เพิ่มเติม: รมว.ต่างประเทศอังกฤษจะเยือนเมียนมาถกปัญหาโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนกำลังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งในบังกลาเทศ

ที่มาของภาพ, AFP

นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร จะเริ่มการเดินทางเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยบังกลาเทศ เมียนมา และไทยในวันนี้ (10 ก.พ.) เพื่อหารือกับบรรดาผู้นำเรื่องแก้ไขวิกฤตทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา

นายจอห์นสันจะเดินทางเยือนบังกลาเทศเป็นที่แรก โดยจะพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเชก ฮาซีนา ของบังกลาเทศ และจะเดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ซึ่งติดกับชายแดนเมียนมา เพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยการปราบปรามจากรัฐยะไข่ด้วยตนเอง จากนั้นจะเดินทางไปยังเมียนมา เพื่อหารือกับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ในเรื่องขั้นตอนการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับสู่ถิ่นฐานเดิม และจะเดินทางเยือนรัฐยะไข่ด้วย

นายจอห์นสันระบุว่า "ความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาและความทรมานที่พวกเขาต้องทนรับอยู่ เป็นหนึ่งในหายนะทางมนุษยธรรมที่น่าตระหนกที่สุดของยุคสมัยนี้ เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งอาจจะแก้ไขได้ด้วยเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง ความมีขันติธรรม และความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"

ที่มาของภาพ, PA

คำบรรยายภาพ,

นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร

"ผมอยากจะไปเห็นและได้ยินเรื่องเลวร้ายที่คนเหล่านี้ประสบมาด้วยตนเอง และจะคุยกับออง ซาน ซูจี รวมทั้งผู้นำในภูมิภาคคนอื่น ๆ ว่า เราจะร่วมกันแก้วิกฤตที่น่าตระหนกนี้ได้อย่างไร"

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ยังมีกำหนดจะเข้าพบหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการแก้ปัญหารัฐยะไข่ ในเรื่องของชาวโรฮิงญาหลังจากนั้นด้วย

เปิดภาพเมียนมาสังหารหมู่โรฮิงญา

ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์เปิดเผยรายละเอียดข่าวสืบสวนการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาโดยฝีมือของทหารและชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้นักข่าว 2 คนในสังกัดถูกจับกุมในเมียนมา

ที่มาของภาพ, HANDOUT

คำบรรยายภาพ,

ชายเหล่านี้คือผู้เสียชีวิตในเหตุสังหารที่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์กำลังทำวสืบสวนอยู่

ขณะนี้ผู้สื่อข่าวทั้งสอง คือ นายวา โล และนายจอ โซ อู กำลังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. ความลับของทางราชการ

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างว่า ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวโรฮิงญา 10 คนถูกสังหารในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว และหวังว่าหลักฐานนี้จะยืนยันให้เห็นว่านักข่าวทั้ง 2 คน ทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

คำเตือน: รายงานนี้มีภาพศพของผู้ชายที่ถูกสังาร ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจ

สตีเฟน เจ แอดเลอร์ บรรณาธิการใหญ่ของรอยเตอร์ กล่าวว่า รอยเตอร์เลือกตีพิมพ์ข่าวสืบสวนที่สำคัญยิ่งชิ้นนี้ เพราะว่ามันอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก หลังการหารือกับ นักข่าวทั้งสองและครอบครัวของพวกเขาแล้ว

"เมื่อ วา โล และจอ โซ อู ถูกจับในตอนแรก เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพวกเขาเป็นอันดับแรก เมื่อเราเข้าใจถึงสถานะทางกฎหมายของพวกเขาแล้ว เราได้ปรึกษากับพวกเขาและ ญาติของพวกเขา จากนั้นจึงตัดสินใจว่า นี่เป็นความรับผิดชอบของเราในการตีพิมพ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอินน์ดิน"

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

จอ โซ อู (กลางซ้าย) และ วา โล (กลางขวา) ถูกจับเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

บีบีซี ไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของรายงานชิ้นนี้ได้ อีกทั้งผู้สื่อข่าวถูกจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ แต่รายงานข่าวนี้ถูกเผยแพร่หลังจากมีข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการสังหารหมู่ในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว จากการบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์

วิกฤตในรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อชาวมุสลิมหลายแสนคนได้หนีการปราบปรามที่รุนแรงของกองทัพ

กองทัพเมียนมา ระบุว่า กำลังต่อสู้กับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาในรัฐยะไข่ แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มระบุว่า พลเรือนหลายพันคนถูกสังหาร

เกิดอะไรขึ้นกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์?

