ไขปริศนาโครงกระดูกพันปี หลังถูกนาซี-โซเวียตใช้เล่นเกมการเมืองหลายทศวรรษ

ที่มาของภาพ, NJ SAUNDERS
ชายเจ้าของร่างโครงกระดูกนี้คือใคร ? มีเชื้อสายไวกิงหรือเป็นชาวสลาฟกันแน่ ?
เมื่อปี 1928 ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่าโครงกระดูกของชายร่างสูงที่เก่าแก่นับพันปี ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบในลานพระราชวังของปราสาทปราก (Prague Castle) ใจกลางเมืองหลวงของเชโกสโลวาเกียหรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบันนั้น จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนานตลอดเวลาหลายสิบปีต่อมา
การพิสูจน์เชื้อสายของชายคนดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผู้ที่มียศศักดิ์และมีความสำคัญระดับสูงในราชสำนักโบฮีเมีย คือประเด็นสำคัญที่ถูกมหาอำนาจต่างชาติผู้เข้ายึดครองดินแดนยุโรปกลางแห่งนี้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อเชิดชูอุดมการณ์ในฝ่ายของตนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนาซีเยอรมนีที่เข้ายึดครองในปี 1939 หรือรัฐบาลของสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาหลายสิบปีหลังจากนั้น
โครงกระดูกปริศนาคือใคร ?
หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นไม่มีชิ้นใดระบุถึงชื่อหรือตัวตนที่ชัดเจนของชายผู้นี้ นักโบราณคดีพบแต่เพียงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ดาบเหล็กเล่มยาวในมือขวา มีดคู่หนึ่งวางอยู่ใกล้กับมือซ้าย ก้านเหล็กสำหรับจุดไฟซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีสถานะสูง หัวขวานทำจากเหล็ก และถังไม้แบบที่ชาวไวกิงใช้ดื่มสุราในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
สิ่งของจากหลุมศพชิ้นที่โดดเด่นมากที่สุด แน่นอนว่าคือดาบเล่มที่ยาวเกือบ 1 เมตร ซึ่งเป็นดาบที่พบเพียงเล่มเดียวในบรรดาหลุมศพยุคกลางกว่า 1,500 หลุมที่มีการขุดค้นในปราสาทปราก
ที่มาของภาพ, INSTITUTE OF ARCHAEOLOGY, PRAGUE
ภาพที่ถ่ายเมื่อปี 1928 แสดงให้เห็นว่าโครงกระดูกถูกพบพร้อมกับถังไม้ (มุมขวาล่าง) ดาบ มีด และของใช้อื่น ๆ
ศาสตราจารย์ ยาน ฟรอลิก นักโบราณคดีจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเช็กบอกว่า "ดาบเล่มนี้เป็นดาบชั้นดีและมีคุณภาพสูง อาจทำขึ้นในทางตะวันตกของยุโรป และเป็นแบบเดียวกับดาบที่พวกไวกิงในดินแดนยุโรปเหนือ เยอรมนี และอังกฤษใช้กันในอดีต"
"ข้าวของเครื่องใช้ในหลุมศพของชายผู้นี้ ส่วนใหญ่เป็นของชาวไวกิง หรืออย่างน้อยก็ทำขึ้นในแบบที่คล้ายกับไวกิง แต่เราก็ยังไม่สามารถจะสรุปได้แน่นอนว่า โครงกระดูกร่างนี้มีเชื้อสายชาวไวกิงหรือไม่"
อันที่จริงแล้ว นายอิวาน บอร์คอฟสกี นักโบราณคดีชาวยูเครนซึ่งลี้ภัยสงครามกลางเมืองเข้ามาทำงานกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในกรุงปราก เป็นคนแรกที่ทำการขุดค้นจนพบโครงกระดูกสำคัญร่างนี้ในปี 1928 แต่ด้วยสถานะที่ต่ำต้อยของเขา ทำให้ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาที่เป็นความเห็นของเขาเองได้
ที่มาของภาพ, INSTITUTE OF ARCHAEOLOGY PRAGUE
อิวาน บอร์คอฟสกี
ด้วยเหตุนี้เอง ตัวตนที่เป็นปริศนาของโครงกระดูกพันปีในปราสาทปราก จึงตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปอย่างง่ายดายในเวลาต่อมา ชาติมหาอำนาจที่ผลัดกันเข้ายึดครองเชโกสโลวาเกียต่างก็อ้างความชอบธรรมว่า โครงกระดูกนี้เป็นของบรรพบุรุษเชื้อสายเดียวกับตน และเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นเจ้าของดินแดนโบฮีเมียมาก่อนหน้านี้นับพันปีแล้ว
โครงกระดูกพันปีภายใต้การตีความของนาซีและโซเวียต
เมื่อนาซีเยอรมนีเข้ายึดครองกรุงปรากในปี 1939 ทฤษฎีที่ฟันธงว่าโครงกระดูกพันปีร่างนี้เป็นชาวไวกิงอย่างแน่นอนก็ได้รับการสนับสนุนในทันที เนื่องจากพวกนาซีถือว่าชาวไวกิงมีเชื้อสายนอร์ดิก ซึ่งเท่ากับนับเนื่องเป็นชาวเยอรมันได้ด้วยอีกสายหนึ่ง
