เพลงประเทศกูมี : เผยเพลงฉาวที่บีบีซีเคยแบนในอดีต

บีบีซี

ในขณะที่บทเพลง "ประเทศกูมี" ของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship กำลังสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทย จากเนื้อหาของเพลงที่สะท้อนสภาพสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา จนถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากทางการไทยนั้น หากมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มีให้เห็นเรื่อยมาไม่เฉพาะในประเทศไทย ทว่าได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงอังกฤษด้วย

บีบีซี ได้รวบรวมบทเพลงเนื้อหาอื้อฉาวที่เคยถูกบีบีซีห้ามออกอากาศในอดีต ซึ่งเพลงเหล่านี้ได้จุดประเด็นถกเถียงขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมจากการมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ระบอบกษัตริย์ และเรื่องเพศที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของบ้านเมืองในยุคนั้น

บทเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ

เพลง Jackie ของ สก็อต วอล์กเกอร์ ถือเป็นเพลงแรกที่ถูกสถานีวิทยุเรดิโอ 1 ของบีบีซีแบนในปี 1967 จากเนื้อเพลงที่กล่าวถึงความรักแบบชายรักชาย และยาเสพติด

เพลง I Want Your Sex ถือเป็นซิงเกิลเดี่ยวเพลงแรกของ จอร์จ ไมเคิล นับแต่เขาแยกจากคู่หูวง Wham! อย่าง แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์ โดยตอนที่เพลงถูกปล่อยออกมาในปี 1987 นั้น เป็นยุคที่เพลงป็อปแดนซ์สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคำว่า Sex ปรากฏอยู่ในชื่อเพลง

ด้วยเหตุนี้ บีบีซีจึงจำกัดการออกอากาศเพลงและมิวสิควิดีโอเพลงนี้จากการที่มีชื่อและเนื้อหาส่อไปทางเพศมากเกินไป

คำบรรยายภาพ,

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเพลง I Want Your Sex ของจอร์จ ไมเคิล ส่งเสริมให้คนมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วครั้งชั่วคราวในยุคที่เอดส์กำลังระบาด

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเพลงนี้ส่งเสริมให้คนมีเพศสัมพันธ์แบบที่มักเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย ๆ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่โรคเอดส์กำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับสังคม และเพลงนี้ยังมีขึ้นกว่า 10 ปีก่อนที่ จอร์จ ไมเคิล จะออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าเขาเป็นผู้มีรสนิยมรักผู้ชายด้วยกัน

เพลง Glad To Be Gay ของ ทอม โรบินสัน ถูกปล่อยออกมาหลังจาก โรบินสัน เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ในปี 1976 เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นสำหรับงานพาเหรดชาวเกย์ จากนั้นได้กลายมาเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการของเหล่าคนรักเพศเดียวกันในอังกฤษ

เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิ้ล แต่บีบีซีปฏิเสธที่จะเปิดเพลงนี้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ เรดิโอ 1 อย่างไรก็ตาม จอห์น พีล ดีเจชื่อดังในยุคนั้นมักฝ่าฝืนด้วยการเปิดเพลงนี้ออกอากาศอยู่ดี !

เพลง Lola ของ The Kinks วงร็อกสัญชาติอังกฤษซึ่งแต่งโดย เรย์ เดวีส์ นักร้องนำของวง มีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มคนหนึ่งกับ "หญิงสาว" ที่ตอนหลังปรากฏว่าเป็น "สาวประเภทสอง"

เพลงที่ออกมาในปี 1970 นี้ ถูกบีบีซี รวมทั้งสื่อในออสเตรเลียห้ามออกอากาศ ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันในเพลง แต่เป็นเพราะในเนื้อเพลงมีคำว่า "โคคา-โคลา" ซึ่งขัดต่อนโยบายเรื่องการห้ามโฆษณาสินค้าของบีบีซี