วา โล และ จอ โซ อู เป็นผู้สื่อข่าวชาวเมียนมา 2 คน ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวที่ส่งผลกระทบอย่างมาก พวกเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ปีที่แล้ว หลังจากเข้าพบและรับทราบข้อกล่าวหาจากตำรวจ

ทางการระบุว่า พวกเขา "ถูกจับกุมจากการครอบครองเอกสารของรัฐบาลที่มีความสำคัญและเป็นความลับ ซึ่งเกี่ยวกับกองกำลังความมั่นคงและรัฐยะไข่" และ "ได้ข้อมูลมาอย่างผิดกฎหมายเพื่อจงใจที่จะนำไปให้กับสื่อต่างชาติ"

ภายหลังการจับกุม ก็มีการคาดคะเนกันว่า พวกเขากำลังทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่อ่อนไหวอย่างมากอยู่ และล่าสุดทางรอยเตอร์ ก็ได้ตัดสินใจตีพิมพ์รายละเอียดที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างที่ว่า ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คน ถูกจับขณะทำหน้าที่รายงานข่าวที่อยู่ความสนใจของคนทั่วโลก

เรารู้อะไรเกี่ยวกับข่าวสืบสวนนี้?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินน์ดิน ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 2 กันยายนปีที่แล้ว

รอยเตอร์ ระบุว่า ผู้สื่อข่าว 2 คนได้เก็บรวบรวมหลักฐานของการสังหารผู้ชาย 10 คนด้วยการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และถ่ายภาพต่าง ๆ ทางสำนักข่าวระบุว่า เมื่อปะติดปะต่อหลักฐานเหล่านี้ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา

รอยเตอร์ ระบุว่า ชายชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งที่กำลังหลบภัยอยู่บนชายหาดถูกแยกตัวออกจากชาวโรฮิงญาอื่น ๆ ขณะที่หมู่บ้านของพวกเขาถูกบุกรุก

ชายชาวพุทธจากหมู่บ้านเดียวกันถูกสั่งให้ขุดหลุม จากนั้นชายทั้ง 10 คนจึงถูกฆ่า ในจำนวนนี้อย่างน้อย 2 คนถูกชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธถูกฟันเสียชีวิต ส่วนที่เหลือถูกทหารยิงเสียชีวิต

ที่มาของภาพ, HANDOUT

รอยเตอร์ อ้างว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการซัดทอดถึงทหารด้วยหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย และจากปากคำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงด้วยกัน นอกจากนี้ยังอ้างว่า ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธได้ยอมรับสารภาพด้วย

หลังจากการจับกุมผู้สื่อข่าว 2 คนของรอยเตอร์ กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์นี้ การสอบสวนนี้เป็นการยืนยันในสิ่งที่ผู้สื่อข่าวทั้งสองพบว่า มีการสังหารเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาระบุว่า ชาย 10 คนเป็น "ผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี" และระบุว่า พวกเขาถูกสังหาร เพราะพวกเขาไม่สามารถเดินทางออกไปได้ สืบเนื่องจากการโจมตีสถานีตำรวจจากฝีมือของสมาชิกกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา

สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างว่า ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนไม่พบหลักฐานว่าชายทั้ง 10 คนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย โดยผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนได้เปิดเผยว่า พวกเขาถูกเลือกออกมาจากฝูงชน

รอยเตอร์ระบุว่า ผู้สื่อข่าว 2 คนได้พูดคุยกับผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนหนึ่งในหมู่บ้านอินน์ดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และญาติของผู้ชายที่ถูกฆ่า ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ชายคนหนึ่งยอมรับว่าเป็นผู้สังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาคนหนึ่งด้วย

รอยเตอร์ 'ได้ประเมินความเสี่ยงแล้ว'

บทวิเคราะห์: เจมส์ เคลย์ตัน บีบีซี นิวส์ไนต์

การตีพิมพ์รายงานที่อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขัง 2 คนของรอยเตอร์ เป็นการประเมินความเสี่ยงแล้ว ทางสำนักข่าวเชื่อว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนที่ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนกำลังทำอยู่นี้ เป็นผลประโยชน์สาธารณะของคนทั่วโลก รอยเตอร์อ้างว่ารายงานนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าเหตุใด วา โล และ จอ โซ อู ถูกจับกุมตัว

