นาโอมิ โอซากา: นักเทนนิสผิวดำลูกครึ่งญี่ปุ่น ผู้ท้าทายอคติทางเชื้อชาติ

ที่มาของภาพ, Corbis via Getty Images
แม้คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการแรกในชีวิต แต่นาโอมิ (ขวา) ต้องปาดน้ำตาจากเหตุ "ดรามา" ระหว่างแข่งขัน ก่อนที่เซเรนา (ซ้าย) จะกล่าวปกป้องเธอว่า "เด็กคนนี้เล่นได้ดี นี่คือแชมป์แรกของเธอ ฉันรู้ว่าพวกคุณ (แฟน ๆ) คิดอะไร แต่หยุดโห่เถอะ ยินดีกับนาโอมิด้วย"
"ฉันขอโทษที่มันต้องจบลงแบบนี้ แต่ก็อยากจะขอบคุณที่ทุกคนดูแมตช์นี้ มันเป็นความฝันที่ได้เล่นกับเซเรนาในรอบชิงฯ ขอบคุณจากใจ" นาโอมิ โอซากา กล่าวหลังคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่น เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเช้ามืดวันอาทิตย์ตามเวลาในประเทศไทย
ชัยชนะของเธอช่วยเปิด "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่" ให้วงการเทนนิส เพราะถือเป็นนักเทนนิสญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการโค่นแชมป์ยูเอส โอเพ่น 6 สมัยจากสหรัฐฯ อย่าง เซเรน่า วิลเลียมส์ ผู้เป็นไอดอลของเธอ
ก่อนความสำเร็จของนักหวดลูกสักหลาดชาวญี่ปุ่นจะมาถึง ได้เกิดเรื่อง "ดรามา" ระหว่างการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศหญิงเดี่ยว ในเซ็ทที่สอง เมื่อผู้ตัดสิน เตือนเซเรนาหลังเห็นว่าโค้ชของเธอทำทีเหมือนพยายามสอนหรือส่งสัญญาณบางอย่างให้ แต่เธอเถียงกลับว่า "ไม่เคยโกงการแข่งขัน"
จากนั้นเมื่อถูกเบรคเกมเสิร์ฟ เซเรนาโมโหจัดถึงขั้นเขวี้ยงไม้เทนนิสลงพื้นจนไม้หักงอ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎครั้งที่สอง ทำให้ถูกสั่งตัดแต้ม สร้างความหัวเสียเพิ่มเติมให้เธอและเดินไปถกเถียงผู้ตัดสินว่า "โค้ชไม่ได้สอนฉัน ฉันไม่เคยโกงการแข่งขัน ถ้าจะโกงขอเป็นฝ่ายแพ้ดีกว่า" การโต้เถียงกับผู้ตัดสินยังเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงขั้นเรียกผู้ตัดสินว่า "หัวขโมย" ปล้นคะแนนของเธอไป พร้อมเรียกร้องให้เอ่ยคำขอโทษเธอกรณีตัดสินว่าแอบดูสัญญาณจากโค้ช ร้อนถึงคณะกรรมการการจัดการแข่งขันต้องลงมาเคลียร์เอง
ที่มาของภาพ, Corbis via Getty Images
แม้เซเรนาพยายามประคองสติ และเล่นต่อจนจบเกม แต่โอซากะวัย 20 ปีเป็นฝ่ายคุมเกมได้เหนือกว่า และเอาชนะนักเทนนิสรุ่นพี่ไปได้ชนิดที่ไม่กล้าแสดงความดีใจมากนัก เพราะมีเสียงโห่จากคนดูต่อผู้ตัดสินดังขึ้นเป็นระยะ ๆ
ที่มาของภาพ, Getty Images
นาโอมิ โอซากา ไม่ได้เผชิญกับปัญหาเดียวกันกับชาวญี่ปุ่นลูกผสมที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ
ย้อนกลับไปปี 2016 ผู้สื่อข่าวสายกีฬารวมตัวกันอยู่ในห้องแถลงข่าวที่การแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่น พวกเขาถูกขอให้ถาม นาโอมิ โอซากา เป็นภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นค่อยถามเป็นภาษาญี่ปุ่น
"กรุณาใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้นนะคะ" นักเทนนิสวัย 18 ปีในขณะนั้น กล่าวขอร้องอย่างสุภาพ และกล่าวเพิ่มเติมว่า เธอกำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่
เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ใช่การสร้างความประหลาดใจเพียงครั้งเดียวของโอซากา
เธอเกิดในญี่ปุ่น โดยมีแม่เป็นชาวญี่ปุ่นและพ่อเป็นชาวเฮติ เธอเล่นให้กับญี่ปุ่น แต่เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ
หลังจากชนะเทนนิสอาชีพรายการแรกคือ อินเดียน เวลส์ ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ เธอก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการแข่งขันยูเอสโอเพ่น โดยเอาชนะ เซเรนา สองเซ็ทรวด 6-2 และ 6-4 คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการแรกในชีวิต
เธอมาถึงจุดนี้ได้ ขณะที่ยังต้องต่อสู้กับอคติด้านเชื้อชาติ เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายอย่างมาก ในการสำรวจที่ทำโดยกระทรวงยุติธรรมในปี 2016 พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ระบุว่า เคยเผชิญกับคำพูดดูหมิ่น และ 40% ถูกเลือกปฏิบัติด้านที่อยู่อาศัย
ที่มาของภาพ, Getty Images
การใช้ชีวิตร่วมกันของ ลีโอนาร์ด และทามากิ (กลาง) พ่อแม่ของนาโอมิ ถูกพ่อของทามากิ เรียกว่า เป็น "ความอัปยศ"
อาเรียนา มิยาโมโตะ นางแบบลูกผสมซึ่งคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สเจแปนในปี 2015 ตกเป็นเป้าถูกล่วงละเมิดด้านเชื้อชาติจากคนในประเทศ หลังจากชนะการประกวด
ชาวญี่ปุ่นเห็นว่า หน้าของเธอไม่มีความเป็นญี่ปุ่นที่แท้จริง
มิยาโมโตะ เป็นคนผิวดำ และเป็นชาวญี่ปุ่นเหมือนกับ โอซากา แต่นักเทนนิสสาวกลับได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป เธอได้รับการยอมรับจากสังคมญี่ปุ่น มีผู้ชื่นชอบไปให้กำลังใจเธอที่สนามแข่งขัน และบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งก็ให้การสนับสนุนเธอ เจ้าหน้าที่ทางการด้านกีฬาหวังว่าเธอจะช่วยคว้าเหรียญรางวัลให้แก่ญี่ปุ่นในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก
นอกจากนี้ยังอาจเป็นเพราะ เธอเป็นผู้เล่นหญิงของญี่ปุ่นที่มีอันดับโลกสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดยปัจจุบันเธอเป็นมือวางอันดับ 19 ของโลก และเธอยังคงเป็นนักเทนนิสหญิงเพียงคนเดียวของญี่ปุ่นที่อยู่ในมือวาง 50 อันดับแรกของโลกในปัจจุบันด้วย แต่เพื่อนร่วมอาชีพบางส่วนก็ยังรู้สึกว่า เธอไม่ใช่ผู้เล่นญี่ปุ่นที่แท้จริง
ที่มาของภาพ, Getty Images
โอซากา เอาชนะ เซเรนา วิลเลียมส์ ในการแข่งขัน ไมอามีโอเพ่น ปีนี้
"ฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นอเมริกัน ฉันเข้าใจภาษาญี่ปุ่น และพูดญี่ปุ่นเมื่ออยากจะพูด ฉันเติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเฮติ" เธอกล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ เมื่อเดือนที่แล้ว และบอกด้วยว่า เธอขี้อาย และเป็นพวกเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์มากเกินไป จนไม่กล้าพูดภาษาญี่ปุ่นต่อสาธารณชน
เธอยังมีความตึงเครียดบางอย่างภายในครอบครัวด้วย เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. วันที่ชาวอเมริกันฉลองคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 1967 ที่ยกเลิกการห้ามการแต่งงานข้ามเชื้อชาติใน 16 รัฐของสหรัฐฯ ทามากิ แม่ของเธอ ได้โพสต์ภาพหลายภาพลงทางโซเชียลมีเดีย
หนึ่งในภาพที่ทามากิโพสต์คือภาพเก่าของเธอ และลีโอนาร์ด สามี ตามมาด้วยข้อความที่แสดงให้เห็นว่า เธอคิดถึงสิ่งที่ครอบครัวของเธอเห็นว่า ความรักกับผู้ชายผิวดำเป็น "ความอัปยศ" ของครอบครัว
ที่มาของภาพ, Getty Images
อาเรียนา มิยาโมโตะ เติบโตในญี่ปุ่น และเผชิญกับอคติ แม้ว่าจะชนะการประกวดมิสเจแปนในปี 2015
การที่ครอบครัวไม่ให้การยอมรับคือเหตุผลที่ทามากิและลีโอนาร์ดย้ายจากเมืองชายฝั่งที่ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ ไปอยู่ที่นครโอซากา ซึ่งเป็นเมืองที่นาโอมิ โอซากา เกิด จากนั้นเธอก็ไม่ได้ติดต่อกับญาติเลยนานกว่า 10 ปี
ทุกวันนี้ คุณตาของโอซากา ได้เปลี่ยนเป็นคนละคน เขาเคยพบกับ โอซากา ตอนเธออายุ 11 ขวบ แล้วก็รู้สึกไม่พอใจที่เธอทุ่มเทเวลาให้กับการเล่นเทนนิส ซึ่งในความเห็นเขา เทนนิส เป็นเพียงงานอดิเรก
แต่ปัจจุบัน เขาส่งข้อความและของขวัญจากญี่ปุ่นไปให้ โอซากา กระทั่งให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นหลังจากที่หลานสาวชนะการแข่งขันอินเดียนเวลส์ ตามรายงานระบุว่า เพื่อแสดงให้คนในประเทศเห็นว่า หลานสาวของเขา "มีรากเหง้าเป็นชาวญี่ปุ่น"
ถ้าโอซากา เอาชนะไอดอลของเธอได้ในการแข่งขันยูเอสโอเพ่นรอบชิงชนะเลิศ เธอจะกลายเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ชนะการแข่งขันรายการแกรนด์สแลมในประเภทเดี่ยว ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้นอีก หลังจบการแข่งขัน