฐอาจเข้าก่อกวนการสอบเพื่อสร้างความอับอายให้แก่วงศ์ตระกูลของพวกเขา" เนลลี ธอมป์สัน อ้างอิงจากไดอารี่ของมารี
ที่มาของภาพ, Getty Images
เหตุการณ์นี้ทำให้มารีต้องสบถออกมาว่า "ชื่อเสียง ชนชั้น และความร่ำรวยที่เฮงซวยของฉัน...โดยเฉพาะเพศหญิงของฉัน! เพราะถ้าฉันเป็นผู้ชาย พวกเขาคงไม่ห้ามฉันแบบนี้!"
ก่อนอายุจะครบ 20 ปี มารี โบนาปาร์ต ซึ่งอยู่ในวัยที่ความรู้สึกทางเพศกำลังพุ่งพล่าน ได้ลักลอบมีสัมพันธ์สวาทกับชายที่แต่งงานแล้วคนหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยของพ่อเธอ
ทว่ามันต้องจบลงด้วยความอื้อฉาว และการแบล็คเมล์ ที่สร้างความอับอายให้แก่เธอ
พ่อของมารีจึงแก้ปัญหาด้วยการแนะนำให้เธอรู้จักกับผู้ชายที่เขาอยากได้มาเป็นลูกเขย นั่นคือ เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1869-1957 และแก่กว่ามารี 13 ปี
มารียอมตกลงและทั้งคู่ก็แต่งงานกันในวันที่ 12 ธ.ค.ปี 1907 ในกรุงเอเธนส์ จากนั้นได้ให้กำเนิดทายาท 2 คน คือ เจ้าหญิงยูเชนี และเจ้าชายปีเตอร์
แม้ทั้งสองจะแต่งงานกันนาน 50 ปี แต่มันก็ไม่ใช่ชีวิตคู่ที่มีความสุขเท่าใดนัก มารีได้รับรู้อย่างรวดเร็วถึงความผูกพันทางอารมณ์ที่แท้จริงที่สามีของเธอมีให้กับเจ้าชายวัลเดอมาร์แห่งเดนมาร์ก ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของเขา
นั่นจึงทำให้มารี ซึ่งตอนนั้นตัดสินใจมีชู้รักหลายคน และกลัวว่าตัวเองจะตายด้านทางความรู้สึก ได้ค้นพบหนทางปลอบประโลมจิตใจจากชีวิตที่มีปัญหารุมเร้าผ่านทางการศึกษา
สำรวจเรื่องทางเพศของผู้หญิง
ความกระหายใคร่รู้ที่จะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติทางเพศและความสุขสมของผู้หญิงผลักดันให้มารีลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในปี 1924 เธอได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Notes on the anatomical causes of frigidity in women หรือ "ข้อสังเกตสาเหตุทางกายภาพของภาวะกามตายด้านในผู้หญิง" โดยใช้นามแฝงว่า เอ.เจ นาร์ยานี
ที่มาของภาพ, Getty Images
แม้มารีและสามีจะแต่งงานกันนาน 50 ปี แต่ก็ไม่ได้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขเท่าใดนัก
ศาสตราจารย์คิม วอลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และระบบต่อมไร้ท่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยเอมโมรี ในสหรัฐฯ กล่าวว่า "เธอ (มารี) คับข้องใจที่ตัวเองไม่เคยถึงจุดสุดยอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่"
"เธอไม่ยอมรับกับความเชื่อที่ว่าผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดทางเพศได้จากการกระตุ้นปุ่มคลิตอริสโดยตรงเพียงอย่างเดียว" ศาสตราจารย์วอลเลน กล่าวกับบีบีซี
มารีคิดว่าหากผู้หญิงไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้ตอนที่ถูกสอดใส่ นี่เผยให้เห็นถึงปัญหาทางกายภาพ
ดังนั้นเธอจึงสร้างทฤษฎีที่ว่า ยิ่งปุ่มคลิตอริสมีตำแหน่งอยู่ใกล้กับช่องคลอดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่ผู้หญิงคนนั้นจะถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่
