เจ้าผู้ครองนครดูไบ : พระชายาหลบหนีไปอังกฤษ หวั่นความปลอดภัยในชีวิต

โดย แฟรงก์ การ์ดเนอร์
ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซี
เจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล ฮุสเซน พระชายาของ เชค โมฮัมเหม็ด บิน อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ซึ่งทรงหลบหนีพระสวามีออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังซ่อนตัวอยู่ในกรุงลอนดอน พร้อมตรัสว่าทรงวิตกเรื่องความปลอดภัยในชีวิตหลังหลบหนีออกมา
เชค โมฮัมเหม็ด พระชันษา 69 ปี หนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและร่ำรวยที่สุดในโลก และมักมีภาพพระองค์สนทนากับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองตามงานสังคมชั้นสูงของอังกฤษ ทรงโพสต์บทกวีผ่านทางอินสตาแกรมซึ่งมีเนื้อหาเกรี้ยวกราดกล่าวหา "หญิงนิรนาม" ว่าเป็นผู้ "ทรยศและหักหลัง"
- เจ้าหญิงนครดูไบผู้ต้องการหลบหนีจากพระบิดา
- โว้กแจงปมเจ้าหญิงขึ้นปกนิตยสารฉบับฉลองปฏิรูปวัฒนธรรมในซาอุฯ
- 8 เจ้าหญิงยูเออีทรงมีความผิดฐานค้ามนุษย์
เจ้าหญิงฮายา พระชันษา 45 ปี เป็นชาวจอร์แดน และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ เสกสมรสกับเชค โมฮัมเหม็ด เมื่อปี 2004 กลายเป็นพระชายาคนที่ 6 และ "คนสุดท้อง" ของเจ้าผู้ครองนครดูไบ ซึ่งมีรายงานว่าพระองค์ทรงมีโอรสและธิดากับพระชายาต่าง ๆ รวม 23 คน
เจ้าหญิงฮายา ทรงหลบหนีออกจากดูไบในปีนี้ โดยมีจุดหมายปลายทางแรกที่เยอรมนี ซึ่งพระองค์ทรงยื่นเรื่องขอลี้ภัย ปัจจุบันเชื่อว่าพระองค์ประทับอยู่ในบ้านหรูมูลค่า 85 ล้านปอนด์ บนถนนเคนซิงตัน พาเลซ การ์เดน ย่านเคนซิงตันใจกลางกรุงลอนดอน และเตรียมดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายในศาลสูง
เหตุใดทรงทิ้งชีวิตหรูในดูไบ
แหล่งข่าวใกล้ชิดหลายรายเปิดเผยว่า เจ้าหญิงฮายา ทรงเพิ่งได้ทราบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจเบื้องหลังเหตุการณ์ที่เจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาของเชค โมฮัมเหม็ด ทรงถูกนำตัวกลับดูไบอย่างปริศนา หลังทรงหลบหนีออกจากวัง แต่ถูกตามพบและบังคับนำตัวออกจากเรือยอร์ช ขณะอยู่นอกชายฝั่งอินเดีย เมื่อเดือน มี.ค.ปี 2018
โดยขณะนั้น เจ้าหญิงฮายา และนางแมรี โรบินสัน อดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และอดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ต่างออกมาปกป้องชื่อเสียงของดูไบและเชค โมฮัมเหม็ด ต่อกรณีที่เกิดขึ้น
- ราชวงศ์ซาอุฯ: สามเจ้าชายผู้หายสาบสูญ
- พาชม "เรือนจำห้าดาว" ของซาอุดีอาระเบีย
- สุลต่านยอกยาการ์ตา: การปฏิวัติเพื่อให้หญิงเป็นใหญ่ในราชวงศ์โบราณ
ทางการดูไบ ระบุว่า เจ้าหญิงลาติฟา หลบหนีออกจากวังเพราะพระองค์ "ทรงไม่เดียงสาต่อการถูกแสวงหาประโยชน์" และ "ขณะนี้ทรงปลอดภัยอยู่ในดูไบ"
แต่กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เจ้าหญิงลาติฟาทรงถูกบังคับนำตัวกลับดูไบโดยที่ไม่พระองค์ไม่ยินยอม
หลังจากนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหญิงฮายา ทรงได้ทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนเกิดแรงกดดันและความรู้สึกมุ่งร้ายจากสมาชิกคนอื่น ๆ ทางฝ่ายเจ้าผู้ครองนครดูไบ ส่งผลให้พระองค์ทรงรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอยู่นั่นอีกต่อไป
แหล่งข่าวใกล้ชิดยังระบุด้วยว่า เจ้าหญิงฮายา ทรงเกรงว่าตอนนี้พระองค์อาจกลายเป็นผู้ที่จะถูกลักพาตัวกลับดูไบเสียเอง
ด้านสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในกรุงลอนดอนปฏิเสธแสดงความเห็นใด ๆ โดยระบุว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคลสองคน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ เช่นเดียวกับกรณีของเจ้าหญิงลาติฟาที่สำนักข่าวทั่วโลกให้ความสนใจ
เชื่อว่า เจ้าหญิงฮายา มีพระประสงค์ที่จะพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่หากพระสวามีทรงเรียกร้องให้ส่งพระองค์กลับดูไบ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยากทางการทูตต่ออังกฤษซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เรื่องนี้ยังสร้างความอึดอัดใจให้จอร์แดน เพราะเจ้าหญิงฮายา ทรงเป็นพระขนิษฐาต่างมารดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ซึ่งปัจจุบันมีชาวจอร์แดนจำนวนมากทำงานในยูเออีและส่งเงินกลับบ้านเกิดจำนวนมหาศาล