จระเข้ : สัตว์เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญการส่งออกถดถอย
จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานที่เคยอาศัยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันจระเข้ที่พบเห็นกันเป็นจระเข้ในสถานที่เพาะเลี้ยง ที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้สนองความต้องการบริโภคของมนุษย์

ที่มาของภาพ, Reuters
ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า จระเข้ที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจของไทยนั้นมี 2 ชนิด คือ จระเข้น้ำจืด หรือจระเข้พันธุ์ไทย และจระเข้น้ำเค็ม หรือจระเข้ตีนเป็ด หรือไอ้เคี่ยม โดยในไทยแล้วนิยมเลี้ยงจระเข้น้ำจืด หรือจระเข้พันธุ์ไทยมากกว่าจระเข้น้ำเค็ม อาจเนื่องจากพันธุ์จระเข้น้ำจืดหาง่ายกว่าพันธุ์จระเข้น้ำเค็ม เพราะมีฟาร์มที่เลี้ยงขายลูกจระเข้น้ำจืดอยู่หลายแห่ง และยังให้ลูกเร็วกว่า คือ เริ่มเมื่ออายุ 10-12 ปี ส่วนจระเข้น้ำเค็มจะเริ่มเจริญพันธุ์ในตัวผู้เมื่ออายุ 16 ปี และตัวเมียที่อายุ 10 ปี
ที่มาของภาพ, Reuters
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงข้อมูลจากกรมประมงว่าในไทยมีฟาร์มจระเข้มากกว่า 1 พันแห่ง เลี้ยงจระเข้ราว 1.2 ล้านตัว บางแห่งมีโรงเชือดและโรงงานฟอกหนังจระเข้อยู่ในบริเวณเดียวกัน
ที่มาของภาพ, Reuters
กรมประมงระบุว่าจระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ "กรมประมง" เกษตรกรที่ต้องการครอบ ครองทำฟาร์มและค้าขายจระเข้จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมประมงก่อน สำหรับจระเข้ที่ขายกันนั้น มีทั้งจระเข้ที่มีชีวิตทั้งลูกพันธุ๋ จะเข้รุ่น พ่อแม่พันธุ์ และจระเข้เชือดที่ขายทั้งตัว เนื้อ หนัง เลือด และเครื่องใน
ที่มาของภาพ, Reuters
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเนื้อจระเข้มีราคาขายกิโลกรัมละประมาณ 300 บาท ขณะที่น้ำดี และเลือดถูกนำไปทำยาซึ่งเชื่อว่าช่วยบำรุงสุขภาพ ราคาขายน้ำดีจระเข้ตกกิโลกรัมละ 4 หมื่นบาท และเลือดกิโลกรัมละ 500 บาท
ที่มาของภาพ, Reuters
ผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ก็เป็นสินค้าอีกชนิดที่มีราคาสูง อย่างไรก็ดี รอยเตอร์รายงานว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังถดถอยเพราะการส่งออก หนังจระเข้เมื่อปีที่แล้วลดลงมากกว่า 60% มูลค่าส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์รวบรวมไว้พบว่าลดลงจาก 34 ล้านบาท เมื่อปี 2015 เหลือ 13 ล้านบาท ในปีที่แล้ว
ที่มาของภาพ, Reuters
ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง 3 ชนิดที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ในภาคผนวก 1 ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากสามารถเพาะพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 2 ก็สามารถอนุญาตให้ค้าระหว่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุมของไซเตส
ที่มาของภาพ, Reuters
ปัจจุบันไซเตสได้จดทะเบียนรับรองให้ฟาร์มจระเข้ในประเทศไทยจำนวน 5 ฟาร์ม สามารถส่งออกหนังดิบ, หนังฟอก และผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย