เผย "ราชินีพรหมจรรย์" คือนักแปลนิรนามผู้เขียนเอกสารชิ้นประวัติศาสตร์

ต้นฉบับงานแปลชิ้นสำคัญ ซึ่งถอดความจากตำราของแทซิตัส (Tacitus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันโบราณ ที่ถูกทิ้งไว้ในพระราชวังกลางกรุงลอนดอนนานกว่า 400 ปี โดยไม่ทราบชื่อผู้เขียนนั้น ล่าสุดได้รับการเปิดเผยว่าน่าจะเป็นผลงานแปลของ "ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์" (The Virgin Queen) หรือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่งของอังกฤษ
ดร. จอห์น-มาร์ก ฟิโล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียของสหราชอาณาจักร เผยถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า งานแปลชิ้นดังกล่าวมีแนวโน้มจะเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถผู้เลื่องชื่อแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) หลังจากที่เขาได้ศึกษาต้นฉบับดังกล่าว ซึ่งถูกพบโดยบังเอิญในห้องสมุดของพระราชวังแลมเบธ (Lambeth Palace) ที่พักของอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี ผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนจักรอังกฤษในปัจจุบัน
ต้นฉบับงานแปลจากภาษาละตินมาเป็นภาษาอังกฤษนี้ มีความยาวทั้งหมด 42 หน้า ถอดความจากตำราของแทซิตัสที่ว่าด้วยข้อดีของการปกครองในระบอบกษัตริย์
ดร. ฟิโล ชี้ว่า กระดาษที่ใช้เขียนต้นฉบับแปล เป็นกระดาษชนิดพิเศษที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในราชสำนักทิวดอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1590 หรือช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งพอดี
"มีนักแปลแห่งราชสำนักทิวดอร์เพียงคนเดียว ที่หลักฐานร่วมสมัยบ่งชี้ว่าได้แปลงานเขียนของแทซิตัส ซึ่งก็คือควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งนั่นเอง โดยทรงใช้กระดาษชนิดเดียวกันในงานแปลชิ้นอื่นๆ รวมทั้งในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ด้วย" ดร. ฟิโล กล่าว
- ตำนานวิญญาณหลอนที่หอคอยแห่งลอนดอน
- ควีนอังกฤษ : อำนาจและพระราชทรัพย์ในพระองค์
- เหตุใดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ไม่ทรงพระมหามงกุฎในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานว่ามีการใช้ลายน้ำ 3 แบบที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ตรารูปสิงโตผงาด อักษรย่อ G.B. และตรารูปหน้าไม้ที่ประทับซ้ำลงไปบนลายน้ำอื่น ๆ อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้พบว่า มีการใช้สัญลักษณ์ข้างต้นในพระราชหัตถเลขาที่ส่งโต้ตอบเป็นการส่วนพระองค์เช่นกัน
แต่ที่สำคัญที่สุดคือตัวต้นฉบับแปล ซึ่งน่าจะคัดลอกโดยราชเลขานุการนั้น กลับปรากฎข้อความที่เขียนแก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายตำแหน่ง ซึ่งลายมือที่เขียนข้อความแก้ไขดังกล่าวมีเอกลักษณ์โดดเด่นและออกจะยุ่งเหยิง เหมือนกับของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งในช่วงท้ายรัชกาลไม่ผิดเพี้ยน
ดร. ฟิโลยังบอกว่า "ในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ ยิ่งคุณมีสถานะทางสังคมสูงขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีสิทธิเขียนหนังสือด้วยลายมือยุ่งเหยิงได้มากขึ้นเท่านั้น การแกะรอยอ่านทำความเข้าใจลายมือของพระราชินี ถือว่าเป็นปัญหาของคนอื่น"
คาดว่า "ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์" เลือกแปลงานชิ้นนี้เพื่อศึกษาแนวทางการปกครอง โดยตำราดังกล่าวของแทซิตัสระบุถึงประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิโรมัน นับแต่มรณกรรมของจักรพรรดิออกัสตัส ไปจนถึงการขึ้นสู่อำนาจของจักรพรรดิไทบีเรียส ซึ่งมุ่งเน้นการรวมศูนย์อำนาจไว้ในบุคคลเพียงคนเดียว
"แต่ก็ไม่แน่ว่า ควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งอาจแปลตำรานี้ เพื่อศึกษาตัวอย่างการปกครองที่ไม่ดีซึ่งกษัตริย์ควรหลีกเลี่ยงก็เป็นได้ เนื่องจากแทซิตัสนั้นถือเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีแนวคิดล้มล้างผู้ครองอำนาจ ทำให้ต่อมาในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งราชวงศ์สจวร์ต ได้มีการประณามว่างานของแทซิตัสต่อต้านระบอบกษัตริย์ด้วย"
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่งสามารถตรัสและอ่านเขียนได้ถึง 6 ภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน กรีก และละติน ทั้งเป็นที่รู้กันดีว่า ทรงโปรดปรานการฝึกแปลประโยคภาษาต่างประเทศในใจ โดยแปลทวนกลับไปมาระหว่างสองภาษา เพื่อลับสมองและเป็นงานอดิเรกในยามว่าง
จะมีการตีพิมพ์ผลงานแปลชิ้นนี้อีกครั้ง ในวารสารวิชาการด้านวรรณกรรม Review of English Studies ฉบับเดือน พ.ย. 2019 นี้