“ฝึกเดินครึ่งปีเพื่อสวนสนาม 10 นาที” ชีวิตทุกข์ยากของพลเมืองเกาหลีเหนือ
- ลอรา บิกเกอร์
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล

ที่มาของภาพ, Reuters
ผู้เข้าขบวนสวนสนามต้องฝึกหนักวันละ 10 ชั่วโมง นานถึง 6 เดือน เพื่อให้เดินได้เข้มแข็งพร้อมเพรียงกัน
ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ย.) จะเป็นวันครบรอบ 70 ปีการสถาปนาก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) หรือเกาหลีเหนือ ซึ่งภาพที่คุ้นตาคนทั่วโลกในทุกปีคือการสวนสนามเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยใช้พลเรือนและทหารหลายหมื่นคนเข้าร่วมขบวน ทั้งมีการโชว์อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อแสดงแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของกองทัพไปในเวลาเดียวกัน
สื่อมวลชนจากต่างประเทศหลายสำนักได้รับเชิญให้เข้าร่วมรายงานข่าวพิธีสวนสนามอันตระการตานี้ แต่สิ่งที่ชาวโลกจะไม่ได้เห็นคือเบื้องหลังการเดินแถวและเต้นระบำอย่างพร้อมเพรียงเหลือเชื่อ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกซ้อมที่ยากลำบากยาวนานหลายเดือน เพียงเพื่อสร้างภาพน่าประทับใจออกสู่สายตาชาวโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น
"พิธีสวนสนามแบบนี้คือสัญลักษณ์แห่งความเป็น 'รัฐนาฏกรรม'ของเกาหลีเหนือ โดยจะระดมคนจำนวนหลายหมื่นให้มารวมกลุ่มกันแสดงออกซึ่งความรักชาติบ้านเมืองและเทิดทูนบูชาผู้นำ รวมทั้งตอกย้ำคำขวัญเชิงอุดมการณ์เก่า ๆ" นายปักซกจึล จากองค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพในเกาหลีเหนือ (Liberty in North Korea) กล่าว
"คุณมองเห็นคนเหล่านี้ได้ แต่จะไม่มีวันได้ยินเสียงพวกเขาเปิดปากพูด อย่างไรก็ตามพวกเขาพร้อมจะแสดงความเห็นต่างออกมาได้ทุกขณะหากมีโอกาส"

ที่มาของภาพ, EPA
มีการโชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ในขบวนสวนสนาม เพื่อแสดงแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของกองทัพเกาหลีเหนือ
"เสื้อของพวกเราติดไฟลุกไหม้"
นางคิม จี ยัง ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือวัย 36 ปี ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ในกรุงโซลของเกาหลีใต้เล่าว่า สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในกรุงเปียงยาง เธอและเพื่อนเข้าร่วมขบวนสวนสนามโดยทำหน้าที่เป็นผู้ถือคบเพลิง เพื่อจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผู้นำสูงสุดคนแรกของประเทศคือคิม อิล ซุง ได้สู้รบในยามค่ำคืนเพื่อปลดปล่อยเกาหลีเหนือจากการยึดครองของญี่ปุ่น
"มีการจุดพลุและแปรอักษรด้วยคบเพลิงซึ่งแลดูสวยงามตระการตามาก แต่เสื้อผ้าของพวกเราต้องไหม้ไฟอยู่บ่อยครั้งระหว่างที่ฝึกหนักถึง 6 เดือน เราถือคบเพลิงแล้วเดินไปข้างหน้า โดยผู้นำขบวนจะร้องตะโกนว่า 'ฮูเร่! สหายคิม อิล ซุง ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่' ซึ่งเราต้องขานรับว่า 'ฮูเร่ ฮูเร่ ฮูเร่' สามครั้ง"
"ขณะเดินตาต้องมองตรงไปยังเวที ทั้งต้องถือคบเพลิงให้ได้ระดับที่ถูกต้อง และเพื่อให้เดินสวนสนามได้พร้อมเพรียง เราต้องยกขาข้างที่อยู่ด้านหลังขึ้นในทันทีที่ขาซึ่งก้าวไปข้างหน้าแตะพื้น ซึ่งก็ทำได้ยากมาก ทุกคนต่างน้ำหนักลดไปอย่างน้อย 5 กิโลกรัมจากการฝึกแบบนี้ คนที่ทำได้ดีจะมีเหรียญรางวัลให้ แต่คนที่ทำพลาดจะถูกดุว่า"
ประชาชน-เจ้าหน้าที่ ต้องลำบากกันถ้วนหน้า
นายโนห์ ฮี ชาง อดีตเลขาธิการคนหนึ่งของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเล่าว่า ก่อนที่เขาจะแปรพักตร์มาใช้ชีวิตในเกาหลีใต้เมื่อ 4 ปีก่อน เขาเคยต้องทำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้าร่วมขบวนสวนสนาม รวมทั้งนักร้องนักแสดงที่ร่วมในงานพิธีดังกล่าว ซึ่งต้องคัดจากการสอบประวัติเพื่อเฟ้นหาผู้ที่มาจากครอบครัวซึ่งจงรักภักดีต่อท่านผู้นำอย่างสุดจิตสุดใจ โดยทั้งวงศ์ตระกูลจะต้องไม่มีประวัติในเรื่องนี้ด่างพร้อยไปจนถึงชั้นญาติในสายที่ห่างกัน

