ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค: “เราสูญเสียผู้คนไปหนึ่งชั่วอายุคน”

ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค: “เราสูญเสียผู้คนไปหนึ่งชั่วอายุคน”

การสู้รบนองเลือดระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานไม่ใช่แค่การแย่งชิงดินแดนที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์และความภาคภูมิใจในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งชาวอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานหลายชั่วอายุคนต่างยินดีที่จะต่อสู้และสละชีพเพื่อพิทักษ์สิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป

สงครามแย่งชิงภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน สองอดีตสาธารณรัฐสมาชิกสหภาพโซเวียต ที่เปิดฉากปะทะกันมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. แม้จะยุติลงหลังจากผู้นำทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพเมื่อต้นเดือน พ.ย.นี้ แต่การสู้รบนองเลือดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ได้นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตของคนมากมาย ซึ่งถือเป็นมรดกที่สร้างความเจ็บช้ำใจให้แก่ผู้คนทั้งสองฝ่าย

ทีมข่าวบีบีซีลงพื้นที่สำรวจชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ทั้งในช่วงก่อนและหลังจากการมีข้อตกลงสันติภาพ ประชาชนบางคนบอกว่าการสู้รบที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาต้องสูญเสียผู้คนไปหนึ่งชั่วอายุคน

สรุปความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน

อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานทำสงครามนองเลือดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990 เรื่องภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกควบคุมโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย

อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1922 และล่มสลายไปเมื่อปี 1991

ทั้งสองประเทศตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้หรือภูมิภาคที่ชื่อว่าคอเคซัส ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มาก เนื่องจากฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับตุรกี อิหร่านอยู่ทางใต้ จอร์เจียอยู่ทางเหนือ รัสเซียก็อยู่ทางตอนเหนือฝั่งอาเซอร์ไบจาน

ประชาชนส่วนใหญ่ในอาร์เมเนียเป็นชาวคริสต์ ส่วนอาเซอร์ไบจานซึ่งร่ำรวยจากการค้าน้ำมันเป็นชาวมุสลิม

สมัยสหภาพโซเวียต ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคมีชาวเชื้อสายอาร์เมเนียอาศัยอยู่ แต่กลับถูกปกครองโดยทางการอาเซอร์ไบจาน

เข้าช่วงปลายทศวรรษที่ 80 เมื่อสหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย รัฐสภาของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคลงมติตกลงเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนีย

เหตุนี้เองที่ทำให้เกิดการปะทะกันของคนสองเชื้อชาติ และเมื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งนี้ก็กลายเป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ มีคนหลายหมื่นเสียชีวิต และคนถึงล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่น และมีรายงานว่าต่างฝ่ายก็ต่างมุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งกันและกัน

กองกำลังอาร์เมเนียเข้าควบคุมภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคได้อย่างเต็มที่ก่อนที่จะประกาศหยุดยิงในปี 1994 จากการที่รัสเซียเข้ามาช่วยเจรจา

จากการตกลงกันในครั้งนั้น ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคจะยังเป็นของอาเซอร์ไบจานอยู่ แต่จะถูกปกครองโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เมเนีย

หลังจากนั้นก็มีการเจรจาสันติภาพอีกโดยกลุ่มโอเอสซีอี มินสค์ (OSCE Minsk Group) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1992 นำโดยฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ จัดประชุมที่กรุงมินสค์ของเบลารุส

แต่ถึงตอนนั้น ก็ยังไม่เคยมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ และก็มีการปะทะกันตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2016 ที่การปะทะกันรุนแรงมากจนทหารของแต่ละฝ่ายเสียชีวิตไปหลายสิบนาย

ภูมิศาสตร์การเมืองยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนเข้าไปอีก เพราะตุรกี ประเทศสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) เป็นประเทศแรกที่ถือว่าอาเซอร์ไบจานเป็นเอกราชในปี 1991 และเฮจแดร์ แอริเยฟ ประธานาธิบดีคนที่สามของอาร์เซอร์ไบจาน บอกว่า สองประเทศเป็น "หนึ่งชาติที่ประกอบไปด้วยสองรัฐ"

ขณะเดียวกัน อาร์เมเนียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย โดยรัสเซียมีฐานทัพในประเทศ และทั้งสองประเทศได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารร่วมกัน