เผยตัวเลขประหารชีวิตคนทั่วโลกลดลง 37% แต่จีนยังครองแชมป์

ที่มาของภาพ, Getty Images
ปัจจุบัน 141 ประเทศหรือกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตทั่วโลกปี 2559 เผยจีนยังเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุดในโลก ขณะที่ตัวเลขจำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกของปีที่แล้วมี 1,032 กรณี ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 37 ที่มีจำนวน 1,634 กรณี
รายงานของแอมเนสตี้ระบุว่า ตัวเลขที่ลดลงถึงร้อยละ 37 นี้ ไม่นับรวมการประหารชีวิตที่คาดว่าเกิดขึ้นหลายพันกรณีในจีน เนื่องจากทางการจีนได้จัดข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ให้เป็น "ความลับของชาติ" ข้อมูลการประหารชีวิตหลายร้อยกรณีไม่ได้ถูกรวมในฐานข้อมูลออนไลน์ของศาลแห่งชาติ ซึ่งจีนมักอ้างว่าฐานข้อมูลนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่มีความลับที่ต้องปกปิดในระบบยุติธรรมของประเทศ
ส่วนประเทศที่มีอัตราการประหารชีวิตมากที่สุดในโลกรองลงมา ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก ปากีสถาน ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่ในปัจจุบันมี 141 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย จากรายงานของแอมเนสตี้พบว่า ไทยยังเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศ ที่ยังใช้โทษประหารชีวิต ปี 2559 มีการกำหนดโทษประหารชีวิตครั้งใหม่ 216 กรณี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกำหนดโทษประหาร แต่ไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 ซึ่งเป็นการก้าวสู่ปีที่ 8 ที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง
"หากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปี ติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นการพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอีกก้าวหนึ่ง" นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุ
แอมเนสตี้ประเทศไทย ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยประกาศพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว และเสนอแก้กฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิต รวมทั้งให้ร่วมลงสัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต