อียู-จีน ไม่ง้อทรัมป์ เตรียมแถลงจุดยืนเดินหน้าข้อตกลงลดโลกร้อน

ภาพควันที่ถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้นำจีนและสหภาพยุโรป เตรียมลงนามในแถลงการณ์ร่วมข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองจากหลายฝ่ายว่า เป็นการหักหน้าผู้นำสหรัฐฯ ที่เตรียมประกาศจุดยืนที่คาดว่าจะพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้

ร่างเอกสารข้อตกลงระหว่างผู้นำจีนและสหภาพยุโรปที่จะเผยแพร่ในวันพรุ่งนี้ (2 มิ.ย.) เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองระดับสูงสุดที่จะทำให้ข้อตกลงเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นการปฏิเสธแนวทางของสหรัฐฯ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจุดยืนให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส

เป็นเวลากว่าหนึ่งปี ที่จีนและสหภาพยุโรปพยายามหารือแบบนอกรอบเพื่อบรรลุข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและพลังงานที่สะอาด โดยเอกสารดังกล่าวเน้นย้ำถึงอันตรายของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นว่า เป็นประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเปราะบางทางสังคมและการเมือง รวมถึงชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดจะช่วยสร้างงานและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้

ร่างแถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า สภาพยุโรปและจีนมองว่าข้อตกลงปารีสเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำลง และเดินหน้าการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ

"ข้อตกลงปารีสเป็นเครื่องยืนยันว่า ความมุ่งมั่นทางการเมืองร่วมกันและความเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมถึงระบบพหุพาคี จะก่อให้เกิดผลที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพต่อปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤตที่สุดในยุคสมัยของเรา"

จากแถลงการณ์ร่วมนี้ ทั้งอียูและจีนได้กำหนดเป้าหมายว่าจะพยายามปฏิบัติตามแผนการลดก๊าซคาร์บอนให้มากขึ้น และจะวางมาตรการระยะยาวเพื่อการปล่อยมลพิษในระดับต่ำให้ได้ ภายในปี 2020

นายมิเกล อารียาส กานเยเต คณะกรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของอียู ทักทายผู้แทนจากจีน ที่การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เมืองมาราเกซ

ที่มาของภาพ, EU

คำบรรยายภาพ,

นายมิเกล อารียาส กานเยเต คณะกรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของอียู ทักทายผู้แทนจากจีน ที่การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เมืองมาราเกซ

แถลงการณ์ร่วมของอียูและจีน ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือพัฒนาและเชื่อมโยงตลาดการค้าคาร์บอน การกำหนดชนิดของพลังงาน มาตรฐานการใช้พลังงาน และมาตรฐานการใช้พลังงานของอาคารด้วย

"แม้ว่าจะไม่ควรมีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่อียูและจีนตัดสินใจก้าวต่อไปข้างหน้าแล้ว" คณะกรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของอียู ระบุ

ความเคลื่อนไหวใหม่จากทางอียูและจีน ได้รับเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังกังวลกับความเป็นไปได้ที่ประเทศผู้ปล่อยคาร์บอนอันดับ 2 ของโลกกำลังจะถอนตัว โดยนายลี่ ชู จากกรีนพีซ กล่าวว่า คู่เจรจานี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ในเวทีการทูตด้านภูมิอากาศ

ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างอียูและจีน มีขึ้นพร้อมกับท่าทีของทางสหรัฐฯ ที่กำลังเย็นชากับข้อตกลงปารีส สื่อสหรัฐฯ อ้างแหล่งข่าวหลายแห่งที่เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังจะให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลง ซึ่งทรัมป์เองก็เคยทวีตข้อความว่าจะประกาศจุดยืนในวันพรุ่งนี้ ตามเวลาในไทย

ความคืบหน้านี้ มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกับผู้นำประเทศอื่นในการประชุมสุดยอดจี 7 ที่เกาะซิซิลีได้

การประชุมภาคีสมาชิกของยูเอ็นเอฟซีซีซีครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ที่มาของภาพ, DOMINIQUE FAGET/AFP/Getty Images

ข้อตกลงปารีสคืออะไร

ข้อตกลงปารีส มีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศที่เป็นภาคีได้ตกลงที่จะ:

  • รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และ พยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นถึงประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส
  • จำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในช่วงเวลาระหว่างปี 2050 และ 2100
  • ทบทวนความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศทุกๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามลดโลกร้อนมากยิ่งขึ้น
  • ส่งเสริมให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าได้ ผ่านเงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ เพื่อให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ และหันไปใช้พลังงานทดแทน

ปัจจุบัน ข้อตกลงปารีสมี 147 ประเทศ ที่ให้สัตยาบัน จากทั้งหมด 197 ประเทศที่ร่วมลงนาม รวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งข้อตกลงมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา