เงินสดยังจำเป็นอยู่ไหม ในโลกยุคดิจิทัล?
สังคมไร้เงินสด เป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. เชิญชวนประชาชนและภาคธุรกิจ ให้หันมาใช้การชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิตกับโทรศัพท์มากขึ้น และใช้เงินสดน้อยลง โดยให้เหตุผลข้อหนึ่งว่าเพื่อความสะดวกสบาย และปลอดภัยไม่ต้องกลัวถูกฉกชิงวิ่งราว
ปัจจุบันความนิยมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ของคนในยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ราว 1,000 คน ในปี 2017 โดย ING ผู้ให้บริการด้านการธนาคาร การเงิน ประกันภัย และการบริหารสินทรัพย์ พบว่าคนราว 1 ใน 3 พร้อมที่จะเลิกใช้เงินสด ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ในปัจจุบันคนยุโรปราว 1 ใน 5 (21%) แทบจะไม่ได้ใช้เงินสดเลย โดยประเทศที่คนยังใช้เงินสดมากอยู่คือเยอรมนี ส่วนคนในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ใช้เงินสดน้อยลงทุกที
ไอเอ็นจีระบุว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้บัตรเดบิตและเครดิต เป็นเครื่องมือในการชำระเงินแทนธนบัตรและเหรียญ อย่างไรก็ดี ทางเลือกในการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลผ่านโทรศัพท์มือถือก็กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่
ในขณะเดียวกันบางประเทศพยายามหาทางยุติการชำระค่าใช้จ่ายด้วยเงินสดอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นว่าเป็นวิธีการที่จะหยุดยั้งการ คอร์รัปชันและการเลี่ยงภาษีได้ ตัวอย่างเช่นในประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรเอง จะยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 500 ยูโร ภายในสิ้นปีหน้า