ราม ณัฐ โกวินทร์: จากจัณฑาลสู่ประธานาธิบดีอินเดียคนล่าสุด

ราม ณัฐ โกวินทร์

ที่มาของภาพ, EPA

ราม ณัฐ โกวินทร์ เป็น นักการเมือง "จัณฑาล" คนที่ 2 ในประวัติศาสตร์อินเดียที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี นี่เป็นแค่ "สัญลักษณ์" ทางการเมือง หรือ ก้าวสำคัญสู่ความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นในสังคมอินเดียที่แท้จริง

หลังจากพรรคชาตินิยมฮินดู ภารติยะ ชนะตะ หรือบีเจพี ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศส่ง ราม ณัฐ โกวินทร์ เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ มีคนค้นชื่อเขาในกูเกิลมากกว่า 5 แสนครั้งภายใน 24 ชม.

สื่อท้องถิ่นในอินเดียถึงกับหยอกเล่นว่า "มีแค่นายโมดีกับพระเจ้าแค่สองคนเท่านั้นที่รู้ว่านี่คือคนที่จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี"

อดีตผู้ว่าการรัฐพิหารวัย 71 ปี

"ผมเขียนเกี่ยวกับชนชั้นจัณฑาลมา 27 ปี แต่ผมเพิ่งมาได้ยินชื่อโกวินทร์ครั้งแรกก็ตอนที่เขาได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดีเนี่ยแหละ" จันทราพรรณ ปราสาท นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อชนชั้นจัณฑาล ระบุ และเขาก็ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ออกมาพูดว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าประธานาธิบดีคนใหม่คนนี้คือใคร

จัณฑาลเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคมอินเดียตามหลักความเชื่อเรื่องระบบวรรณะของศาสนาฮินดู รองจากวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ ไวศยะ(แพศย์) และศูทร ในปัจจุบัน ยังมีทัศนคติรังเกียจเดียดฉันท์และเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนชนชั้นนี้อย่างแพร่หลายในอินเดีย

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ตำแหน่งประธานาธิบดีในอินเดียไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงแต่มาจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภาและสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ

หลายฝ่ายกล่าวหาว่าพรรคบีเจพีเองมีบทบาทที่ทำให้ระบบความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะนี้มีความแข็งแรงต่อเนื่องในสังคมอินเดีย และชี้ให้เห็นว่าการเสนอชื่อนายโกวินทร์เป็นประธานาธิบดีเป็นช่วงเวลาเหมาะเจาะตรงกับตอนที่ทางพรรคกำลังถูกกล่าวหาว่าไม่ใส่ใจกลุ่มคนชนชั้นนี้พอดี

ตำแหน่งประธานาธิบดีในอินเดียไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงแต่มาจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภาและสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ถึงแม้ประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐจะเป็นตำแหน่งเชิง 'พิธิการ' ไม่มีหน้าที่บริหารงานอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นตำแหน่งนี้ก็มีความสำคัญในกรณีที่ผลเลือกตั้งออกมาแบบไม่เป็นเอกฉันท์

แม้ว่านายอมิต ชาห์ ประธานพรรคบีเจพี จะกล่าวว่า โกวินทร์ด์เป็นคนชนชั้นจัณฑาลที่ได้ใช้ความพยายามมุมานะกว่าจะได้รับตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง บุคคลในชนชั้นจัณฑาลที่มีชื่อเสียงหลายคนกลับบอกว่าพวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าโกวินทร์ด์เคยทำคุณประโยชน์อะไรให้ชนชั้นตัวเองบ้าง

"ผมไปร่วมสัมมนาเกี่ยวกับชนชั้นจัณฑาล ผมเขียนบทความแสดงความคิดเห็นและร่วมถกเถียงเรื่องนี้ออกทีวี ผมทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ผมไม่เคยได้ยินชื่อเขาเลย แต่อาจจะเป็นผมเองก็ได้ที่ไม่รู้เรื่อง" นายปราสาทกล่าว

ที่มาของภาพ, EPA

นักเขียนด้านชนชั้นจัณฑาลอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อบอกว่า "โกวินทร์ดูเป็นคนมีการศึกษา ดูเป็นคนตั้งอกตั้งใจทำงาน แต่ไม่เคยเห็นเขาออกความเห็นเกี่ยวกับความโหดร้ายที่คนจัณฑาลต้องเผชิญในสังคมเลย"

