ชนพื้นเมืองได้บัตรทองรักษาตัว หลังป่วยจากรังสีทดลองนิวเคลียร์

การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่เขตมาราลิงกา
รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติให้ชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่เคยมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของกองทัพสหราชอาณาจักร ได้รับ "บัตรทอง" หรือบัตรเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของทหารผ่านศึกชั้นพิเศษ ซึ่งครอบคลุมค่ายาและบริการทางการแพทย์เกือบทั้งหมด
บัตรทองดังกล่าวจะมอบให้กับชนพื้นเมืองในเขตมาราลิงกา และเขตอีมู ฟีลด์ ในรัฐออสเตรเลียใต้ รวมทั้งชนพื้นเมืองหมู่เกาะมอนเตเบลโล นอกชายฝั่งรัฐออสเตรเลียตะวันตกอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเคยเป็นสถานที่ลับซึ่งใช้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของอังกฤษในยุคสงครามเย็น ช่วงระหว่างทศวรรษ 1950-1960 โดยการทดลองดังกล่าวทำให้ชนพื้นเมืองจำนวนมากต้องถูกบังคับย้ายถิ่น และชนพื้นเมืองบางส่วนที่ยังอาศัยอยู่โดยรอบต้องล้มป่วยและเสียชีวิตลงในภายหลังเนื่องจากได้รับกัมมันตภาพรังสี
การมอบบัตรทองเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลครั้งนี้มีขึ้น หลังรัฐบาลออสเตรเลียเริ่มดำเนินการไต่สวนกรณีดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1980 และเกิดจากการรณรงค์ของกลุ่มเอกชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียแสดงความรับผิดชอบมาเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้สนับสนุนให้กองทัพสหราชอาณาจักรทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในพื้นที่ทะเลทรายที่ดูเหมือนรกร้างว่างเปล่าของตน
ทั้งนี้ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่เขตมาราลิงกา ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 มีความรุนแรงของระเบิดรวมกันคิดเป็นสองเท่าของระเบิดปรมาณูที่ทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าทหารอังกฤษที่อยู่ในการทดลองครั้งนั้นบอกว่า ระเบิดมีแสงสว่างเจิดจ้าจนทำให้มองเห็นโครงกระดูกในฝ่ามือที่ยกขึ้นปิดตาเอาไว้ ทหารอังกฤษเหล่านี้ไม่ได้สวมเครื่องป้องกันใดเลย จึงทำให้ในเวลาต่อมามีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตรังสี เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองจำนวนมาก
ทหารอังกฤษพากันยืนหันหลังและปิดตาไม่มองดูการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่เขตมาราลิงกา
ชนพื้นเมืองที่ยังมีชีวิตรอดบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีในปี 2014 ว่า แรงระเบิดทำให้เกิดกลุ่มหมอกควันดำซึ่งเป็นฝุ่นกัมมันตรังสีลอยเข้าปกคลุมเขตที่อยู่อาศัยของพวกเขา จากนั้นก็มีคนล้มป่วยและทยอยเสียชีวิตลงหลายคน โดยมีอาการคล้ายโรคมะเร็งเกิดขึ้นที่ปอด ตับ และบางคนมีปัญหาโรคไต
ชาวบ้านบอกว่า ที่ผ่านมาทางการจ่ายค่าชดเชยให้น้อยมากหรือไม่ได้รับเลย ส่วนคนที่ถูกบังคับย้ายถิ่นออกไปก็ไม่สามารถย้ายกลับเข้ามาได้ เพราะสภาพแวดล้อมในเขตทดลองระเบิดนิวเคลียร์ถูกทำลายยับเยิน แม้ทางการจะอ้างว่ามีการเก็บกวาดกำจัดกัมมันตรังสีในพื้นที่นั้นแล้วก็ตาม โดยดินสีส้มแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของแถบนั้นกลับมีประกายสีเขียวแปลก ๆ ปนอยู่ พืชต่าง ๆ แม้แต่ต้นหญ้าไม่งอกเติบโต แม้กระทั่งนกและจิงโจ้ยังเลี่ยงที่จะเข้าไปในแถบนั้น
เหตุการณ์นี้แม้จะผ่านมานานถึงกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดด่างพร้อยในหน้าประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับออสเตรเลีย ที่ยังคงไม่ลบเลือน