ข่าวเด่นประเด็นการเมืองโลกปี 2017

ข่าวทรัมป์-คิม

ที่มาของภาพ, Getty Images

2017 เป็นปีที่เวทีการเมืองโลกเต็มไปด้วยสีสัน ไม่ว่าจะเป็นการได้ต้อนรับมหาเศรษฐีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. และได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แวดวงการเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง การที่นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่สั่นคลอนเสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาค บีบีซีไทยได้รวบรวมข่าวการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญในปีนี้และจะมีผลสืบเนื่องไปถึงปีหน้ามาดังนี้

ทรัมป์ เปลี่ยนโลก

นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในรอบกว่า 60 ปี ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ท่ามกลางข้อครหาว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงในโลกไซเบอร์เพื่อช่วยเหลือการรณรงค์หาเสียงของเขาจนชนะการเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค.

นับแต่เข้าดำรงตำแหน่ง นายทรัมป์ ได้ใช้คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีไปแล้วราว 50 ครั้ง ตั้งแต่การสั่งห้ามพลเมืองจากชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ, การถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ไปจนถึงการนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่ก่อให้เกิดเสียงตำหนิจากทั่วโลก

เกือบหนึ่งปีในการบริหารประเทศ รัฐบาลของนายทรัมป์สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายด้านให้สหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านนโยบายต่างประเทศ การประกาศรับรองสถานะของเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล นับเป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายที่สหรัฐฯ ดำเนินมายาวนานในการพยายามวางตัวเป็นกลางในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ส่งผลให้ประชาคมโลกประณามการกระทำดังกล่าวของนายทรัมป์อย่างรุนแรง โดยทั้งประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างก็ต่อต้านความต้องการของสหรัฐฯ ในการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

คิม เขย่าโลก

ผู้นำโลกอีกคนที่โลกจับตามองมากที่สุดในปีนี้ คือ นายคิม จอง อึน ผู้นำชาติคอมมิวนิสต์เกาหลี ซึ่งสร้างความหวาดหวั่นให้นานาชาติ และสั่นสะเทือนเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ด้วยการเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องหลายครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะขีปนาวุธข้ามทวีปที่เกาหลีเหนืออวดอ้างว่ามีขีดความสามารถในการยิงโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 เมื่อเดือน ก.ย. ส่งผลให้ยูเอ็นเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าว ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ทั้งคำขู่และปลอบเพื่อหว่านล้อมให้เกาหลีเหนือยอมร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาอาวุธอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งการยิงทดสอบขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์

โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เคยทั้งใช้ไม้อ่อนป้อนคำหวานเยินยอนายคิม รวมทั้งใช้ไม้แข็งขู่จะใช้กำลังทหารโจมตีเกาหลีเหนือ ดังที่เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมยูเอ็นเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำสหรัฐฯ โดยกล่าวถึงนายคิม จอง อึน ว่า "มนุษย์จรวดกำลังดำเนินภารกิจปลิดชีพตัวเองและระบอบปกครองของตน" และเตือนว่าหากถูกบีบให้ป้องกันตนเอง สหรัฐฯ ก็อาจไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำลายเกาหลีเหนือให้ราบคาบ

คำบรรยายวิดีโอ,

เหตุใดเกาหลีเหนือจึงมุ่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนายคิม จอง อึน จะถูกมองเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกแล้ว เขายังถูกมองเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่กำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างไร้ความปรานี แม้กระทั่งคนสายเลือดเดียวกัน อย่าง นายคิม จอง นัม พี่ชายต่างมารดาที่ถูกลอบสังหารด้วยสารพิษทำลายระบบประสาท วีเอ็กซ์ อย่างอุกอาจกลางสนามบินกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย จนกลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

โรฮิงญา เรื่องน้ำท่วมปากของ ออง ซาน ซูจี

ปัญหาความรุนแรงระลอกใหม่ในรัฐยะไข่ของเมียนมาที่ปะทุขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ในภูมิภาค ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญากว่าครึ่งล้านคนต้องหลบหนีการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารเมียนมาเข้าไปในบังกลาเทศ

ที่มาของภาพ, EPA

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลและกองทัพเมียนมาจะยืนกรานปฏิเสธเรื่องการกระทำโหดร้ายและการ "ล้างเผ่าพันธุ์" ชาวโรฮิงญา แต่ภาพที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้พบเห็นนั้นกลับแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ยูเอ็นเรียกกรณีที่เกิดขึ้นว่า "การล้างเผ่าพันธุ์แบบในตำรา"

แม้หลายฝ่ายจะพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยชาวโรฮิงญาที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้าย แต่ผู้ที่ยังคงนิ่งเฉยต่อวิกฤตการณ์นี้คือ นางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ทั้งยังหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "โรฮิงญา" เรียกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ เพื่อแสดงจุดยืนที่ทางการเมียนมาไม่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้คือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายของเมียนมา ทว่าเป็นเพียงคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

คำบรรยายวิดีโอ,

ใครเผาหมู่บ้านโรฮิงญา

ท่าทีที่เมินเฉยต่อเรื่องนี้ของนางซู จี ทำให้เธอถูกวิจารณ์อย่างหนักจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลก เปลี่ยนภาพลักษณ์ "วีรสตรีแห่งประชาธิปไตย" ของเธอไปภายในระยะเวลา 2 ปีที่ก้าวขึ้นบริหารประเทศเมียนมา

ซาอุฯ ยุคใหม่กับมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่

นับแต่ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระชนมายุ 32 พรรษา ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ก็ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงมีพระประสงค์จะให้ประเทศกลับสู่แนวทางของอิสลามสายกลาง อันเป็นกุญแจสำคัญของแผนการปฏิรูปซาอุดีอาระเบียให้ทันสมัยขึ้น ทรงเดินหน้าปราบปรามปัญหาการทุจริตอย่างเด็ดขาด โดยมีการจับกุมและควบคุมตัว เจ้าชาย รัฐมนตรี และนักธุรกิจนับร้อยไว้ที่โรงแรมหรู ฐานมีส่วนพัวพันกับการทุจริต

คำบรรยายวิดีโอ,

เฮาส์ ออฟ การ์ดส ฉบับซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนการยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ล้าหลัง เช่น การห้ามผู้หญิงขับรถ หรือเข้าสนามกีฬา ทรงสนับสนุนการเปิดโรงภาพยนตร์เอกชนขึ้นในประเทศอีกครั้ง และทรงหาหนทางให้ซาอุดีอาระเบียมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งยังทรงสนับสนุนการทำสงครามในหลายสมรภูมิ ทั้งการรบกับเยเมน เป็นชาติแกนนำการคว่ำบาตรกาตาร์ ตลอดจนทำสงครามน้ำลายกับคู่อริอย่างอิหร่าน ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อสถานการณ์ในภูมิภาค แต่ยังรวมถึงโลกด้วย

ศักราชใหม่ของจีนในยุค สี จิ้นผิง

ปี 2017 ยังมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองโลกเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น การที่นายสี จิ้นผิง ได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุดของจีน เทียบเท่ากับประธานเหมา หลังจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บรรจุ "ความคิดของ สี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่" ลงเป็นหลักการสำคัญในธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรค เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

คำบรรยายวิดีโอ,

'แนวคิด สี จิ้นผิง' คืออะไร?

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับเป็นการเปิดศักราชเข้าสู่ยุคใหม่ที่นายสีครองอำนาจอย่างสมบูรณ์ โดยจีนมุ่งสู่ความเป็นเอกภาพภายในและมั่งคั่งยิ่งขึ้น รวมทั้งแผ่อิทธิพลอย่างกว้างไกลในเวทีนานาชาติ ตามแนวความคิดของนายสี ซึ่งนับแต่นี้บรรดานักเรียนนักศึกษา คนงานในโรงงานต่าง ๆ รวมทั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกว่า 90 ล้านคน จะต้องศึกษาแนวความคิดดังกล่าวให้ขึ้นใจ

นอกจากนี้ "เบร็กซิท" ก็เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลกหลังจากเมื่อช่วงต้นปี ผู้นำสหราชอาณาจักรได้แจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการ "หย่าขาด" จากอียูที่จะมีผลอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2019 หลังจากเป็นสมาชิกมานาน 44 ปี ซึ่งการแยกตัวจากอียูครั้งนี้จะมีผลต่อข้อตกลงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างสองฝ่าย เช่น การเมือง การค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ความมั่นคง การดูแลรักษาความปลอดภัยข้ามเขตแดน และการต่อต้านการก่อการร้าย