สัมพันธ์เนเธอร์แลนด์-ตุรกี ตึงเครียด หลัง รมต.ตุรกีถูกเชิญให้ออกจากเนเธอร์แลนด์

ตำรวจปราบจลาจลในเนเธอร์แลนด์ปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองรอตเตอร์ดัม หลังจากรัฐมนตรีของตุรกีถูกเชิญให้ออกจากเนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดขึ้น
ทางการเนเธอร์แลนด์ใช้ตำรวจม้าและรถฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มคนราว 1,000 คน ที่ด้านนอกสถานกงสุลตุรกี ในเมืองรอตเตอร์ดัม
นางฟัตมา เบทุล ซายัน คายา รัฐมนตรีกิจการครอบครัวของตุรกี เดินทางถึงเมืองรอตเตอร์ดัมโดยทางรถยนต์เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมของชาวตุรกีและกล่าวปราศรัยหาเสียงสนับสนุน ก่อนถึงการลงประชามติที่จะมีขึ้นในตุรกีเดือน เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตามเธอถูกทางการเนเธอร์แลนด์กันไม่ให้เข้าไปในสถานกงสุล
นายมาร์ก รัตเต นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ยืนยันว่า ตำรวจนำตัวนางคายา ไปส่งที่พรมแดนเยอรมนี ซึ่งในเวลาต่อมานางคายาได้บินกลับนครอิสตันบูลจากเมืองโคโลญจน์ ของเยอรมนี โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์บอกว่า การชุมนุมดังกล่าวของชาวตุรกีจะก่อให้เกิดความตึงเครียด ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในเนเธอร์แลนด์ในวันพุธที่ 15 มี.ค. นี้
ในเฟซบุ๊ก นายรัตเตกล่าวว่า ความพยายามในการหา "ทางออกที่มีเหตุมีผล" สำหรับความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่ "เป็นไปไม่ได้แล้ว" ขณะเดียวกันก็บอกปัดเสียงวิจารณ์ที่ชี้ว่ารัฐบาล "ปัดรับผิดชอบ" กรณีนางคายา
ก่อนหน้านี้เนเธอร์แลนด์ได้ห้ามไม่ให้นายเมวุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เดินทางเข้าประเทศโดยเครื่องบิน โดยตอนนี้เขาได้เดินทางไปยังเมืองแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสแทน เพื่อกล่าวปราศรัยกับคนตุรกีที่นั่น
ขณะนี้ บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี กำลังออกเดินสายรณรงค์หาเสียงสนับสนุนจากคนตุรกีที่พำนักอยู่นอกประเทศ ก่อนถึงการลงประชามติ
ด้านนางคายาทวีตข้อความว่า "โลกจะต้องยืนหยัดในวิถีประชาธิปไตย และต่อต้านวิธีการแบบฟาสซิสต์ การปฏิบัติเช่นนี้ต่อรัฐมนตรีหญิงที่ไหนก็รับไม่ได้"
ขณะที่นายกรัฐมนตรีบีนาลี ยิลดิริม ของตุรกี กล่าวในวันนี้ว่า ตุรกีจะตอบโต้ "พฤติกรรมที่รับไม่ได้นี้" ด้วยวิธีการ "รุนแรงที่สุด"
เมื่อวานนี้ประธานาธิบดีตุรกี ได้ประณามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ว่าเป็น "เศษซากนาซีและฟาสซิสต์" หลังจากที่เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมให้จัดงานชุมนุมปราศรัยของรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีในประเทศ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ตุรกีชี้ว่าเรื่องที่ตอนแรกเป็นเพียงวิวาทะทางการทูต ได้กลายเป็นวิกฤตในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปเสียแล้ว
ข้อพิพาทนี้เกี่ยวกับอะไร
ตุรกีกำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 16 เม.ย.นี้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าประเทศจะคงระบอบการปกครองแบบรัฐสภา หรือเปลี่ยนไปเป็นระบบสาธารณรัฐที่มีลักษณะคล้ายกับสหรัฐอเมริกา หากเปลี่ยนเป็นระบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรี จัดทำงบประมาณ เลือกผู้พิพากษาอาวุโสส่วนใหญ่ และแก้ไขกฎหมายบางฉบับด้วยการออกคำสั่งพิเศษ
นอกจากนั้น ยังมีอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภาได้ โดยไม่ต้องใช้กลไกอย่างอื่น
เพื่อให้การลงประชามติครั้งนี้ผ่าน นายแอร์โดอัน จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากคนตุรกีที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ ขณะนี้มีคนตุรกีราว 5.5 ล้านคน อาศัยอยู่ต่างแดน เฉพาะในเยอรมนีมีผู้ที่มีสิทธิ์ลงประชามติถึง 1.4 ล้านคน ฝ่ายที่ต้องการให้ประชามติครั้งนี้ผ่าน จึงต้องการได้คะแนนเสียงจากพวกเขา ดังนั้นจึงมีแผนจัดการชุมนุมขึ้นในหลายประเทศ ที่มีชุมชนคนตุรกีอยู่หนาแน่น เช่น เยอรมนี ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากลุ่มผู้สนับสนุนนายแอร์โดอันกลับพบว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมขึ้น
เหตุใดประเทศต่าง ๆ ถึงไม่อนุญาตให้จัดชุมนุม
ประเทศเหล่านั้นต่างอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย
นายเซบาสเตียน คูรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรียบอกว่าการชุมนุมจะทวีความแตกแยกและบั่นทอนความพยายามในการผสมผสานเพื่อสร้างความกลมกลืนของคนในชาติ
ส่วนนายรัตเตบอกว่า เนเธอร์แลนด์ได้ขอให้ตุรกียกเลิกการชุมนุม เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะบั่นทอนความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กำลังเผชิญความท้าทายจากพรรคต่อต้านอิสลามของนายเคียร์ต วิลเดอร์ส ในการเลือกตั้งในวันพุธนี้ด้วย
หลายประเทศในยุโรปแสดงความเป็นห่วงมาตรการตอบโต้ของตุรกี ต่อเหตุพยายามก่อรัฐประหาร ทั้งยังเห็นด้วยว่ารัฐบาลนายแอร์โดอันมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการมากขึ้น
โดยเยอรมนีได้วิจารณ์การจับกุมและกวาดล้างแบบไม่เลือกหน้าของรัฐบาลตุรกี ที่ส่งผลให้มีข้าราชการเกือบ 100,000 ถูกปลดจากตำแหน่ง