ที่มาของภาพ, Reuters
ผู้เข้าร่วมขบวนต้องมาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องความจงรักภักดี
"เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว เรื่องนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดทีเดียว แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคก็พบกับความยากลำบากเหลือแสน จากแรงกดดันให้ต้องทำทุกสิ่งอย่างให้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นจนจบงาน" นายโนห์กล่าว
"ผู้เข้าขบวนสวนสนามส่วนใหญ่ถูกคัดเลือกมาจากโรงเรียนทหารหรือสถาบันชั้นนำของกองทัพ ต้องฝึกหนักวันละ 10 ชั่วโมงเป็นเวลานานหลายเดือน การจัดหาอาหารมาเลี้ยงคนเหล่านี้เป็นเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ มีหลายคนที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรีบจัดหาคนมาเปลี่ยนตัวในทันที"
"ช่วงที่เกาหลีเหนือแห้งแล้ง จนเราอดอยากขาดแคลนอาหารในสมัยของคิม จอง อิล ผมจำได้ว่าคนนับแสนต้องมาซ้อมเดินสวนสนามตั้งแต่เช้าจรดค่ำท่ามกลางอากาศร้อนจัด โดยไม่มีอาหารตกถึงท้อง"
"แต่ชาวเกาหลีเหนือถูกสอนมาว่า 'ถ้ากำแพงสะเทือน ขุนเขาก็ต้องสั่นไหวไปด้วย' ซึ่งหมายความว่าหากผู้นำมีคำสั่งอย่างไร ประชาชนก็ต้องเชื่อฟังตามนั้น นั่นคือระบอบที่เป็นอยู่"

ที่มาของภาพ, AFP
ทุพภิกขภัยในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายแสนคน
สวนสนามเพื่อความอยู่รอด
สหประชาชาติคาดการณ์ว่า มีประชากรเกาหลีเหนือถึง 40% หรือกว่า 10 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาความอดอยากหิวโหยอย่างเร่งด่วน และมีเด็กถึง 20% ที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งเป็นประวัติการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีในปีนี้ อาจทำให้การเก็บเกี่ยวพืชผลทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนนำมาซึ่งภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหารได้อีกครั้ง
แต่ถึงกระนั้น ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือก็ยังบอกว่า "ไม่มีสิ่งใดจะมามีความสำคัญเหนือกว่าการแสดงความภักดีระหว่างเดินสวนสนามอีกแล้ว เราต่างต้องร้องตะโกนว่า 'ผู้นำจงเจริญ' ให้ดังสุดเสียง แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเดินเพียง 100 เมตรเสียงในลำคอก็หายไปจนหมด จะพูดอะไรกับเพื่อนก็ไม่รู้เรื่องกัน" นางคิม จี ยัง กล่าว
"พวกเราที่มาเดินสวนสนามต่างก็เป็นลูกของเจ้าหน้าที่พรรคระดับกลางและระดับสูงกันทั้งนั้น จึงไม่มีใครกล้าออกปากบ่นเรื่องความยากลำบากต่าง ๆ เพราะถ้าเสียงวิจารณ์ไปถึงหูของคนในพรรคแล้ว คนที่กล้าพูดอาจจะหายตัวไปเฉย ๆ ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีใครบ่น"
"คนต่างชาติคงจะประหลาดใจมากที่ได้รู้เรื่องนี้ พวกเราฝึกหนักถึงหกเดือนโดยแทบไม่ได้กินอาหาร เหงื่อไหลเป็นสายน้ำเพื่ออะไร ? เพื่อมาเดินสวนสนามแค่สิบนาทีงั้นหรือ ? นี่เป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ฉันหวังว่าในวันข้างหน้าโลกจะได้เห็นถึงเรื่องจริงเบื้องหลังของเกาหลีเหนือกันมากกว่านี้"

ไร้นักเรียนนายร้อยตํารวจหญิง สิทธิของผู้เสียหายหญิงและเด็กจะเป็นอย่างไร
กลุ่มสิทธิสตรีมองว่าการยกเลิกการรับสตรีเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศและปฏิญญาของสหประชาชาติ ด้านโฆษกตำรวจระบุเป็นไปตามการปรับหลักสูตรของกระทรวงกลาโหม