กลุ่มสุดโต่งส่งพวกเฝ้าทุกหน่วยเลือกตั้งผู้ว่าจาการ์ตา

ที่มาของภาพ, Reuters
นายบาสุกี จาฮาจา ปูร์นามา เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาคนแรกในรอบ 50 ปี ที่ไม่ใช่มุสลิม
ชาวอินโดนีเซียพากันออกไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในการเลือกตั้งรอบชี้ขาด ซึ่งก่อนหน้านี้ นายบาสุกี จาฮาจา ปูร์นามา ผู้ว่าการชาวคริสต์เชื้อสายจีนคนปัจจุบันซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย ถูกกลุ่มมุสลิมสุดโต่งจัดการประท้วงต่อต้านอย่างหนัก จนทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติศาสนาขึ้นอีกครั้ง
นายปูร์นามา หรือที่เรียกชื่อเล่นกันทั่วไปว่า "อาฮก" เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 43% ในขณะที่นายอานีส ราสยิด บาสวีดัน คู่แข่งชาวมุสลิมได้คะแนนเสียงไป 40% ส่วนการเลือกตั้งรอบชี้ขาดนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงคะแนนล่วงหน้าชี้ว่า ทั้งคู่น่าจะมีคะแนนเสียงสูสีกัน
นายปูร์นามากำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นศาสนาอิสลาม โดยมีการกล่าวหาว่าเขาล้อเลียนดูหมิ่นข้อความในคัมภีร์อัลกุรอานที่ห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมเลือกผู้นำที่เป็นคนในศาสนาอื่น อย่างไรก็ตาม นายปูร์นามาแย้งว่ากลุ่มมุสลิมสุดโต่งบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อใช้ศาสนาเล่นงานเขา ทั้งที่เขาเพียงแค่กล่าวปราศรัยว่ามีนักการเมืองบางคนใช้ข้อความในคัมภีร์นี้มาโจมตีเขาก่อนเท่านั้น

ที่มาของภาพ, Reuters
นายอานีส ราสยิด บาสวีดัน (ขวา) เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการเดินขบวนต่อต้านนายปูร์นามาครั้งใหญ่กลางกรุงจาการ์ตาเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยกลุ่มมุสลิมสุดโต่งเป็นผู้จัดการประท้วงและมีผู้เข้าร่วมนับแสนคน และหากศาลตัดสินให้นายปูร์นามามีความผิดจริง เขาอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี แต่อาจยังรับตำแหน่งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาได้ขณะที่ยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป
ในการเลือกตั้งรอบชี้ขาดนี้ กลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่สนับสนุนคู่แข่งของนายปูร์นามาแจ้งว่า ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ของตนไปประจำการที่ทุกหน่วยเลือกตั้งอย่างน้อยหน่วยละ 100 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาเตือนว่า การกระทำแทรกแซงใด ๆ ที่เป็นการกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ

สมาชิกกลุ่มตามาสยา อัล ไมดาห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอิสลามสุดโต่ง ยืนสังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา
หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่ "สกปรกที่สุด มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างเป็นฝักฝ่ายมากที่สุด เท่าที่อินโดนีเซียเคยประสบมา"
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการชิงชัยระหว่างนโยบายการปกครองที่แยกศาสนาออกจากการเมืองซึ่งอินโดนีเซียยึดถือมาตั้งแต่ได้รับเอกราช กับแนวทางแบบอิสลามสายสุดโต่งซึ่งแข็งแกร่งขึ้นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา