"Period. End of Sentence." สารคดีเรื่องสาวอินเดียในโรงงานผลิตผ้าอนามัยที่ชนะรางวัลออสการ์

ที่มาของภาพ, BBC/Abhishek Madhukar
"Period. End of Sentence." สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มหญิงสาวอินเดียในโรงงานผลิตผ้าอนามัยขนาดย่อมในหมู่บ้านอันห่างไกล ชนะรางวัลออสการ์ สาขาสารคดีขนาดสั้น กีตา ปานเดย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีเดินทางไปพูดคุยกับตัวละครก่อนพิธีประกาศรางวัลเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.)
เสน่ห์ อายุ 15 ปีตอนที่เธอเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ตอนนั้นเธอไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง
"ฉันกลัวมาก ฉันคิดว่าฉันป่วยเป็นอะไรร้ายแรงแล้วก็เริ่มร้องไห้" เสน่ห์ เล่าให้ฟังตอนที่ฉันเดินทางไปหาเธอที่หมู่บ้านคัตติเกรา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเดลี เมื่อไม่กี่วันมานี้
"ฉันไม่กล้าบอกแม่เลยไปเล่าให้ป้าฟังแทน ป้าบอกว่า "หนูโตเป็นสาวแล้วนะ ไม่ต้องร้องไห้ นี่เป็นเรื่องปกติ" และก็เป็นป้าที่ไปบอกแม่อีกที"
จากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก ขณะนี้เธออายุ 22 ปีแล้ว และทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตผ้าอนามัยขนาดย่อมแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน และเธอก็เป็นตัวละครหลักของสารคดีเรื่อง "Period. End of Sentence." ซึ่งเพิ่งชนะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น และสามารถหาชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์
ที่มาของภาพ, BBC/Abhishek Madhukar
โรงงานสามารถผลิตผ้าอนามัยได้ 600 แผ่นต่อวัน โดยใช้ชื่อยี่ห้อ Fly
ความคิดสร้างสารคดีเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มนักเรียนในย่านนอร์ธ ฮอลลีวูด นครลอสแอนเจลิส ในสหรัฐฯ ระดมทุนจนสามารถส่งเครื่องผลิตผ้าอนามัยและให้ผู้กำกับลูกครึ่งอเมริกัน-อิหร่าน ไรคา เซทับชี เดินทางไปสร้างสารคดีที่หมู่บ้านของเสน่ห์ สำเร็จ
หมู่บ้านคัตติเกรา ในเมืองฮาปูร์ อยู่ห่างจากกรุงเดลีเพียง 115 กม. แต่มีสภาพแตกต่างจากเมืองหลวงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีห้างหรือตึกสูงระฟ้า สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทำในท้องไร และห้องเรียนในหมู่บ้าน ที่นี่ก็เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ในอินเดียที่การมีประจำเดือนยังเป็นประเด็นอ่อนไหว มีความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนไม่สะอาดบริสุทธิ์และถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปยังพื้นที่ทางศาสนา รวมถึงงานสังคมอื่น ๆ ด้วย
"นี่ไม่ใช่หัวข้อที่คนพูดคุยกัน ไม่แม้กระทั่งกับกลุ่มหญิงสาวด้วยกัน" เสน่ห์ กล่าว
และแล้วก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อ Action India องค์กรเพื่อการกุศลที่ทำงานในประเด็นเรื่องสุขภาพในการสืบพันธุ์ของผู้หญิง เข้าไปตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยใน คัตติเกรา
ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2017 เสน่ห์ ถูกเชื้อเชิญให้ไปทำงานในโรงงานผลิตผ้าอนามัยแห่งนี้ จากที่เคยใฝ่ฝันเป็นตำรวจในกรุงเดลี เธอรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เริ่มงานใหม่เพราะไม่มีโอกาสทำงานอื่น ๆ ในหมู่บ้านอยู่แล้ว
ที่มาของภาพ, BBC/Abhishek Madhukar
โรงงานว่าจ้างผู้หญิง 7 คนด้วยกัน อายุระหว่าง 18 ถึง 31 ปี พวกเธอทำงานจาก 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น
หลังจากที่ไปขออนุญาตแม่ แม่เธอบอกให้เธอไปอนุญาตพ่อ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาในครอบครัวแบบเธอที่ผู้ชายต้องเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ
เธออายที่จะบอกพ่อจึงเลี่ยงบอกว่านี่เป็นโรงงานผลิตผ้าอ้อมเด็กแทน และสองเดือนหลังจากเริ่มงานไปแล้ว แม่เธอถึงได้บอกพ่อว่าจริง ๆ แล้วงานของเธอคืออะไร
ทุกวันนี้ โรงงานว่าจ้างผู้หญิง 7 คนด้วยกัน อายุระหว่าง 18 ถึง 31 ปี พวกเธอทำงานจาก 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น สัปดาห์ละ 6 วัน โดยได้รับเงินเดือน 2,500 รูปี หรือราว 1 พันบาท โรงงานสามารถผลิตผ้าอนามัยได้ 600 แผ่นต่อวัน โดยใช้ชื่อยี่ห้อ Fly
เสน่ห์ เล่าว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเธอคือการตัดไฟ และบางครั้งพวกเธอต้องกลับไปทำงานต่อตอนดึกหลังจากไฟกลับมาแล้วเพื่อผลิตให้ได้ครบตามเป้า
ธุรกิจเล็ก ๆ นี้ ซึ่งใช้พื้นที่ 2 ห้องของบ้านหลังหนึ่ง ได้ช่วยพัฒนาสุขอนามัยของผู้หญิง ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ใช้เศษผ้าที่ตัดออกมาจากชุดส่าหรี หรือผ้าปูที่นอน แต่ตอนนี้ ผู้หญิงราว 70 เปอร์เซ็นต์มีผ้าอนามัยใช้แล้ว
นี่ยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติในการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวในสังคมอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อสองสามปีก่อน
เสน่ห์ บอกว่าขณะนี้เรื่องการมีประจำเดือนเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยแล้วในหมู่ผู้หญิง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ หนทางไม่ได้ราบรื่นนัก
"เป็นเรื่องยากในตอนแรก ๆ ฉันต้องช่วยแม่ทำงานบ้าน ต้องอ่านหนังสือ และก็ต้องทำงานนี้ไปด้วย ในช่วงสอบบางครั้ง มันกดดันมากจนแม่ต้องไปทำงานแทนฉันเลย"
ที่มาของภาพ, BBC/Abhishek Madhukar
การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นเมื่อ Action India องค์กรเพื่อการกุศลที่ทำงานในประเด็นเรื่องสุขภาพในการสืบพันธุ์ของผู้หญิง เข้าไปตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยใน คัตติเกรา
พ่อของเธอ ราเจนดรา สิงห์ ตันวาร์ บอกว่าเขาภูมิใจในตัวลูกสาวมาก
"ถ้างานที่ลูกทำสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะผู้หญิง ผมก็รู้สึกมีความสุขด้วย"
ในตอนแรก กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ถูกต่อต้านจากคนในหมู่บ้านซึ่งสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงงานผลิต เมื่อทีมงานถ่ายภาพยนตร์สารคดีมาถึง ก็มีคำถามเพิ่มว่าพวกเขามาทำอะไรที่นี่
ชุชมา เดวี ในวัย 31 ปี ยังต้องเผชิญอุปสรรคอยู่ทุกวันที่บ้านตัวเอง แม่ลูกสองคนนี้บอกว่า สามีเธอไม่อนุญาตให้เธอทำงานนี้จนกระทั่งแม่ของ เสน่ห์ ช่วยมาพูดให้ นอกจากนี้ สามีเธอยังบอกว่าเธอต้องทำงานบ้านให้เสร็จถึงจะไปทำงานที่โรงผลิตได้
"ฉันต้องตื่นตี 5 ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ให้อาหารควาย ทำเชื้อเพลิงจากมูลสัตว์ อาบน้ำ ทำอาหารเช้า และอาหารกลางวันก่อนจะออกจากบ้าน และหลังจากกลับมาจากงาน ก็ต้องทำอาหารเย็นอีก"
กระนั้นก็ตาม สามีของเธอก็ยังไม่พอใจนัก "เขาชอบใช้อารมณ์กับฉัน เขาบอกว่าที่บ้านมีงานพอแล้ว ทำไมต้องออกไปทำข้างนอกอีกด้วย เพื่อนบ้านฉันก็บอกว่ามันไม่ใช่งานที่ดี และเงินเดือนก็น้อย"
เพื่อนบ้านของ ชุชมา อีกสองคนก็เคยทำงานที่โรงงานนี้เช่นกัน แต่ลาออกไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน แต่เธอไม่คิดจะยอมแพ้ "ถึงแม้สามีจะทุบตีฉัน ฉันก็จะไม่ยอมทิ้งงาน ฉันชอบทำงานที่นี่"
ในสารคดี ชุชมา พูดว่าเธอนำเงินที่ได้จากการทำงานบางส่วนไปซื้อเสื้อผ้าให้น้องชาย เธอบอกว่า "ถ้ารู้ว่า [สารคดีเรื่องนี้] จะไปออสการ์ ฉันก็จะพูดอะไรที่มันฟังดูฉลาดกว่านี้"
ในขณะที่ เสน่ห์ เตรียมตัวที่จะเดินทางไปร่วมงานออสการ์ เพื่อนบ้านเธอต่างรู้สึกชื่นชมที่เธอได้นำเกียรติและชื่อเสียงมาสู่หมู่บ้าน
"ไม่มีใครจากคัตติเกรา เคยเดินทางไปเมืองนอกมาก่อน เพราะฉะนั้นฉันจะเป็นคนแรก ตอนนี้ฉันได้รับการยอมรับและนับถือจากคนในหมู่บ้านแล้ว พวกเขาภูมิใจในตัวฉัน"
"ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ไปอเมริกา ตอนนี้ฉันยังไม่สามารถประมวลความคิดได้เลยว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น สำหรับฉัน การได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถือเป็นรางวัลในตัวเองแล้ว มันเป็นความฝันที่ฉันกำลังฝันอยู่ทั้ง ๆ ที่กำลังลืมตา"

อินเดียเก็บผ้าอนามัยใช้แล้วไปทำอะไร ?
ผ้าอนามัยใช้แล้วที่ใคร ๆ โยนทิ้งเพราะรังเกียจว่าสกปรก กลับเป็นของมีค่าที่ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงอินเดียตามชนบทได้