รัฐประหารเมียนมา: ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอ้างเหตุทุจริตเลือกตั้งในการยึดอำนาจ

Myanmar"s military junta leader, General Min Aung Hlaing, speaks in a media broadcast in Naypyitaw, Myanmar February 8, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงการณ์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก หลังก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาแถลงการณ์ผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก โดยอ้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนว่ามีสาเหตุมาจากการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่าการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นนั้นเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

ผู้นำการก่อรัฐประหารพูดอะไรบ้าง

ถ้อยแถลงของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มุ่งเน้นไปที่การชี้แจงเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้มากกว่าที่จะกล่าวข่มขู่ประชาชนที่ออกมาประท้วงตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เขาระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาล้มเหลวในการสอบสวนเหตุไม่ชอบมาพากลของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และไม่เปิดให้มีการรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นธรรม

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนชุมนุมประท้วงการก่อรัฐประหารที่กรุงเนปิดอว์ วันที่ 8 ก.พ.

ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างเรื่องการโกงการเลือกตั้งเป็นวงกว้าง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งแถลงการณ์ในเครื่องแบบทหารสีเขียว ได้ให้คำมั่นจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ และส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะ พร้อมระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง "ที่ได้รับการปฏิรูป" ชุดใหม่จะรับหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นเมื่อใด

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมายังระบุว่า การปกครองประเทศภายใต้การนำของเขาจะ "แตกต่าง" ไปจากรัฐบาลทหารในอดีตที่กุมอำนาจในเมียนมานาน 49 ปี ก่อนจะสิ้นสุดลงในปี 2011 ซึ่งระหว่างนั้นได้เกิดเหตุปราบปรามนองเลือดฝ่ายผู้เห็นต่างในปี 1988 และปี 2007

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่ารัฐบาลทหารจะสร้าง "ประชาธิปไตยที่แท้จริง และมีระเบียบวินัย" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เรียกเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ขอให้ประชาชน "เชื่อตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และไม่คล้อยตามความรู้สึกของตัวเอง"

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาไม่ได้เอ่ยถ้อยคำข่มขู่กลุ่มผู้ประท้วงโดยตรง แต่ระบุเพียงว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการใช้มาตรการควบคุมในบางพื้นที่ของประเทศแล้ว โดยที่นครย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศได้มีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 20.00-04.00 น. และห้ามการจับกลุ่มชุมนุมกันเกิน 5 คน

ก่อนหน้านี้ สถานีโทรทัศน์ของทางการเมียนมาได้ออกประกาศเตือนว่า "จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย...ต่อการกระทำผิดฐานรบกวน ขัดขวาง และทำลายความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ และหลักนิติธรรม"

ที่มาของภาพ, EPA

มีหลักฐานการโกงเลือกตั้งหรือไม่

โดยทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง "บีบีซี เรียลลิตี เช็ก" (BBC Reality Check)

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อ้างถึงความไม่ชอบมาพากลในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเหตุผลหลักในการก่อรัฐประหารครั้งนี้

กองทัพเมียนมาระบุว่า พบตัวอย่างความผิดปกติในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 10 ล้านราย อาทิ กรณีการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อน หรือพบการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยไม่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน

คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ส่วนคณะผู้สังเกตการณ์อิสระในการเลือกตั้งครั้งนี้ยอมรับว่าอาจมีความผิดพลาดในรายชื่อดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนว่ามีการจงใจโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ขณะที่ศูนย์คาร์เตอร์ (Carter Center) องค์กรติดตามการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ส่งคณะผู้สังเกตการณ์กว่า 40 คนไปตามหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ในวันเลือกตั้ง ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้น "โดยไม่มีรายงานพบการทุจริตครั้งใหญ่"

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งยังมีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการลงคะแนนซ้ำ เช่น การให้ผู้ที่ใช้สิทธิ์แล้วเอานิ้วจุ่มหมึกชนิดที่ล้างออกยาก ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชี้ว่า การควบคุมการเดินทางเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนในหลายพื้นที่เป็นไปได้ยากมาก

คำบรรยายวิดีโอ,

รัฐประหารเมียนมา : “เราไม่อยากกลับไปสู่คืนวันอันมืดมนอีกต่อไปแล้ว”