แนวคิดนี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ "สายเลือดบริสุทธิ์" ของนาซี และยังยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมในประเด็นที่ว่า การรุกรานเชโกสโลวาเกียเป็นเพียงการที่ชาวเยอรมันเข้ายึดครองดินแดนที่เคยเป็นของตนในสมัยโบราณเท่านั้น
ศ. ยาน ฟรอลิก ชี้ว่าเครื่องใช้ของศพส่วนใหญ่เป็นแบบไวกิง แต่ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นคนเชื้อสายใดกันแน่
ในช่วงเวลาดังกล่าว นายบอร์คอฟสกีจึงถูกพวกนาซีกดดันบีบบังคับอย่างหนัก ให้ปรับแก้รายงานผลการศึกษาโครงกระดูกพันปีไปในแนวทางที่สนับสนุนข้ออ้างแบบโฆษณาชวนเชื่อ ไม่อย่างนั้นตัวเขาเองอาจถูกส่งไปค่ายกักกันใช้แรงงานหนักได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงกระดูกดังกล่าวยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองภูมิภาคยุโรปกลางหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ผู้ปกครองชุดใหม่ก็ได้บีบบังคับให้นายบอร์คอฟสกีแก้ไขผลการศึกษาอีกครั้ง โดยคราวนี้ให้ชูข้อสันนิษฐานที่เก่าแก่กว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าเจ้าของโครงกระดูกเป็นพระราชวงศ์คนสำคัญในยุคก่อตั้งราชวงศ์เชมิสลิด (Přemyslid ) ของชาวสลาฟ ซึ่งเคยปกครองแคว้นโบฮีเมียมานานกว่า 400 ปี จนกระทั่งถึงปี 1306
เหตุผลที่สหภาพโซเวียตต้องการเปลี่ยนแปลงบันทึกประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จึงไม่แตกต่างไปจากนโยบายของนาซีเยอรมนีเมื่อหลายปีก่อนมากนัก
หลากหลายอัตลักษณ์
แม้ในปัจจุบันนักโบราณคดีจากนานาชาติจะสามารถศึกษาโครงกระดูกพันปีดังกล่าวได้อย่างเสรี โดยปราศจากแรงกดดันทางการเมืองเช่นในอดีต แต่ก็ใช่ว่าปริศนาเรื่องตัวตนและเชื้อสายของคนผู้นี้จะได้รับการคลี่คลายจนกระจ่างสิ้นสงสัยไปเสียทีเดียว
ศ. ฟรอลิกบอกว่า "สิ่งที่เรารู้แน่ ๆ ในตอนนี้ คือชายคนดังกล่าวไม่ได้เกิดในแคว้นโบฮีเมีย ผลวิเคราะห์ไอโซโทปกัมมันตรังสีในฟันของเขาชี้ว่า น่าจะเป็นคนที่เติบโตในแถบยุโรปเหนือ อาจเป็นชายฝั่งทางใต้ของทะเลบอลติกหรือเดนมาร์ก"
"ถึงดินแดนแถบนั้นส่วนใหญ่จะเป็นของพวกไวกิง แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าเขาจะต้องเป็นชาวไวกิงอย่างแน่นอน เพราะทางตอนใต้ของฝั่งทะเลบอลติกในยุคนั้น มีทั้งชาวสลาฟและคนเชื้อสายอื่น ๆ ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วย"
ภาพพิมพ์สมัยศตวรรษที่ 19 จำลองภาพของ "บอริวอยที่หนึ่ง" ดยุคแห่งโบฮีเมียผู้ก่อตั้งราชวงศ์เชมิสลิด (Přemyslid)
ศ. ฟรอลิกเชื่อว่า ชายผู้นี้เป็นนักรบที่มาจากแดนเหนือ โดยเดินทางมาถึงกรุงปรากในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และน่าจะได้เข้ารับราชการในราชสำนักของบอริวอยที่หนึ่ง ดยุคคนแรกของแคว้นโบฮีเมียและบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งราชวงศ์เชมิสลิด หรือไม่ก็ได้รับราชการกับดยุคสปีทิห์เนฟที่หนึ่ง ทายาทผู้สืบทอดการปกครองแคว้นโบฮีเมียต่อจากบอริวอยที่หนึ่ง นักรบผู้นี้เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยราว 50 ปี
ศ. นิโคลัส ซอนเดอร์ส จากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนร่วมในการศึกษาโครงกระดูกดังกล่าวด้วย เผยถึงผลการวิจัยของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Antiquity ฉบับล่าสุดว่า "มีความเป็นไปได้ทั้งสองทางว่า ชายผู้นี้อาจเป็นชาวสลาฟหรือชาวไวกิง ซึ่งขณะนี้เรากำลังตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อให้ทราบชัดถึงเชื้อสายทางพันธุกรรมของเขาต่อไป"
"แต่ไม่ว่าพันธุกรรมของเขาจะเป็นอย่างไร การยึดถือว่าตนเองมีอัตลักษณ์หรือมีเชื้อสายวัฒนธรรมใดนั้น นับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนสำหรับคนในยุคนั้น คนในยุคกลางของยุโรปอาจมีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกันได้หลากหลายแบบในคราวเดียว แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ที่พบในหลุมศพซึ่งฝังโครงกระดูกนี้ก็สะท้อนความจริงเช่นนั้น"