รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถ แห่งอังกฤษ(Queen's Speech) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

โดย ทอม เอดจิงตัน
บีบีซีนิวส์
รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถ หรือ Queen's Speech มีขึ้นในวันนี้ (14 ต.ค.) หลังจากพักการประชุมสภาไป 3 วัน
แท้จริงแล้ว "พระราชดำรัส" ถูกเขียนขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี และไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไม่เห็นชอบเนื้อหาในพระราชดำรัสนี้
รัฐพิธีนี้คืออะไรกันแน่ และส่งผลกระทบจะร้ายแรงแค่ไหนหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบ
รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถคืออะไร
พระราชดำรัสนี้ไม่ใช่สิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษทรงเขียนขึ้น แต่เขียนโดยรัฐบาลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการบริหารประเทศในปีนี้ สรุปสั้น ๆ คือเป็นรายชื่อร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่รัฐบาลหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
นี่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดการประชุมสภาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประชุมใหม่ของสภา
พิธีการจะเริ่มต้นด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังอาคารรัฐสภาโดยรถม้า
- เลือกตั้งอังกฤษ: ทำความรู้จัก “รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี”
- เรื่องแปลกเกี่ยวกับรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่คุณอาจไม่รู้
- ควีนอังกฤษ : อำนาจและพระราชทรัพย์ในพระองค์
เจ้าหน้าที่ประจำสภาขุนนางในตำแหน่งที่เรียกกันว่า Black Rod จะเป็นผู้ส่งสัญญาณเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มาเข้าร่วมพิธี แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะถูกปิดประตูใส่หน้าไม่ให้เข้าไปในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ในพระราชดำรัส สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงกล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่รัฐบาลหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามธรรมเนียมแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงกล่าวต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎรและสภาขุนนาง
โดยปกติแล้วจะมีการจัดพิธีนี้ทุกปี แต่ครั้งล่าสุดที่คือเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2017 เนื่องจากนางเทรีซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่แล้ว ต้องการให้สมัยการประชุม มีระยะเวลานาน 2 ปี เพื่อให้ความสำคัญกับประเด็นเบร็กซิท
- เบร็กซิท: คทาพิธีการในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษสำคัญอย่างไร
- ครั้งแรกในรอบ 40 ปี ควีนไม่ทรงมหามงกุฎในพิธีเปิดประชุมสภา
ใครเขียนพระราชดำรัส
คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เขียนพระราชดำรัส แต่สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัสจากบัลลังก์ของสภาขุนนาง ความยาวขึ้นอยู่กับจำนวนร่างกฎหมายและคำประกาศอื่น ๆ อาทิ เป้าหมายด้านนโยบายการต่างประเทศ แต่โดยปกติแล้วจะมีความยาวราว 10 นาที
คนอื่นประกาศแทนได้ไหม
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นองค์พระประมุขในพิธีมาแล้ว 64 ครั้ง เว้นแต่ในปี 1959 และปี 1963 ที่ทรงพระครรภ์ ในกรณีนั้น ๆ จะเป็นลอร์ด ชานเซลเลอร์ (ปัจจุบัน เป็นชื่อตำแหน่งที่รัฐมนตรีถือควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ในอดีตคือตำแหน่งประธานสภาขุนนางและฝ่ายตุลาการ)
จะมีการลงมติไหม
มี
ไม่กี่ชั่วโมงหลังพระราชดำรัส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มถกเถียงในตัวเนื้อหา หลังจาก ส.ส. 2 คนกล่าวเกริ่นนำแล้ว นายกรัฐมนตรีจะพยายามโน้มน้าว "ขาย" นโยบายต่าง ๆ กับสภาผู้แทนราษฎร
จากนั้น ผู้นำฝ่ายค้านจะมีโอกาสได้กล่าวตอบโต้ และ ส.ส. คนอื่นสามารถมีส่วนร่วมในการถกเถียงได้
โดยปกติแล้ว การพูดคุยถกเถียงนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "Humble Address" จะดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน และจะมีการลงมติเห็นชอบในช่วงท้าย
โดยปกติแล้ว มองกันว่าการลงมตินี้ถือเป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไม่เห็นชอบ
จะเกิดอะไรขึ้นหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ
การแพ้ในการลงมติหมายความว่า ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของรัฐบาล ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา นายบอริส จอห์นสัน แพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรไป 7 ครั้งติดต่อกันแล้ว ขณะนี้ หาก ส.ส. ฝ่ายค้านทั้งหมดที่มีอยู่ตอนนี้ลงมติไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะแพ้ 45 คะแนนด้วยกัน
นายจอห์นสันไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากแพ้การลงมติ แต่จะต้องเผชิญแรงกดดันอย่างสูง
นอกจากนี้ การแพ้ในการลงมติก็ไม่ได้หมายความว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านอาจรู้สึกว่าต้องตอบโต้โดยการเสนอญัตติไม่ไว้วางใจ
หรือไม่เช่นนั้น รัฐบาลก็อาจจะประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่ 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดจะต้องลงมติเห็นชอบด้วย
รัฐบาลเคยแพ้การลงมติพระราชดำรัสไหม
ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลแพ้ในการลงคะแนนเป็นเมื่อเดือน ม.ค. 1924 สมัยของสแตนลีย์ บอล์ดวิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลังเขาเสนอโนบายผ่านพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แม้จะเพิ่งเสียเสียงข้างมากในสภาหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนก่อนหน้านั้น
ในเวลาต่อมา นายบอล์ดวินลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคเลเบอร์ซึ่งมีเสียงข้างน้อยก็เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศต่อแทน