ไฟป่าออสเตรเลีย : วิกฤตใหญ่ที่เผาผลาญพื้นที่ 2 รัฐไปแล้วกว่า 30 ล้านไร่ นับแต่กลางปีที่แล้ว

ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ ซ้ำเติมด้วยอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์และภัยแล้งที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายเดือน
รัฐนิวเซาท์เวลส์เผชิญกับไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดโดยมีพื้นที่ถูกทำลายไป 4 หมื่น ตร.กม. แล้ว บ้านมากกว่า 1.3 พันหลังพังเสียหาย และผู้คนหลายพันต้องอพยพออกจากพื้นที่
ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตไป 20 คนแล้ว รวมถึงนักดับเพลิง 3 คน โดยส่วนใหญ่เหตุเกิดที่นิวเซาท์เวลส์
ถ้านับรวมพื้นที่เสียหายในรัฐวิกตอเรียด้วย จะกินพื้นที่ถึงกว่า 4.8 หมื่น ตร.กม. หรือกว่า 30 ล้านไร่
เกิดอะไรขึ้นที่รัฐนิวเซาท์เวลส์
นับแต่กรกฎาคม ปีที่แล้ว ไฟป่าลุกลามเร็วมากเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง มีกระแสลมแรง พร้อมด้วยภาวะภัยแล้งที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน
เกิดไฟไหม้ป่าหลายสิบจุดทั่วรัฐ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพุ่มไม้ ป่าบนเขา และอุทยานแห่งชาติ ซึ่งนักดับเพลิงยังไม่สามารถควบคุมไฟไว้ได้
เราอาจจะเข้าใจวิกฤตนี้ได้ดีขึ้นหากเทียบกับไฟป่าแอมะซอนที่ทำลายพื้นที่ไปประมาณ 8 พัน ตร.กม. และไฟป่าแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 ที่ทำลายพื้นที่ไป 1 หมื่น 8 พัน ตร.กม.
แล้วรัฐอื่นเป็นอย่างไร
ที่รัฐวิกตอเรีย พื้นที่กว่า 8 พัน ตร.กม. ถูกไฟเผาไหม้ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ก่อนจะมาทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
ในวันก่อนปีใหม่ ผู้อยู่อาศัยที่เมืองมัลลาคูตาหนีไปหลบภัยบริเวณริมชายหาด มีเพียงทิศทางลมที่ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ และวันที่ 3 ม.ค. ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวราวพันคน ได้รับความช่วยเหลือออกจากพื้นที่โดยกองทัพเรือออสเตรเลีย นอกจากนี้ กองทัพออสเตรเลียได้ส่งกำลังพล เรือ และเครื่องบิน มายังพื้นที่นี้เพื่อช่วยในการอพยพย้ายผู้คนและจัดการกับไฟป่า ด้วย
ที่กรุงแคนเบอร์รา ไฟป่าทำให้เมืองหลวงของออสเตรเลียกลายเป็นมหานครของโลกที่มีอากาศแย่เป็นอันดับที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ม.ค.
ที่มาของภาพ, EPA
พื้นที่เสียหายในรัฐวิกตอเรีย
ไฟป่ามฤตยู
ไฟป่าในพื้นที่หนึ่งสามารถทำให้เกิดไฟไหม้ได้ในอีกพื้นที่หนึ่ง โดยควันไฟได้พัดพาพายุฝนไปพื้นที่อื่น เกิดฟ้าผ่าลงบริเวณใบไม้ กิ่งไม้แห้ง ทำให้เกิดไฟไหม้ต่อเนื่องไปอีก จนควบคุมไม่ได้
จำนวนผู้เสียชีวิตจากไฟป่าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2019 สูงกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา
หายนะไฟป่าที่รุนแรงที่สุดที่ออสเตรเลียเคยเจอเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2009 โดยเรียกเหตุการณ์นั้นกันว่า "Black Saturday" โดยทำให้มีผู้เสียชีวิต 180 ราย
ที่มาของภาพ, EPA/ROYAL AUSTRALIAN NAVY
ที่เมืองมัลลาคูตา ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวราวพันคนได้รับความช่วยเหลืออพยพออกจากพื้นที่โดยกองทัพเรือออสเตรเลีย
เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือเปล่า
ชาวออสเตรเลียหลายคนสงสัยเรื่องนี้ แต่คำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจฟันธงได้
นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนมานานแล้วว่าสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งขึ้นจะส่งผลทำให้เกิดไฟป่าบ่อยและรุนแรงขึ้น หลายส่วนของออสเตรเลียเผชิญกับภัยแล้งมานาน บางทีเป็นหลายปี ยิ่งทำให้ไฟลุกลามง่ายเข้าไปใหญ่
เมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว อุณหภูมิในออสเตรเลียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2 ครั้ง โดยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 40.9 องศาเซลเซียสเมื่อ17 ธ.ค. และพุ่งเป็น 41.9 องศาเซลเซียสในวันถัดมา
คลื่นความร้อนเกิดจากอะไร
ปัจจัยหลักของสภาพภูมิอากาศลักษณะนี้เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า "Indian Ocean Dipole (IOD)" คืออุณหภูมิที่พื้นผิวน้ำทะเลอุ่นกว่าทางฟากตะวันตกของมหาสมุทรแต่เย็นกว่าในฟากตะวันออก
ความแตกต่างของอุณหภูมิที่ว่าสูงที่สุดในรอบ 60 ปี ผลที่เกิดขึ้นคือ เกิดฝนตกและน้ำท่วมมากกว่าที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยในฝั่งตะวันออกของแอฟริกา และเกิดภาวะแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย