สัมผัสแสงสียามค่ำคืนในกรุงการากัสของเวเนซุเอลา เมืองที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- กิลเลอร์โม ดี โอลโม
- บีบีซี นิวส์ มุนโด กรุงการากัส

ที่มาของภาพ, Getty Images
กรุงการากัส เป็นหนึ่งในเมืองที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในโลก
กรุงการากัสในยามค่ำคืนเป็นภาพที่น่ากลัว หลังพระอาทิตย์ตก ก็แทบไม่มีใครออกมาเดินเตร็ดเตร่ตามท้องถนนที่มืดสลัวและเปลี่ยว พบเห็นรถราเพียงไม่กี่คันและเงาตะคุ่ม ๆ ของผู้คนที่กำลังรีบเดินกลับเข้าบ้านท่ามกลางความมืด
ครั้งหนึ่ง การากัสเป็นหนึ่งในเมืองที่มีชีวิตชีวาที่สุดของละตินอเมริกา วิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตยามค่ำคืนในเมืองหลวงแห่งนี้ และตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอัตราการฆาตกรรมที่สูงที่สุดในโลก
แต่กระนั้น ก็ยังมีชาวเมืองจำนวนมากพยายามออกมาหาความบันเทิงในยามค่ำคืน
'ที่นี่เคยคนแน่นไปหมด'
ลาส เมร์เซเดส (Las Mercedes) เป็นหนึ่งในย่านที่พลุกพล่านที่สุดทางฝั่งตะวันออกที่เป็นย่านของคนรวยในกรุงการากัส
การ์วิน ซิลวา เป็นหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง และเธอมาสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานที่บาร์ริออตต์ (Barriott) ร้านอาหารกึ่งบาร์ เพื่อฉลอง 100 วันสุดท้าย ก่อนที่เธอจะได้เป็นสูติแพทย์ที่ผ่านการรับรองอย่างเต็มตัว
ในเวเนซุเอลา การฉลองในโอกาสดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ หนึ่งในเพื่อนของเธอมาร่วมสังสรรค์ด้วยไม่ได้ เพราะกำลังพักฟื้นหลังจากทำศัลยกรรมจมูก วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้คนจำนวนมากเลิกทำศัลยกรรมพลาสติกเพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีขึ้น
ที่มาของภาพ, Getty Images
การจราจรและความเร่งรีบของผู้คน เริ่มลดลงในช่วงค่ำ
"เหตุผลหลักที่เราเลือกร้านนี้คือเรื่องความปลอดภัย เพราะเรารู้ว่าจะไม่มีใครมาแอบใส่ยาในเครื่องดื่มของเรา หรือทำอะไรที่ไม่ดี" การ์วินบอกระหว่างนั่งพักหลังจากออกไปเต้น
บาร์ริออตต์ยังมีที่ว่างอีกหลายที่ หนุ่ม ๆ ที่แต่งตัวดูดีหลายคนออกันอยู่ที่ทางเข้าร้าน ใกล้กับทางเข้าซึ่งมีรถอเนกประสงค์สมรรถนะสูง (และราคาสูงด้วย) จอดอยู่
เด็ก ๆ ข้างถนนหลายกลุ่มเดินไปมา เพื่อขอเงินจากคนที่ออกมาเที่ยว
ก่อนที่จะเข้าไปในร้าน ทุกคนต้องผ่านการตรวจตราความปลอดภัย พนักงานชายจะเข้ามาใช้มือตบ ๆ ตามเสื้อผ้าของลูกค้าผู้ชาย ส่วนพนักงานหญิงจะทำเช่นเดียวกันกับลูกค้าผู้หญิง ที่นี่ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยมาก
มีคนจำนวนมากในร้าน และงานเลี้ยงกำลังดำเนินต่อไป แต่ลูกค้าประจำของที่นี่บอกว่า คนไม่เต็มร้านเหมือนก่อนช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
"แต่ก่อนคุณแทบจะเข้าไปข้างในไม่ได้ แล้วเราก็เบียดกันมาก" ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าว "แม้แต่วันพฤหัสบดี คนก็ยังออกมาเที่ยวกันมาก ตอนนี้ที่ไหนก็ร้างราผู้คนไปหมด"
ชาวเมืองคนหนึ่งบอกว่า 'ยังมีคนจำนวนมากที่มีเงินเหลือเฟือในกรุงการากัส'
บรรยากาศในค่ำคืนวันเสาร์ที่ฮวนเซบาสเตียน (Juan Sebastian Bar) ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในบาร์ที่มีคนแน่นที่สุดในการากัสมานานหลายปี ช่วยยืนยันคำพูดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ที่นี่เกือบจะไม่มีแขกเข้าร้านเลย มีพนักงานมากกว่าลูกค้าด้วยซ้ำ
สังสรรค์กันอย่างหนัก
กลับไปที่บาร์ริออตต์ การ์วินกับเพื่อน ๆ ของเธอกำลังสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ พวกเธอกินเหล้ารัมราคาขวดละ 3 แสนโบลิวาร์ หรือราว 450 บาท
นั่นมากกว่ารายได้ที่พวกเธอได้รับต่อเดือนในการทำงานที่โรงพยาบาล แต่ก็เหมือนกับพนักงานของรัฐเกือบทุกคนในเวเนซุเอลา เธอหารายได้เสริมจากงานอื่น
แขกทั้งชายหญิงเต้นเบียดเสียดกันท่ามกลางเสียงเพลงเรกเกตัน (reggaeton) และเทคโนที่ดีเจเปิด
พวกเธอถ่ายรูปให้กัน ขณะที่บางคนกำลังโพสท่าราวกับอยู่บนแคตวอล์ก เพื่อเลือกภาพไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
ช่วงตี 3 เป็นช่วงที่บรรยากาศงานเลี้ยงกำลังสนุกสนานถึงขีดสุด
การที่ชาวเวเนซุเอลานำธงชาติออกมาโบกสะบัดตามที่เที่ยวกลางคืน เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป
มีนักเต้นที่แต่งชุดอิโมจิออกมาเต้นแล้วก็เชิญชวนให้คนอื่น ๆ มาเต้นด้วยกัน
ช่วงหนึ่งที่ผู้คนกำลังสนุกกันอย่างสุดเหวี่ยง มีคนนำธงชาติเวเนซุเอลาออกมาโบกสะบัด
"ที่นี่ เราเอาธงชาติออกมาทำอะไรได้ทุกอย่าง" การ์วินพูดขึ้นขณะที่เศษกระดาษสีกำลังโปรยปรายลงมา
อิโมจิขนาดเท่ามนุษย์ กำลังถือขวดเหล้าไว้ในมือ แล้วก็เต้นไปด้วย จากนั้นก็เทเหล้าจากขวดใส่ปากแขกที่มาเที่ยว
'วิกฤตที่เลวร้าย'
ในบริเวณที่สูบบุหรี่ ซึ่งเสียงเพลงเบาลงหน่อย พอที่จะคุยกันรู้เรื่อง
เอร์เนสโตเล่าว่า "ชาวต่างชาติตกใจที่เห็นพวกเราออกมาเที่ยวกันที่นี่"
"พวกเขาสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจของเวเนซุเอลากำลังเลวร้าย...แต่ในเวเนซุเอลา ยังมีคนจำนวนมากที่มีเงินเหลือเฟือโดยเฉพาะในกรุงการากัส" เอร์เนสโตกล่าวต่อ
ที่มาของภาพ, Getty Images
คนรวยและคนจนต่างหาวิธีในการสร้างความบันเทิงจากแสงสียามค่ำคืนในกรุงการากัส แม้ว่าจะเผชิญกับความยากลำบาก
แต่สำหรับตัวเขาเอง อะไร ๆ ดูไม่ค่อยสดใสนัก
เขาเปิดบริษัทขายอุปกรณ์การแพทย์ โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐเป็นลูกค้าหลัก แต่ในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ บริษัทคู่ค้าในสหรัฐฯ ไม่อยากทำธุรกิจกับเขาอีกต่อไป
ลา กวินตา บาร์ (La Quinta Bar) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบาร์ริออตต์ เป็นหนึ่งในคลับยอดนิยมที่สุดอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้
มองจากข้างนอกที่นี่มีแสงสีฉูดฉาด เพราะมีจอที่ติดตั้งไว้นอกร้านและแสงไฟนีออนที่สว่างกว่าไฟบนถนนมาก
