ผลวิจัยชี้การผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องการจัดการ "อารมณ์" ไม่ใช่ "เวลา"

Putting off til tomorrow...

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลวิจัยชี้ว่าคนจะมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการก่อตัวของสมองของแต่ละคน และเป็นเรื่องของการบริหารอารมณ์มากกว่าการบริหารเวลา

นักวิจัยซึ่งเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Psychological Science ศึกษาเรื่องนี้โดยการใช้แบบสำรวจและสแกนสมองคน 264 คน เพื่อดูว่าเป็นคนที่มีแนวโน้มจะรีบจัดการกับภารกิจตรงหน้าอย่างรวดเร็วแค่ไหน นักวิจัยพบว่ามีสมองอยู่สองส่วนที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะลงมือทำภารกิจตรงหน้าให้เสร็จ หรือเลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ

งานวิจัยพบว่าคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งนั้น มีสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ ทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ ใหญ่กว่า และการเชื่อมต่อของสมองส่วนที่เรียกว่าอมิกดาลา กับส่วนล่างของสมองบริเวณที่เรียกว่า anterior cingulate cortex ไม่ดีเท่าคนอื่น ซึ่งจะมีผลให้สามารถจัดการกับอารมณ์และสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนน้อยกว่า อันจะส่งผลต่อความแน่วแน่ในการจัดการกับภารกิจตรงหน้า

คำบรรยายวิดีโอ,

การผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องการจัดการ "อารมณ์" ไม่ใช่ "เวลา"

แอร์ฮัน เก็นค์ หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยนี้ ซึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยรัว เมืองโบคุม ระบุว่า คนที่มีสมองส่วนอมิกดาลาใหญ่กว่าคนอื่นอาจจะวิตกกังวลว่าหากตัวเองลงมือทำอะไรแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมา ดังนั้นคนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะลังเลและผัดวันประกันพรุ่ง

ศ. ทิม พิชชิล จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ที่เมืองออตตาวา ผู้ศึกษาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งมาหลายทศวรรษ เชื่อว่า นี่เป็นปัญหาของการจัดการกับอารมณ์มากกว่าจัดการเวลา โดยบอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ และสมองส่วนที่ใช้ในการจัดการอารมณ์สามารถครอบงำความสามารถในการจัดระเบียบตัวเองได้

ศ.พิชชิล บอกต่ออีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสมองเกิดขึ้นได้ และเคยมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการฝึกสติและทำสมาธิมีความเกี่ยวข้องกับการหดตัวของสมองส่วนอมิกดาลา และการขยายตัวของส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก (pre-frontal cortex) และทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมองทั้งสองส่วนนั้นอ่อนแอลง

ดร.แคโรไลน์ ชลึทเทอร์ หัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ บอกว่า สมองของคนเรามีความสามารถในการตอบสนอง และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต

คนนอน

ที่มาของภาพ, Science Photo Library

คำแนะนำสำหรับผู้ชอบผัดวันประกันพรุ่ง

-หากคุณไม่มีกำหนดเส้นตาย ก็ให้กำหนดเวลาในการทำงานแทน เช่น ทำงาน 25 นาที และหยุดพัก 5 นาที หรือพักนานกว่านั้น หากกำหนดเวลาทำงานไว้ 90 นาที

-เขียนภารกิจที่คุณต้องทำทั้งหมด จากนั้นแบ่งภารกิจแต่ละอย่างออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ทำงานแต่ละชิ้นเสร็จง่ายขึ้น

-พยายามลดสิ่งที่จะมารบกวนความสนใจ เช่น ปิดเสียงเตือนอีเมล ปรับโทรศัพท์มือถือให้เป็นโหมดสำหรับขึ้นเครื่องบิน หรือไปทำงานในที่ ๆ คุณจะไม่ถูกรบกวน

-แทนที่จะทำงานที่ต้องทำ เราอาจจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น และบอกตัวเองว่าเราไม่ว่าง แต่หากจริง ๆ แล้วคุณมีเวลา คุณก็ต้องลงมือทำงานนั้นเสีย