รอยเตอร์ ระบุว่าได้ปรึกษากับผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คน และครอบครัวของพวกเขาแล้ว ผู้สื่อข่าว "สนับสนุนอย่างหนักแน่น" ในการตัดสินใจตีพิมพ์รายงานนี้ของรอยเตอร์

แต่การทำเช่นนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อคดีที่กำลังดำเนินอยู่กันแน่? บรรณาธิการใหญ่ของรอยเตอร์กล่าวกับบีบีซีว่า พวกเขา "ไม่ได้ตัดสินใจจากการพิจารณาด้านกฎหมาย" แม้ว่าทางสำนักข่าวเชื่อว่า รายงานข่าวนี้จะ "ช่วยให้ศาลประเมินได้ว่า วา โล และ จอ โซ อู ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าว และไม่ได้ละเมิด พ.ร.บ.ความลับของทางราชการ"

แต่การทำเช่นนี้ก็อาจทำให้ทางการเมียนมาไม่พอใจด้วยเช่นกัน

รัฐบาลเมียนมาพูดอะไรบ้าง?

บีบีซี ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาเกี่ยวกับข่าวเจาะชิ้นนี้ของทางรอยเตอร์แล้ว และกำลังรอการตอบกลับ อย่างไรก็ตามนายซอ เท โฆษกรัฐบาลเมียนมาได้กล่าวกับรอยเตอร์ว่า "เราไม่ได้กำลังปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

เขากล่าวว่า ถ้ามี "หลักฐานขั้นต้นที่น่าเชื่อถือและหนักแน่น" เกี่ยวกับการกระทำมิชอบ ทางรัฐบาลจะดำเนินการสอบสวน

"จากนั้น ถ้าเราพบหลักฐานว่าเป็นความจริง และมีการละเมิดเกิดขึ้นที่นั่น เราจะดำเนินการจัดการตามที่กฎหมายของเรากำหนด"

เขายังกล่าวปกป้องปฏิบัติการของกองทัพในรัฐยะไข่ด้วยว่า "ประชาคมโลกจำเป็นต้องเข้าใจว่าใครเป็นผู้โจมตีก่อการร้ายก่อน ถ้าการโจมตีก่อการร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นในประเทศในยุโรป ในสหรัฐฯ ในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก กรุงวอชิงตันดีซี สื่อจะรายงานว่าอย่างไร?"

คำบรรยายภาพ,

หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีพบเห็นถูกเผาจนเหลือแต่เพียงเถ้าถ่านและตอตะโก

ต่อเหตุการณ์ในหมู่บ้านอินน์ดิน เจ้าหน้าที่ทางการได้เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับข้อค้นพบหลังจากการสอบสวนการสังหารที่เกิดขึ้นแล้ว โดยระบุว่า จะมีการดำเนินการกับชาวบ้านที่มีส่วนร่วม และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ฝ่าฝืนกฎของการสู้รบ

ในด้านของผู้สื่อข่าว ทางรัฐบาลกล่าวมาโดยตลอดว่า ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนถูกควบคุมตัวจากการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดพ.ร.บ.ความลับของทางราชการเท่านั้น

โฆษกของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมาได้ระบุก่อนหน้านี้ว่า ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนนี้จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ภูมิหลังของวิกฤตที่เกิดขึ้น?

ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 7 แสนคนลี้ภัยออกจากเมียนมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากมีการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา เพื่อตอบโต้สมาชิกกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่โจมตีป้อมตำรวจและสังหารสมาชิกของกองกำลังความมั่นคง

วิกฤตนี้ได้ปะทุขึ้น หลังจากเกิดความตึงเครียดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ มาเป็นเวลาหลายปีระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนกำลังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งในบังกลาเทศ

รายงานของบีบีซี แสดงให้เห็นถึงการเผาหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาเป็นวงกว้าง และขัดแย้งกับการกล่าวอ้างของกองทัพเมียนมาที่ว่า ไม่มีชาวโรฮิงญาถูกบังคับให้ลี้ภัย

นายเซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยกองกำลังของรัฐในเมียนมาไม่ได้เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาเคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ความขัดแย้งนี้ดูเหมือน "จะเป็นตัวอย่างในตำราเรียนเกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์"

กองทัพเมียนมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่หลายครั้ง และทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากมลทินนี้ด้วยการไต่สวนที่ทำขึ้นเป็นการภายใน