เช่นเดียวกับสถานบันเทิงอีกหลายแห่งในเวเนซุเอลา คุณต้องจ่ายค่าเข้าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่นี่เก็บค่าเข้าจากผู้ชาย 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนผู้หญิงจ่ายแค่ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทางเลือกราคาประหยัด
แต่สำหรับชาวเมืองการากัสที่ไม่มีสตางค์ในการมาหาความบันเทิงตามสถานที่ที่ต้องใช้เงินมากเหล่านี้ พวกเขาก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เงินน้อยกว่า
ทางฝั่งตะวันตกของย่าน ลาส เมร์เซเดส (Las Mercedes) เป็นย่านใจกลางเมืองของกรุงการากัส และยังมีย่านที่คนจนอาศัยอยู่หลายย่านอย่าง ลา ปาสโตรา (La Pastora)
ตามสถานที่ที่คนรายได้น้อยไปเที่ยว เครื่องดื่มยอดนิยมคือ 'โกกุย' (cocuy) ซึ่งทำมาจากพืชชนิดเดียวกับ เตกีลา (tequila)
ที่นี่ ผู้คนในละแวกนี้จะออกมารวมตัวกันตามหัวมุมถนนเพื่อดื่มเหล้าราคาถูกและฟังเพลงด้วยกันส่วนใหญ่เป็นเพลงเรกเกตัน ที่ดังกระหึ่มออกมาจากรถของคนแถวนั้น
รถยนต์หลายคันกลายเป็นจุดนัดพบ และบางครั้งก็มีคนมารวมตัวกันจนหนาตา
ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งบนทางหลวงสายหนึ่งของกรุงการากัส รถยนต์และรถตู้หลายคันขับมาจอดรวมกัน แล้วก็เปิดเพลงเสียงดัง ในช่วงสุดสัปดาห์มักจะมีกลุ่มคนเล็ก ๆ มารวมตัวกันอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังมีสถานที่อย่าง ลา ตาสกีตา (La Tasquita) ซึ่งคนในละแวกนั้นจะมาเต้นรำกับเสียงเพลงแนวละตินและแคริบเบียนตลอดทั้งคืน ด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก ที่นี่เปิดมานาน 35 ปีแล้ว และมีลูกค้าประจำจำนวนมาก
ที่นี่ไม่มีระบบแสงสีที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่มีคนมาคอยสร้างความบันเทิง ไม่มีเหล้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
วิลสัน ซึ่งเป็นเจ้าของร้านออกมาบริการลูกค้าด้วยตัวเอง พร้อมกับคอยเปิดเพลงไปด้วย ดนตรีที่นี่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่ดนตรีจังหวะแคริบเบียน อย่างซัลซา (salsa) และเมอเรงเก (merengue)
"แม่ยายของผมเริ่มธุรกิจนี้" เขาเล่า ขณะที่กำลังเลือกเพลงจากแล็ปท็อปของเขา
ที่มาของภาพ, Vanessa Silva.
ที่ ลา ตาสกีตา ลูกค้าที่มาเที่ยวจะเต้นกันตลอดคืนท่ามกลางเสียงเพลงแคริบเบียน
เครื่องดื่มที่ลูกค้าที่นี่นิยมสั่งกันคือ โกกุย (cocuy) เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ทำมาจากอากาเว (agave) ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวกับที่ใช้กลั่นเตกีลา (tequila)
โกกุย 1 ขวดมีราคา 14,000 โบลิวาร์ หรือไม่ถึง 30 บาท
ค่ำคืนนี้ ลูกค้าประจำหลายคนของ ลา ตาสกีตา หายหน้าไป เพราะพวกเขาเลือกไปร่วมสังสรรค์กันในงานปาร์ตี้ข้างทางที่จัดขึ้นบนเนินเขา ซาน อากุสติน (San Agustin) แทน
งานปาร์ตี้ยังไม่เลิกลา แม้เวลาจะล่วงเข้าสู่ 9 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นแล้ว
วิลสันบอกว่าร้าน ลา ตาสกีตา ของเขายังพอไปได้ แม้ว่าจะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาหลายอย่าง
"ผู้คนยังออกมาเที่ยวที่นี่เรื่อย ๆ พวกเขาหาเงินมาดื่มได้เสมอ"