เพื่อยืนยันสมมุติฐานของเธอ มารีได้เก็บข้อมูลการวัดขนาดดังกล่าวของผู้หญิงกว่า 240 คน ในกรุงปารีส เมื่อปี 1920
ดร.เอลิซาเบธ ลอยด์ ผู้ศึกษางานวิจัยของมารี ร่วมกับศาสตราจารย์วอลเลน กล่าวว่า "โบนาปาร์ตมีสมมุติฐานที่น่าสนใจ เธอได้บุกเบิกทฤษฎีที่ว่าผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้พวกเธอมีการตอบสนองที่แตกต่างกันขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่"
แต่ทฤษฎีของเธอ "ได้มุ่งเน้นเรื่องทางกายภาพของผู้หญิง โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น วุฒิภาวะทางด้านจิตใจ หรือการที่ผู้หญิงมีความพึงพอใจในชีวิต เป็นต้น..." ดร.ลอยด์ ระบุ
ที่มาของภาพ, Getty Images
มารี เริ่มต้นจากการเป็นคนไข้ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ก่อนจะกลายเป็นลูกศิษย์ของเขาในที่สุด
นี่ทำให้มารีมีความเชื่อว่า หากผู้หญิงเข้ารับการผ่าตัดเพื่อย้ายปุ่มคลิตอริสไปอยู่ใกล้กับช่องคลอดมากขึ้น ก็จะทำให้พวกเธอสามารถบรรลุจุดสุดยอดในการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ได้
แต่ท้ายที่สุดเธอก็พบว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่คาด
"การผ่าตัดกลายเป็นหายนะ ผู้หญิงบางคนสูญเสียความรู้สึกไปทั้งหมด แต่มารี โบนาปาร์ต เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการค้นพบของตัวเอง และเข้ารับการผ่าตัดด้วย แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลว" ศาสตราจารย์วอลเลนกล่าว
แต่เธอไม่ย่อท้อ และเข้ารับการผ่าตัดอีกถึง 3 ครั้ง
ดร.ลอยด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลับอินดิแอนา ในสหรัฐฯ ระบุว่า "เมื่อคุณตัดระบบประสาทรอบปุ่มคลิตอริสออกไปมาก ๆ คุณจะสูญเสียความสามารถในการรับความรู้สึกไป..."
มิตรภาพอันแน่นแฟ้นกับซิกมันด์ ฟรอยด์
แต่ถึงอย่างนั้น มารี โบนาปาร์ต ก็ไม่ยอมแพ้ เธอยังคงพยายามค้นหาคำตอบเพื่อแก้ไขความคับข้องใจทางเพศของตัวเอง
ในปี 1925 เธอเดินทางไปกรุงเวียนนาเพื่อขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิเคราะห์ผู้กำลังได้รับการพูดถึงจากวงการแพทย์ในกรุงปารีส นั่นคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์
เนลลี ธอมป์สัน เขียนในบทความของเธอว่า "ฟรอยด์ทำให้เธอ (มารี) ได้พบสิ่งที่โหยหา นั่นคือ 'พ่อ' คนใหม่ที่เธอจะได้รักและรับใช้"
ที่มาของภาพ, Getty Images
ฟรอยด์ชอบมีมารีเป็นเพื่อน ส่วนเธอคือคนที่คอยโต้แย้งกับเขา
มารีกลายเป็นคนไข้ของเขา ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่มิตรภาพอย่างรวดเร็ว และเมื่อความสนใจด้านจิตวิเคราะห์เพิ่มพูนขึ้นก็ทำให้เธอกลายเป็นลูกศิษย์ของเขาในที่สุด
ศาสตราจารย์เรมี อามูโรซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสวิตเซอร์แลนด์ เล่าให้บีบีซีฟังว่า "เธอ (มารี) เป็นผู้หญิงคนแรกในฝรั่งเศสที่ศึกษาด้านจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ศึกษากับฟรอยด์"
"ฟรอยด์ชอบมีเธอเป็นเพื่อนเพราะเธอไม่ใช่ 'ผู้หญิงอันตราย' หรือ เป็นนักวิชาการ โดยตอนที่พวกเขาได้รู้จักกันนั้น ฟรอยด์มีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว ส่วนเธอก็เป็นผู้หญิงที่น่าสนใจ ฉลาด และร่ำรวย ที่คอยโต้แย้งกับเขา" ศาสตราจารย์อามูโรซ์ระบุ
มารี โบนาปาร์ต กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงจิตวิเคราะห์ของกรุงปารีส และยังรับคนไข้หลายคนในตารางการทำงานประจำวันของเธอด้วย
เธอยังช่วยชีวิตของฟรอยด์เอาไว้ในตอนที่กองทัพนาซีเยอรมนีบุกยึดออสเตรีย โดยใช้ความมั่งคั่งและอิทธิพลของเธอจัดการให้ฟรอยด์และครอบครัวของเขาหลบหนีออกจากกรุงเวียนนาไปยังกรุงลอนดอน ซึ่งเขาอาศัยอยู่จนถึงวาระสุดท้ายในชีวิต
ที่มาของภาพ, Getty Images
มารี โบนาปาร์ต ช่วยฟรอยด์และครอบครัวของเขาหลบหนีนาซีไปอยู่ในอังกฤษ
"ในวัย 82 ปี ผมได้ละทิ้งบ้านในเวียนนาจากการรุกรานของเยอรมนี แล้วมาอยู่ในอังกฤษ ซึ่งผมหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายโดยอิสระ" ฟรอยด์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในปี 1938
หญิงผู้มีความคิดอิสระ
ประสบการณ์ในสายอาชีพที่เพิ่มพูนขึ้น ทำให้มารี โบนาปาร์ต มีความคิดขัดแย้งกับทฤษฎีทางเพศของสตรีที่มีอยู่ดั้งเดิมของตัวเองในที่สุด
"มารี โบนาปาร์ต ละทิ้งแนวคิดดั้งเดิมของเธออย่างสิ้นเชิง" ศาสตราจารย์วอลเลนกล่าว
"เธอตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ในปี 1950 ที่มีชื่อว่า Female Sexuality ซึ่งเธอระบุว่าปัจจัยทางกายภาพไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างล้วนมาจากปัจจัยทางด้านจิตใจ ซึ่งตอนนั้นเธอได้ศึกษาด้านจิตวิเคราะห์มาเกือบ 25 ปีแล้ว"
ศาสตราจารย์วอลเลนระบุว่า "แม้จะเปลี่ยนแนวคิด แต่ดิฉันคิดว่างานวิจัยดั้งเดิมของเธอน่าทึ่งมาก" และมองว่ามารี โบนาปาร์ต คือสตรีผู้ปฏิวัติการศึกษาเรื่องเพศของผู้หญิง
ที่มาของภาพ, Getty Images
ในที่สุด มารีได้ตระหนักว่าตนเข้าใจผิดเรื่องเพศของผู้หญิง เพราะมันเป็นประเด็นที่ได้รับการวิเคราะห์จากมุมมองของผู้ชายเสมอมา
สำหรับ ดร.ลอยด์ นั้น มารี โบนาปาร์ต คือ "บุคคลที่น่าทึ่ง เธอเป็นหนึ่งในวีรสตรีของดิฉัน แม้ว่าจะมีชีวิตที่น่าเศร้าอยู่ด้วยก็ตาม"
เมื่อพูดถึงการศึกษาเรื่องเพศของผู้หญิง "เธอเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจล้ำหน้ากว่าผู้คนในยุคนั้น แม้ที่จริงเธอจะไม่พึงพอใจหรือมีความสุขกับร่างกายของตัวเองเลยก็ตาม"
ศาสตราจารย์อามูโรซ์ ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการทำรายการผลงานของมารี โบนาปาร์ต ในกรุงปารีส ก็คิดว่า "เธอเป็นสตรีที่น่าทึ่งผู้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลในแวดวงวรรณกรรม การเมือง และคนในราชวงศ์ เรียกได้ว่าเธอรู้จักคนมีชื่อเสียงแทบทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของของศตวรรษที่ 20"
"เธอเป็นบุคคลที่น่าสนใจสำหรับขบวนการสตรีนิยมเช่นกัน" เขากล่าว พร้อมกับชี้ว่า ในที่สุด มารี โบนาปาร์ต ก็ได้ข้อสรุปว่า "มุมมองเรื่องทางเพศของเธอได้รับอิทธิพลอย่างมากจากผู้ชาย เพราะเธอเข้าใจมาตลอดว่าการบรรลุจุดสุดยอดทางเพศนั้นมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น"
"แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีความคิดที่เป็นอิสระเปิดกว้างมาก เธอเป็นผู้หญิงที่ซับซ้อนผู้ไม่เกรงกลัวที่จะท้าทายซิกมันด์ ฟรอยด์"