ควีน อังกฤษ, สมาชิก รบ. ทรัมป์ พัวพันแหล่งหลบภาษีของโลก

ที่มาของภาพ, EPA
เอกสารรั่วไหลแสดงให้เห็นว่าเงินส่วนพระองค์จำนวน 10 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 450 ล้านบาทของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ลงทุนอยู่ในต่างประเทศ
เอกสารทางการเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกปล่อยออกมารอบใหม่ในนาม "พาราไดซ์ เปเปอร์ส" พบ มหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจของโลก แอบนำเงินไปลงทุนในประเทศที่ช่วยหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีหุ้นอยู่ในบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับชาวรัสเซีย ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯคว่ำบาตร
บีบีซี พานอรามา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสื่อเกือบ 100 แห่งที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนเอกสารนี้
เช่นเดียวกับการเปิดโปงในนาม "ปานามา เปเปอร์ส" (Panama Papers) ในปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ซุดดอยช์ ของเยอรมนีได้เอกสารมาจำนวนมาก และได้ติดต่อสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigation Journalist - ICIJ) ให้ตรวจสอบการทำข่าวสืบสวนสอบสวนนี้
การเปิดเผยเอกสารเมื่อวันอาทิตย์ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของการเปิดเผยที่จะมีตลอด 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเปิดโปงข้อมูลด้านการเงินและภาษีของบุคคลและบริษัทต่าง ๆ บางส่วน จากจำนวนหลายร้อยแห่งที่ถูกระบุอยู่ในเอกสาร โดยหลายแห่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหราชอาณาจักร
มีรายงานหลายเรื่องที่มุ่งเน้นที่วิธีการที่นักการเมือง, บริษัทข้ามชาติ, คนดัง และคนที่มีทรัพย์สินมหาศาลใช้กองทุน, มูลนิธิ และบริษัทเปล่า (shell company) เพื่อปกป้องเงินของตัวเองจากการเสียภาษี หรือดำเนินการนี้อย่างเป็นความลับ โดยธุรกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมาย
เรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 พ.ย. คือ
- หัวหน้าทีมระดมทุนของนายกรัฐมนตรีแคนาดา พัวพันกับการโยกย้ายเงินลงทุนของอดีตวุฒิสมาชิกไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในประเทศหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจสร้างความขายหน้าให้ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี ผู้รณรงค์ต่อต้านดินแดนแห่งการเลี่ยงภาษี
- ลอร์ด แอชครอฟต์ อดีตรองประธานพรรคอนุรักษ์นิยม และผู้บริจาคคนสำคัญ อาจละเลยต่อกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ เอกสารอีกหลายฉบับระบุว่าเขาได้สถานะผู้อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรที่มีบ้านถาวรอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในรายได้ที่มาจากต่างประเทศให้แก่สหราชอาณาจักร (non-dom status) โดยเขาได้สถานะนี้ในช่วงที่เป็นสมาชิกสภาขุนนาง แต่ก็มีรายงานหลายแหล่งว่าตอนนั้นเขาได้เป็นผู้พักอาศัยถาวรที่ต้องเสียภาษีในสหราชอาณาจักรแล้ว
- ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งในสโมสรเอฟเวอร์ตันถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการระดมทุน
พันธมิตรสื่ออีกหลายแห่งอาจรายงานเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคของตัวเองแตกต่างกันไป
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเกี่ยวข้องอย่างไร?
พาราไดส์ เปเปอร์ส แสดงให้เห็นว่าพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 450 ล้านบาทของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศ
ดัชชี ออฟ แลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์มูลค่า 500 ล้านปอนด์ หรือราว 22,500 ล้านบาท ได้นำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนที่เกาะเคย์แมน และเบอร์มิวมา
การลงทุนดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และไม่มีการระบุว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ทรงจ่ายภาษี แต่อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ประมุขของประเทศควรลงทุนในต่างประเทศหรือไม่
นอกจากนี้ยังพบเงินการลงทุนขนาดย่อมใน ไบรท์เฮาส์ (BrightHouse) บริษัทสินค้าเช่าซื้อซึ่งถูกกล่าวหาว่าเอาเปรียบคนยากจน และในเทรเชอร์ส (Threshers) เครือข่ายร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต่อมาล้มละลาย ต้องปลดคนงานเกือบ 6,000 คน และค้างจ่ายภาษีอยู่ 17.5 ล้านปอนด์ หรือราว 787.5 ล้านบาท
ที่มาของภาพ, Alamy
ดัชชี ระบุว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้ และไม่มีการระบุว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทราบเรื่องการลงทุนแทนพระองค์นี้หรือไม่
ดัชชี เคยระบุในอดีตว่า ทางสำนักงาน "ไตร่ตรองมาโดยตลอดเกี่ยวกับการกระทำขององค์กร หรือการละเว้นการกระทำ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อชื่อเสียง" ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทางบริษัทระบุว่าพระองค์ "ทรงใส่พระทัย" ในทรัพย์สินส่วนพระองค์
ที่มาของภาพ, AFP
วิลเบอร์ รอสส์ ช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ รอดพ้นจากการล้มละลายในทศวรรษ 1990
ความขายหน้าของรอสส์และทรัมป์
วิลเบอร์ รอสส์ ช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ รอดพ้นจากการล้มละลายในทศวรรษ 1990 และได้รับการตอบแทนด้วย ตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลของทรัมป์
เอกสารเปิดเผยว่านายรอสส์ยังคงได้รับผลประโยชน์ในบริษัทขนส่งสินค้า ซึ่งมีรายได้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี ในการขนส่งน้ำมันและก๊าซให้แก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย โดยบุตรเขยของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และบุคคลอีก 2 คนที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวด้วย
ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นอีกครั้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัสเซียของทีมงานโดนัลด์ ทรัมป์ โดยการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขามาพร้อมกับข้อกล่าวหาว่ารัสเซียสมรู้ร่วมคิดเพื่อพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่นายทรัมป์เรียกข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่า "ข่าวปลอม"
เอกสารรั่วไหลมาจากไหน?
ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่ชื่อว่า แอปเปิลบี (Appleby) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านกฎหมายตั้งอยู่ในเบอร์มิวดา ช่วยลูกค้ากำหนดเขตพื้นที่ในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีระดับต่ำหรือไม่เก็บภาษี
หนังสือพิมพ์ซุดดอยช์ ได้เอกสารของบริษัทนี้ และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่จดทะเบียนในแคริบเบียน แต่ทางหนังสือพิมพ์ไม่ได้เปิดเผยแหล่งที่มา
พันธมิตรสื่อหลายแห่งระบุว่า การทำข่าวสืบสวนสอบสวนนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เพราะว่าข้อมูลที่รั่วไหลมาจากบริษัทในต่างประเทศ เปิดเผยให้เห็นการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทางบริษัทแอปเปิลบี ออกมาระบุว่า ทางบริษัท "พอใจที่ไม่มีหลักฐานของการกระทำผิดใด ๆ ทั้งในส่วนของทางบริษัทเองและส่วนของลูกค้า" และยังระบุเพิ่มเติมว่า "เราจะไม่อดทนต่อพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย"
ศูนย์การเงินต่างประเทศคืออะไร?
คือสถานที่ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของประเทศตัวเอง ซึ่งทางบริษัทหรือบุคคลสามารถเคลื่อนย้ายเงิน,ทรัพย์สิน หรือผลกำไรเข้าไปเพื่อหาประโยชน์จากภาษีที่ต่ำกว่า
ขอบเขตพื้นที่เหล่านี้รู้จักกันในชื่อ แหล่งหลบภาษี (tax havens) สำหรับคนทั่วไป หรือศูนย์การเงินต่างประเทศ (offshore financial centres - OFCs) สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ศูนย์การเงินต่างประเทศโดยทั่วไปจะมั่นคง เป็นความลับ และเชื่อถือได้ มักจะเป็นเกาะขนาดเล็ก แต่ไม่จำเป็นเสมอไป และมีความเข้มงวดในการตรวจสอบการกระทำผิดในระดับที่แตกต่างกัน
สหราชอาณาจักรเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายหนึ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีดินแดนในต่างประเทศจำนวนมาก และดินแดนภายใต้สหราชอาณาจักรเป็น OFCs แต่เป็นเพราะว่านักกฎหมาย, นักบัญชี และนายธนาคารที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมต่างประเทศอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับอภิมหาเศรษฐี บรูก ฮาร์ริงตัน ผู้เขียนเรื่อง Capital Without Border: Wealth Managers และ One Percent ระบุว่า ศูนย์การเงินต่างประเทศไม่ใช่สำหรับคน 1% แต่สำหรับ 0.001% ทรัพย์สินราว 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17.1 ล้านบาทยังไม่พอที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมต่างประเทศด้วยซ้ำ
ผลกระทบต่อเรามีอะไรบ้าง และเราควรสนใจหรือไม่?
บริษัทบอสตันคอนซัลติ้งกรุ๊ป (Boston Consulting Group) ระบุว่า มีเงินจำนวน 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 350 ล้านล้านบาท อยู่ในต่างประเทศ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส รวมกัน การประเมินนี้อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ
ผู้ไม่เห็นด้วยกับศูนย์การเงินต่างประเทศ ระบุว่า หลัก ๆ คือเรื่องความลับ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการกระทำผิดและความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังระบุว่า การดำเนินการของรัฐบาลต่าง ๆ ในการควบคุมศูนย์การเงินต่างประเทศมักไม่มีประสิทธิผลและล่าช้า
ฮาร์ริงตัน ระบุว่า ถ้าคนรวยหลีกเลี่ยงภาษี คนจนรับภาระ "มีจำนวนขั้นต่ำที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาทำหน้าที่ และเอาคืนสิ่งที่สูญเสียไปมาจากคนรวยและบริษัทต่าง ๆ ด้วยการเปิดเผยให้คนทราบ"
เมก ฮิลเลอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน และประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ บอกกับพานอรามาว่า "เราต้องรู้ต้องเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศเหล่านั้น ถ้ามันไม่ใช่ความลับ เรื่อง(เลี่ยงภาษี)เหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้...เราต้องการความโปร่งใส และเราต้องการให้แสงสว่างส่องไปที่นั่น"
ศูนย์การเงินต่างประเทศมีข้ออ้างอะไรบ้าง?
ศูนย์การเงินต่างประเทศ ระบุว่า ถ้าไม่มีพวกเขา รัฐบาลก็จะไม่มีความยับยั้งชั่งใจในการเรียกเก็บภาษี พวกเขาไม่ได้กักตุนเงินสดมหาศาลนี้ไว้ แต่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสูบฉีดเงินไปทั่วโลก
บ๊อบ ริชาร์ดส์ กล่าวกับพานอรามาขณะเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของเบอร์มิวดา ว่า มันไม่ได้หน้าที่ของเบอร์มิวดาในการเก็บภาษีแทนชาติต่าง ๆ แต่เป็นหน้าที่ของชาติเหล่านั้นในการแก้ปัญหาของตัวเอง
ทั้งเขาและโฮเวิร์ด คีล์ หัวหน้ารัฐมนตรีของ ไอล์ออฟแมน (Isle of Man) ซึ่งพานอรามาก็ได้สัมภาษณ์ด้วย ต่างปฏิเสธว่าอาณาเขตของตัวเองไม่อาจถือเป็นแหล่งหลบภาษีได้ เพราะว่าพวกเขาได้ควบคุมและปฏิบัติตามกฎการรายงานด้านการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มที่
ด้านแอปเปิลบี เคยระบุในอดีตว่า OFCs "ปกป้องผู้คนจากการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม การทุจริต หรือการข่มเหงรังแก ด้วยการคุ้มกันพวกเขาจากรัฐบาลที่ละโมบ"