อดีตผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา ยื่นฟ้องเฟซบุ๊ก อ้างเพจนายกฯฮุนเซน ซื้อไลค์และผู้ติดตาม

ที่มาของภาพ, AFP
เฟซบุ๊กเคยระบุถึงปัญหาไลค์ผิดกฎ
ทนายความของนายสม รังสี อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลกลางสหรัฐฯ ให้เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมในเพจของนายกรัฐมนตรีสมเด็จ ฮุนเซน ซึ่งเป็นคู่แข่ง หลังจากบริษัทประชาสัมพันธ์เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ ระบุว่า เฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีกัมพูชามีผู้เข้าใช้งานมากเป็นอันดับสามในกลุ่มผู้นำโลก
สำนวนคำฟ้องอ้างว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ใช้งบประมาณรัฐเพื่อซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊ก และทำผิดกฎของเฟซบุ๊ก ด้วยการขู่ฆ่านายสม รังสี กับสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ผ่านโพสต์ว่าจะโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวด
นายริชารด์ โรเจอร์ส ทนายความของนายสม รังสี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนบริษัทโกลบอล ดิลิเจนซ์ ที่มีสำนักงานในกรุงลอนดอนและปารีส กล่าวว่า "เฟซบุ๊กควรป้องกันไม่ให้เว็บไซต์กลายเป็นเวทีที่ถูกบงการเพื่อช่วยสนับสนุนเผด็จการ"
นายสม รังสี ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีสมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2015 อ้างว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซื้อความนิยมบนเฟซบุ๊กจากผู้ให้บริการในอินเดียและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้นิยมกดไลค์เพจของเขาจำนวนมาก ขณะที่ประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งของธุรกิจ "คลิกฟาร์ม" ที่ให้บริการผู้ติดตามและไลค์ปลอมกับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์
ด้านเฟซบุ๊กระบุว่าไลค์ที่ผิดกฎเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากบัญชี้ผู้ใช้ที่ไม่มีตัวตัน หรืออาจมาจากผู้ใช้จริงที่รับจ้างกดไลค์เพจต่าง ๆ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 นายสม รังสีเคยถูกศาลกัมพูชาตัดสินว่ามีความผิด หลังจากกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่า สร้างบัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ปลอมขึ้นเพื่อคอยสนับสนุนเพจของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน
ที่มาของภาพ, Reuters
แม้จะเรียกตัวเองว่าไดโนเสาร์ยุคดิจิทัล แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนปรากฎตัวอยู่ในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง
คำร้องต่อศาลกลางสหรัฐฯ ที่ยื่นในรัฐแคลิฟอร์เนีย เรียกร้องให้เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับไลค์บนเพจของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และการสื่อสารที่เขาพูดคุยในหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตของนายเข็ม เล นักวิจารณ์การเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นายโรเจอร์ส กล่าวว่า ข้อมูลนี้จะช่วยล้างมลทินให้กับนายสม รังสี ในหลายคดีที่กัมพูชา และเปลี่ยนมุมมองที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนชาวกัมพูชามีต่อนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
นายโรเจอร์ส กล่าวว่า "หากคุณจะลงคะแนนให้ผู้ชนะ [เฟซบุ๊ก]คือหนึ่งในหนทางที่จะช่วยแยกแยะได้ว่าใครเป็นผู้ชนะ" ความนิยมบนเฟซบุ๊กของสมเด็จ ฮุนเซน ที่นายโรเจอร์สอ้างว่าเป็นเรื่องหลอกลวง "แสดงให้เห็นว่า เขายังได้รับความนิยม ทั้งที่เขากระทำผิดในหลายกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน"
ผู้ติดตามต้องสงสัยจากนานาชาติ
นายกรัฐมนตรีสมเด็จ ฮุนเซน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้นำกัมพูชามา 33 ปี เริ่มเปิดบัญชีเฟซบุ๊กหลังจากที่พรรคประชาชนกัมพูชา ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ที่นำโดยนายสม รังสี เมื่อปี 2013 โดยหน้าเฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาแสดงให้เห็นถึงบุคลิกที่แข็งแกร่งแต่เข้าถึงง่าย ชอบถ่ายภาพเซลฟี เดินเล่นกับหลาน และว่ายน้ำในทะเล
ภาพลักษณ์ดังกล่าว แตกต่างจากการติดตามปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา กัมพูชาได้สั่งปิดสื่อที่ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐบาลหลายสำนัก สั่งจำคุกผู้สื่อข่าวสองคน และจับกุมนายเกิม โซะคาผู้นำพรรคซีเอ็นอาร์พีในข้อหากบฏ ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้จะไม่มีความน่าเชื่อถือหากขาดพรรคซีเอ็นอาร์พี
ที่มาของภาพ, Reuters
นายสม รังสี ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส
เว็บไซต์ socialbakers.com ระบุว่า ขณะนี้เฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน มีผู้ติดตามจากกัมพูชาประมาณร้อยละ 45 ส่วนของนายสม รังสีมีเกือบร้อยละ 80
อย่างไรก็ตาม นายหุย วันนาค รมช.กระทรวงมหาดไทยกัมพูชา และผู้นำสหภาพผู้สื่อข่าวที่สนับสนุนรัฐบาล ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในคดีที่นายสม รังสี ยื่นฟ้องร้อง โดยกล่าวแต่เพียงคำว่า "โง่" และปกป้องการจำกัดการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก รวมถึงระบุผ่านข้อความว่า "กัมพูชาก็เหมือนกับประเทศอารยะอื่น ๆ คือไม่ได้เปิดเสรีให้มีอาชญากรรมและการหมิ่นประมาทได้"
ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES
นายเกิม โซะคา (ซ้าย) ผู้นำพรรคซีเอ็นอาร์พี ถูกตำรวจจับกุมและตั้งข้อหากบฏ
ส่วนนางเจเนวีฟ เกร์ดีนา โฆษกเฟซบุ๊ก ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในกรณีการยื่นคำร้องของนายสม รังสี เช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัท แต่ระบุว่านับเป็นผลประโยชน์ด้านการเงินของบริษัท ที่จะต้องกำจัดบัญชีปลอมที่บ่อนทำลายความเชื่อถือจากผู้ลงโฆษณา" ขณะที่เฟซบุ๊กยอมรับ ในรายงานผลประกอบการไตรมาสที่สามของปี 2017 ว่ามีผู้ใช้ถึงร้อยละ 13 ที่อาจเป็นบัญชีที่มีผู้ใช้ซ้ำกันหรือเป็นบัญชีปลอมด้านนายมาร์ค เชฟเฟอร์ ที่ปรึกษาด้านการตลาดในสหรัฐฯระบุว่า การซื้อไลค์เป็นเรื่องง่ายและไม่แพง ซึ่งนับเป็นทางลัดสู่การยอมรับทางสังคม "น่าเสียดายที่การกระทำเช่นนี้ กำลังกลายเป็นสิ่งพบได้ทั่วไป"
ส่วนนายดวง ดารา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธเฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า ไม่รู้จักเว็บไซต์อย่าง liftlikes.com ที่ขาย "ไลค์จากผู้ใช้จริง" จำนวน 1,000 ครั้งในราคา 8.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 285 บาท) และถามกลับผ่านข้อความว่า "ซื้อได้หรือ? คุณรู้ว่าซื้ออย่างไรหรือ?" แต่ไม่ตอบคำถามของผู้สื่อช่าว