โลกร้อน: งานวิจัยล่าสุดคาด 12 ล้านคนในไทยจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่งเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

ที่มาของภาพ, Getty Images
น้ำท่วมสนามบินดอนเมืองในกรุงเทพฯ ในปี 2011
ผู้คนกว่าร้อยล้านคนจะเผชิญความเสี่ยงจากน้ำท่วมพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในศตวรรษนี้ ในจำนวนนี้รวมถึงประชากร 12 ล้านคนในประเทศไทย
นั่นคือข้อสรุปของงานวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดย Climate Central องค์กรข่าวที่ไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ
งานวิจัยนี้คาดว่าจะมีประชากร 190 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุดในปี 2100
การคาดการณ์นี้ใช้สมมติฐานว่าโลกจะร้อนขึ้นในระดับปานกลางเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าพื้นที่เสี่ยงจากน้ำทะเลหนุนมีน้อยกว่ากรณีที่โลกร้อนในระดับรุนแรง
ทางกลุ่มคำนวณคร่าว ๆ ว่าปัจจุบันมีประชากรราว 110 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีกำแพง เขื่อนกั้นน้ำและแนวกั้นชายฝั่งอื่น ๆ ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม
การตรวจสอบของ Climate Central ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ได้พยายามทำให้สมบูรณ์ขึ้นกว่ารายงานก่อนหน้านี้ที่มีความคลาดเคลื่อนของชุดข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสูงของพื้นที่ในการหาว่า แนวชายฝั่งจะถูกน้ำท่วมเข้ามามากแค่ไหน
ชุดข้อมูลดังกล่าวได้มาจากภารกิจกระสวยอวกาศ
การโคจรของกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ในปี 2000 ได้ใช้เครื่องมือส่งสัญญาณเรดาร์ในการสร้างแผนที่ระดับความสูงทั่วโลกแบบ 3 มิติ แบบจำลองนี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในชุดข้อมูลสังเกตการณ์ที่ถูกใช้มากที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์
แต่ สก็อตต์ คัลป์ และ เบนจามิน สเตราสส์ หนึ่งในทีมงานของ Climate Central บอกว่า ชุดข้อมูลนี้มีความผิดพลาดในพื้นที่หลายแห่ง ทำให้ระดับความสูงของบางพื้นที่สูงกว่าที่เป็นจริง
ปัญหานี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีต้นไม้หนาทึบ เช่น พื้นที่ป่า เนื่องจากสัญญาณเรดาร์มักจะวัดระดับความสูงที่ยอดไม้ ไม่ใช่ที่พื้นดิน
คัลป์และสเตราสส์ใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดสูงกว่าและทันสมัยมากกว่าจากอุปกรณ์ที่เรียกว่าไลดาร์ (Lidar) ซึ่งใช้เลเซอร์ส่องผ่านอากาศเพื่อช่วยให้คอมพิวเตอร์ปรับแก้ชุดข้อมูลที่ได้จากแบบจำลองระดับความสูงดิจิทัล (digital elevation model--DEM) ของกระสวยอวกาศดังกล่าว
เมื่อใช้ชุดข้อมูลที่ได้จาก CoastalDEM ประกอบกับสถิติด้านประชากรและการพยากรณ์ล่าสุดเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้พบว่า จะมีผู้คนมากขึ้นที่จะเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต
ข้อมูลระดับความสูงของพื้นที่ที่ได้รับการแก้ไขแล้วพบว่า แม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดงลงในระดับปานกลาง แต่ 6 ประเทศในทวีปเอเชีย (จีน, บังกลาเทศ, อินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และไทย) ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่รวมกัน 237 ล้านคน อาจเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่ตามแนวชายฝั่งในปี 2050 (พ.ศ. 2593) หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า จะมีคนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการประเมินที่ใช้ข้อมูลระดับความสูงชุดเดิมราว 183 ล้านคน
ทีมงานได้สร้างแผนที่อินเตอร์แอคทีฟ ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างประมาณการเดิมที่ใช้ข้อมูลจากกระสวยอวกาศเพียงอย่างเดียว และประมาณการใหม่ที่ใช้ข้อมูลระดับความสูงที่แก้ไขแล้ว
แผนที่นี้ช่วยให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าโลกจะจำกัดภาวะโลกร้อนได้ดีแค่ไหน โดยน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจะทำให้น้ำแข็งที่สะสมอยู่ในแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
ในกรณีที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง CoastalDEM ระบุว่า คนมากถึง 630 ล้านคนจะเผชิญกับน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีในปี 2100
ส่วนในปี 2050 ตัวเลขนี้จะอยู่ที่ 340 ล้านคน ขณะที่ในปัจจุบันคาดว่า มีจำนวนคนที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีราว 250 ล้านคน
โดยสรุปแล้ว ประมาณการจำนวนประชากรโลกที่เสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมพื้นที่ตามแนวชายฝั่งที่ได้มาจากชุดข้อมูลของ CoastalDEM จะมากกว่าประมาณการที่อ้างอิงข้อมูลจากกระสวยอวกาศเพียงอย่างเดียวราว 3 เท่า
ทีมงานบอกกับ Nature Communications ว่า "เราประเมินว่า ปัจจุบันมีคนจำนวน 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุดไม่ถึง 10 เมตร ในจำนวนนี้รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุดไม่ถึง 1 เมตรจำนวน 250 ล้านคนด้วย"
ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และปัจจุบันพบว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่าเดิม
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change--IPCC) ระบุในรายงานพิเศษเกี่ยวกับทะเลเมื่อเดือน ก.ย. 2562 ว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน อาจทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.1 เมตรภายในปี 2100
อย่างไรก็ตาม คัลป์และสเตราสส์ยอมรับว่าการวิเคราะห์ของพวกเขามีข้อจำกัดบางประการ
ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่ได้พิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรและการโยกย้ายถิ่นฐานในอนาคต และไม่ได้พิจารณาถึงการพัฒนาวิธีการป้องกันแนวชายฝั่ง
หากดูเป็นรายภูมิภาค การวิเคราะห์ของ Climate Central ในที่ที่มีการสำรวจแนวชายฝั่งโดยใช้ Lidar เพื่อประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคตแล้ว ไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากนัก แต่ในที่ที่การสำรวจยังไม่ครอบคลุมดีพอ ตัวเลขนี้มีความสำคัญ
พื้นที่จำนวนหนึ่งจะเผชิญความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคตจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่ในเมืองใหญ่ที่อยู่ตามแนวชายฝั่งบางแห่ง ยังมีปัจจัยเรื่องการทรุดตัวเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วย
ในเมืองเหล่านั้นมีการทรุดตัวของพื้นดินเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำราว 10 เท่า อย่างเช่น กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม และกรุงเทพฯ ซึ่งมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จำนวนมาก
ที่มาของภาพ, Ball Aerospace
ภาพศิลปะ: กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ กำลังทำแผนที่พื้นผิวโลกแบบ 3 มิติ ในปี 2000