การศึกษาของประเทศไหนต้องจ่ายเงินซื้อแพงที่สุดในโลก?

บัณฑิตโยนหมวก

ที่มาของภาพ, Getty Images

ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงถือว่าเป็นฤดูกาลที่เริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในหลายประเทศของโลกตะวันตก โดยบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ต่างก็วิตกกันถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายก้อนโตช่วงเปิดเทอมที่รออยู่เป็นอันดับแรก ซึ่งก็น่าสงสัยว่า ผู้คนในแต่ละประเทศหรือภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนกันเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง

เงิน 9 แสนล้านบาทซื้อกาวกับกระดาษได้มากแค่ไหนกัน ?

โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางทั่วไปในสหรัฐฯ จะต้องใช้จ่ายเงินราว 685 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 22,500 บาท) เพื่อซื้อสิ่งของจำเป็นในช่วงเริ่มปีการศึกษาใหม่ให้กับลูกที่เรียนอยู่ในชั้นประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งจำนวนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบ 250 ดอลลาร์ (ราว 8,200 บาท) เมื่อเทียบกับตัวเลขสถิติโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา

เมื่อนำค่าใช้จ่ายนี้ไปคำนวณต่อ จะพบว่าครัวเรือนทั้งหมดในสหรัฐฯต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้ไปอย่างมหาศาล รวมถึง 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9 แสนล้านบาท สำหรับปีการศึกษา 2018

ในบรรดาสิ่งจำเป็นเพื่อการศึกษาเหล่านี้ อุปกรณ์การเรียนที่มีราคาแพงที่สุดได้แก่คอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละครัวเรือนควักกระเป๋าจ่ายไปในราคาโดยเฉลี่ย 299 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 9,800 บาท) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องแบบเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงรองลงมาที่ 286 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 9,400 บาท)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เฉลี่ยแล้วครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางทั่วไปในสหรัฐฯ จะต้องใช้จ่ายเงินราว 685 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 22,500 บาท) เพื่อซื้อสิ่งของจำเป็นในช่วงเริ่มปีการศึกษาใหม่ให้กับลูกที่เรียนอยู่ในชั้นประถมและมัธยมศึกษา

รายการนี้ตามมาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นแท็บเล็ตและเครื่องคิดเลข (8,900 บาท) แม้กระทั่งสินค้าที่ถูกที่สุดอย่างสมุดบันทึก แฟ้มเอกสาร และเครื่องเขียนจิปาถะต่าง ๆ ก็ยังต้องจ่ายไปถึง 112 ดอลลาร์สหรัฐฯ (3,700 บาท) โดยสิ่งจำเป็นเพื่อการศึกษาเหล่านี้ยังคงมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

เด็กที่เดนมาร์กต้องเรียนมากกว่าคนอื่นปีละ 200 ชั่วโมง

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ชี้ว่าในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว 33 ชาติ รัสเซียกำหนดชั่วโมงเรียนขั้นต่ำให้กับเด็กนักเรียนน้อยที่สุดเพียง 500 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 800 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับว่าเด็กรัสเซียเรียนวันละ 5 ชั่วโมง มีช่วงพักเบรกระหว่างแต่ละวิชา และหนึ่งปีการศึกษาจะมีการเรียนการสอนเพียง 8 เดือนเท่านั้น ซึ่งน่าประหลาดใจว่ารัสเซียมีอัตราการรู้หนังสือของพลเมืองเกือบ 100% เต็ม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เดนมาร์กมีคุณภาพการศึกษาที่ดีและนักเรียนผ่านการทดสอบวัดผลได้คะแนนสูงติด 5 อันดับแรกของโลก

สถิติเหล่านี้ตรงข้ามกับระบบการศึกษาของเดนมาร์กอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้แต่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาก็ยังต้องมีชั่วโมงเรียนมากถึง 1,000 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเท่ากับว่ามีช่วงเวลาของปีการศึกษายาวนานกว่ารัสเซียเกือบ 2 เดือนเต็ม แต่อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กมีคุณภาพการศึกษาที่ดีและนักเรียนผ่านการทดสอบวัดผลได้คะแนนสูงติด 5 อันดับแรกของโลก

ถ้าอยากจ่ายถูก อย่าไปเรียนที่ฮ่องกง

ค่าใช้จ่ายทางการศึกษายังขึ้นอยู่กับว่าเรียนที่ไหนด้วย โดยความแตกต่างระหว่างแต่ละประเทศอาจสูงได้กว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.3 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่านี้รวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าตำรา ค่าเดินทาง และค่าที่พัก ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่เข้าเรียนชั้นประถมจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ฮ่องกงคือสถานที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าการศึกษาให้กับบุตรหลานในราคาแพงที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วต้องจ่ายไปทั้งสิ้น 131,161 ดอลลาร์สหรัฐฯ (4.3 ล้านบาท)

ผลสำรวจที่จัดทำโดยธนาคาร HSBC ระบุว่า ฮ่องกงคือสถานที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าการศึกษาให้กับบุตรหลานในราคาแพงที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วต้องจ่ายไปทั้งสิ้น 131,161 ดอลลาร์สหรัฐฯ (4.3 ล้านบาท) เพื่อส่งเสียลูก 1 คนให้เรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา

ประเทศที่ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนแพงเป็นอันดับสองรองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยแต่ละครอบครัวต้องจ่ายให้กับลูก 1 คนราว 3.25 ล้านบาท ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 2.33 ล้านบาทโดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ในประเทศโลกตะวันตกนั้นจ่ายค่าการศึกษาให้กับลูกโดยเฉลี่ยน้อยกว่าในภูมิภาคเอเชียมาก เช่นที่ฝรั่งเศสผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้ทั้งหมดให้กับลูก 1 คนเพียง 5 แสนบาท ส่วนที่สหรัฐฯ นั้น พ่อแม่ที่มีลูกเรียนระดับอุดมศึกษาควักกระเป๋าจ่ายเพียง 23% ของค่าการศึกษาต่อปีของลูกเท่านั้น

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักเรียนของออสเตรเลียมี "อายุคาดเฉลี่ย" (Life expectancy) ในระบบการศึกษาสูงสุดที่ 22.9 ปี

"อายุคาดเฉลี่ย" ในระบบการศึกษาสูงสุด: ออสเตรเลีย

ระยะเวลาที่ประชากรแต่ละคนจะได้เข้าสู่ระบบการศึกษา หรือจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่คาดว่าเด็กคนหนึ่งจะได้เรียนหนังสือนั้น สำหรับออสเตรเลียแล้วถือว่าครองแชมป์โลกในเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยนักเรียนของแดนจิงโจ้มี "อายุคาดเฉลี่ย" (Life expectancy) ในระบบการศึกษาสูงสุดที่ 22.9 ปี ซึ่งหมายความว่าแต่ละคนจะได้รับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงระดับสูงสุด ระหว่างที่มีอายุ 6-28 ปี

ประเทศที่มีอายุคาดเฉลี่ยทางการศึกษาต่ำที่สุดในโลกคือไนจีเรีย ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 7 ปี และได้เรียนหนังสือต่อไปอีกโดยเฉลี่ยนานเพียง 5.3 ปีเท่านั้น ซึ่งนับว่าต่างจากออสเตรเลียมากถึง 17 ปี