การถูกแบนจากบีบีซีทำให้ เดวีส์ ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินสายเปิดการแสดงในสหรัฐฯ ต้องบินกลับกรุงลอนดอนกะทันหัน เพื่อร้องแก้เนื้อเพลงจากเดิม "โคคา-โคลา"เป็น "เชอร์รี-โคลา" เพื่อออกซิงเกิ้ลเพลงนี้

เพลง French Kiss ของ ลิล หลุยส์ ดีเจชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นเพลงเฮาส์ฮิตติดชาร์ตทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกาเมื่อปี 1989

อย่างไรก็ตาม จังหวะดนตรีที่เร่าร้อน ประกอบกับเสียงร้องครวญครางของหญิงสาวในเพลง ซึ่งฟังดูไม่ต่างจากเพลง "ครางชื่ออ้ายแน" ของไทยที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ ได้ถูกมองว่าสื่อถึงเรื่องเพศมากเกินไปสำหรับบีบีซี

แม้จะถูกแบน แต่เพลงนี้ก็ทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 ของชาร์ตเพลงฮิตในสหราชอาณาจักรขณะนั้น

บทเพลงเสียดสีการเมือง สงคราม และระบอบกษัตริย์

เพลง God Save The Queen ของ Sex Pistols วงพังค์ร็อกที่เป็นตำนานของอังกฤษ ถูกบีบีซีห้ามออกอากาศเมื่อปี 1977

แม้เพลงนี้จะมีชื่อเดียวกับเพลงชาติสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศในเครือจักรภาพ แต่เนื้อหาของเพลงเป็นการโจมตีการปกครองระบอบกษัตริย์และรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้น

เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงการฉลองครองราชย์ครบ 25 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง โดยเนื้อหาในเพลงเปรียบสมเด็จพระราชินีนาถฯ กับลัทธิฟาสซิสต์ และว่า "ไม่มีอนาคตสำหรับจักรวรรดิอังกฤษที่เคยรุ่งเรือง"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

God Save The Queen มีเนื้อหาเปรียบสมเด็จพระราชินีนาถฯ กับลัทธิฟาสซิสต์ และว่า "ไม่มีอนาคตสำหรับจักรวรรดิอังกฤษที่เคยรุ่งเรือง"

แม้จะถูกสื่อกระแสหลักของประเทศแบน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความนิยมของ God Save The Queen ที่ไต่ขึ้นอันดับเพลงฮิตติดชาร์ตได้สำเร็จในตอนนั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพลงของ Sex Pistols ถูกบีบีซีแบน เพราะก่อนหน้านี้ไม่ถึงหนึ่งปี บีบีซีได้แบนเพลง Anarchy In The UK ของวงจากกรณีที่สมาชิกวงไปออกรายการโทรทัศน์ Today ของบีบีซีแล้วกล่าวคำสบถออกอากาศ

เพลง Atomic ของวงป็อป-ร็อกอเมริกัน Blondie

นี่คือ 1 ใน 67 เพลงที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเพลงที่ไม่เหมาะสมจะเปิดออกอากาศของบีบีซีในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง

คำบรรยายภาพ,

เพลง Atomic ของวง Blondie ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเพลงที่ไม่เหมาะสมจะเปิดออกอากาศของบีบีซีในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่มีเสียงเหมือนเสียงปืนและระเบิดอื่น ๆ ที่ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อเพลงดังกล่าวด้วย อาทิ เพลง Boom-Bang-a-Bang ของ Lulu, เพลง Bang Bang ของ BA Robertson และเพลง Bang Bang (My Baby Shot me Down) ของ Cher

เพลง I Love A Man In Uniform ของวงแนวโพสต์-พังค์ Gang Of Four ถือเป็นเพลงฮิตตอนที่ออกมาเมื่อปี 1982 จนกระทั่งถูกบีบีซีแบนจากเนื้อหาที่กล่าวถึงทหารอย่างไม่เหมาะสมในช่วงที่ทหารอังกฤษกำลังเข้าสู่สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์