เขากล่าวต่ออีกว่า "การแต่งตั้งโกวินทร์เป็นประธานาธิบดีเป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ การที่ เค.อาร์. นารายานัณ [ประธานาธิบดีอินเดียที่เป็นคนชนชั้นจัณฑาลคนแรก] เคยได้รับเลือก ช่วยอะไรกลุ่มคนชนชั้นนี้หรือเปล่า ถ้าอุดมการณ์ของพรรคเองไม่ได้สนับสนุนชนชั้นจัณฑาล มันก็แทบไม่สร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมา"

สิทธาท วัลดราจัน นักข่าวอาวุโส กล่าวกับบีบีซีว่า "พรรคบีเจพีเลือกคนที่ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมาก อายสื่อ และทิศทางของอุดมการณ์การเมืองก็คล้ายกับนายโมดี"

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นายโกวินทร์รู้จักกับนายกรัฐมนตรีโมดีมานาน

โกวินทร์เป็นสมาชิกกลุ่มชาตินิยมฮินดูขวาจัด หรือ อาร์เอสเอส (Rashatriya Swayasevak Sangh) ซึ่งเป็นแบบอย่างทางอุดมการณ์ให้พรรคบีเจพี ในอดีต เขาทำงานเป็นทนายและเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2 สมัยด้วยกัน เขายังเคยเป็นโฆษกของพรรค และเป็นผู้นำองค์กรชนชั้นจัณฑาลในพรรคบีเจพีด้วย

ซันเจ ปาสวาน ผู้นำชนชั้นจัณฑาลอาวุโสในพรรคบีเจพี กล่าวว่า ความใกล้ชิดกับกลุ่มอาร์เอสเอส ทำให้โกวินทร์เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โมดีและโกวินทร์ด์รู้จักกันมานาน และเขาไม่เห็นว่าจะผิดอะไรหากโมดีจะเลือกคนที่เข้ากับเขาได้ดี

ปาสวานเห็นว่า ความอคติของสื่อเรื่องชนชั้นในสังคมต่างหากที่ทำโกวินทร์ด์ไม่เป็นที่รู้จัก ทั้ง ๆ ที่โกวินทร์ด์ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ อย่างแต่สื่อปฏิเสธที่จะพูดถึงเขา

"โกวินทร์มีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์หลายที่แก่ บี.อาร์. อัมเบดการ์ [ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อชนชั้นจัณฑาลคนดังผู้ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย] เขายังเป็นคนทำให้เกิดการเปลี่ยนชื่อ "กระทรวงสวัสดิการสังคม" ให้กลายเป็น "กระทรวงความยุติธรรมทางสังคมและการเพิ่มขีดความสามารถ" ซึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงการทำงานของกระทรวงที่แท้จริง เขาทำงานหลาย ๆ อย่างเพื่อชนชั้นจัณฑาล" ปาสวานระบุ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

นายโกวินทร์ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงนิวเดลี

บีเจ ซันการ์ ชัสตรี โฆษกพรรคบีเจพีอีกคนหนึ่งผู้เป็นคนชนชั้นจัณฑาลและรู้จักโกวินทร์มานาน กล่าวว่า การเป็นประธานาธิบดีของโกวินทร์จะช่วยชี้ให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับชนชั้นจัณฑาล

สวาพัน ดาสกุ๊บตา นักข่าวซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคบีเจพี เขียนในทวิตเตอร์ของเขาว่า

คำถามประเภท "โกวินทร์คือใคร" สะท้อนให้เห็นระบบการรายงานข่าวการเมืองในอินเดียที่นักข่าวยึดติดอยู่กับข้อมูลแหล่งข่าวเดิม ๆ ที่ใช้อ้างอิงกันมา

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโกวินทร์เองจะไม่เคยมีประวัติทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเสียเลย เมื่อปี 2010 สมัยที่เขายังเป็นโฆษกของพรรคบีเจพี ในการแถลงข่าวปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้ช่วยสำรองสัดส่วนตำแหน่งงานสังกัดรัฐบาลให้กับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและภาษาซึ่งด้อยโอกาสทางสังคมและการเงิน สำนักข่าวฮินดูสถาน ไทมส์ รายงานว่า โกวินทร์ด์กล่าวว่า ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์เป็น'สิ่งแปลกปลอม'ในประเทศอินเดีย