โจดี้ ฟอสเตอร์กับไมเคิล เจ. ฟอกซ์ นำประท้วงทรัมป์ ก่อนเปิดฉากออสการ์
โจดี้ ฟอสเตอร์กับไมเคิล เจ. ฟอกซ์ เป็นแกนนำประท้วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีพยายามออกคำสั่งห้ามพลเมืองจากชาติมุสลิม 7 ชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ การชุมนุมประท้วงมีขึ้น เพียงสองวันก่อนหน้าการประกาศผลรางวัลออสการ์ในนครลอสแอนเจลิส
ยูไนเต็ดทาเลนต์เอเจนซี ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนคนในวงการบันเทิงรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นแม่งานจัดการชุมนุมครั้งนี้ ที่ฮอลลีวูดเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) แทนงานปาร์ตี้ก่อนออสการ์ที่เคยจัดมาตามธรรมเนียม
ที่มาของภาพ, Reuters
โจดี้ ฟอสเตอร์
ฟอสเตอร์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลออสการ์สองครั้งกล่าวว่า เธอไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหว แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสดงออก เพราะปีนี้ต่างไปมาก ในขณะที่วงการภาพยนตร์กำลังมีงานสำคัญ จะต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของมวลมนุษย์ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นหลักยึดที่ทำให้เราแข็งแกร่ง
ด้านไมเคล เจ. ฟอกซ์ ดาราเชื้อสายแคนาดา ที่ต่อมาได้รับสัญชาติอเมริกันเมื่อราว 20 ปีก่อน กล่าวต่อหน้าผู้ชุมนุมว่า เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิต มันเป็นธรรมดาที่ทำให้รู้สึกอยากเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคม เขาเห็นว่าขณะนี้โลกของเรามีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างน้อยลง คนมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นน้อยลง เกียรติภูมิและศักดิศรีของคนเราอาจถูกทำลาย ล้อเลียน และเย้ยหยัน แต่ไม่ใครสามารถพรากเอามันไปได้ เว้นแต่ว่าจะยอมแพ้เท่านั้น เขายังบอกด้วยว่าเขาเชื่อในพลังของงานศิลป์ว่าสามารถเปลี่ยนโลกได้
ที่มาของภาพ, Reuters
ไมเคิล เจ. ฟอกซ์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่าการชุมนุมครั้งนี้ มีขึ้นก่อนหน้าพิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ ทำให้คาดว่าพิธีออสการ์ในปีนี้จะเต็มไปด้วยสีสันทางการเมือง ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์เคยพูดถึงการประท้วงของบรรดาคนดังในแวดวงต่าง ๆ โดยตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง รวมทั้งได้ทวีตข้อความตอบโต้เมอรีล สตรีป ดาราฮอลลีวูดชื่อดังที่ออกมาวิจารณ์เขา ตอนที่เธอขึ้นรับรางวัลในงานลูกโลกทองคำ
ที่มาของภาพ, TWITTER
ทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์กรณีการประท้วงของบรรดาคนดังในแวดวงต่าง ๆ
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตว่า "เมอรีล สตรีป เป็นนักแสดงคนหนึ่งในฮอลลีวูดที่คนตีค่าเธอสูงเกินจริง เธอไม่รู้จักผมแต่กลับมาพูดโจมตีผม"
ก่อนหน้านี้สตรีปกล่าวว่า "เมื่อคนที่อยู่ในอำนาจใช้อำนาจและอิทธิพลของตนไปข่มเหงผู้อื่น เราทั้งหมดก็แพ้"
งานชุมนุมครั้งนี้ยังได้เปิดคลิปวิดีโอของนายอัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่านที่ภาพยนตร์ของเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์พยายามไม่ให้พลเมืองจากชาติมุสลิม 7 ชาติเข้าสหรัฐฯ
ที่มาของภาพ, AFP
นายอัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่าน
เมื่อวานนี้ บรรดาผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมได้ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่าไม่ว่าใครก็ตามได้รับรางวัลสาขานี้ พวกเขาจะไม่คำนึงถึงเรื่องพรมแดน เพราะพวกเขาเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนดีที่สุด ไม่มีเพศไหนดีที่สุด ไม่มีศาสนาไหนดีที่สุด หรือสีผิวไหนที่ดีสุด แต่พวกเขาต้องการให้รางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพระหว่างชาติต่าง ๆ และเสรีภาพของงานศิลป์