ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเฉียดโลกผ่านไปได้โดยปลอดภัย

(แฟ้มภาพจากฝีมือศิลปิน) ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB เฉียดผ่านโลกไปได้โดยไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ,

(แฟ้มภาพจากฝีมือศิลปิน) ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB เฉียดผ่านโลกไปได้โดยไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น

ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB ซึ่งพุ่งเข้ามาใกล้โลกในระยะประชิดเมื่อเวลาเช้าตรู่ราว 4.30 น. ของวันนี้ (10 ก.พ.) เฉียดผ่านโลกไปได้โดยไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น นักดาราศาสตร์บอกว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เท่าวาฬในทะเลเช่นนี้ จะผ่านมาใกล้โลกเพียงปีละหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น

ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB ซึ่งมีขนาด 15-40 เมตร ถูกค้นพบเมื่อ 5 วันก่อนโดยโครงการสำรวจท้องฟ้าคาตาลินา (Catalina Sky Survey ) ในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ โดยโครงการนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์การนาซาให้ติดตามและเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก

ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเคลื่อนผ่านโลกเข้ามาในระยะที่ใกล้กว่า 1 ใน 5 ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือคิดเป็นระยะทางราว 69,700 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งเป็นระดับความสูงสองเท่าเหนือดาวเทียมทั่วไปที่อยู่ในวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit)

นายพอล โชดัส ผู้จัดการศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลกของนาซาบอกว่า "แม้ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็อาจใหญ่กว่าอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชั้นบรรยากาศโลกที่เมืองเชลยาบินสค์ (Chelyabinsk) ของรัสเซีย เมื่อปี 2013 ซึ่งทำให้เกิดเป็นลูกไฟดวงใหญ่บนท้องฟ้า"

เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ. โครงการสำรวจท้องฟ้าคาตาลินาได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาด 15-30 เมตร ที่พุ่งเข้ามาภายในระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยให้ชื่อว่าดาวเคราะห์น้อย 2018 CC ซึ่งเข้าใกล้โลกที่ระยะ 184,000 กิโลเมตร