ผู้นำเกาหลีเหนือเตือนประชาชนเตรียมรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งรุนแรง

ที่มาของภาพ, EPA
การยอมรับถึงสถานการณ์ความยากลำบากในประเทศของผู้นำเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
นายคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเรียกร้องให้ประชาชนเตรียมรับมือกับวิกฤต "อันยากลำบาก" หลังจากกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนเตือนว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารและความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
นายคิมกล่าวเรื่องนี้ในที่ประชุมพรรคคนงานเกาหลีเหนือ โดยเขาเปรียบสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเหมือนกับทุพภิกขภัยครั้งเลวร้ายในเกาหลีเหนือเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990
การยอมรับถึงสถานการณ์ความยากลำบากในประเทศของผู้นำเกาหลีเหนือเช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในการประชุมเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.) นายคิมเรียกร้องให้บรรดาผู้นำพรรค "ต่อสู้กับ 'ทุพภิกขภัยที่ยากลำบากอีกครั้ง' เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากให้ประชาชนของเรา แม้จะเล็กน้อยก็ตาม"
ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ (Arduous March) เป็นคำที่เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือเรียกห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของประเทศที่เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงระหว่างปี 1994 - 1998 ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายทำให้เกาหลีเหนือขาดความช่วยเหลือที่สำคัญ ส่งผลให้ประชาชนราว 3 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหาร
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นายคิมได้เตือนว่าประเทศกำลังเผชิญ "สถานการณ์เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์" และ "ความท้าทายมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน"
สถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกาหลีเหนือต้องปิดพรมแดนเพื่อสกัดการระบาดของโรค ส่งผลให้การค้ากับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักต้องหยุดชะงักลง นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังกำลังเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติต่อการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ในประเทศด้วย
ที่มาของภาพ, Getty Images
คนเกาหลีเหนือกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะเมืองในแถบชายแดนที่ติดกับจีน
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีคำเตือนว่าคนในเกาหลีเหนือกำลังประสบความยากลำบาก โดยรายงานหลายชิ้นระบุว่า ปัญหานี้ดูเหมือนจะรุนแรงเป็นพิเศษบริเวณเมืองตามแนวชายแดนที่ติดกับจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้คนมักมีรายได้เลี้ยงครอบครัวจากการลักลอบขนสินค้าเข้ามาจากฝั่งจีน
มีรายงานว่าราคาข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนเกาหลีเหนือในชนบทมีความผันผวนอย่างมาก โดยบางครั้งข้าวโพดหนึ่งกิโลกรัมมีราคาแพงกว่าเงินเดือนของชาวบ้านบางคน
ลินา ยูน นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในรายงานชิ้นล่าสุดที่อ้างอิงข้อมูลจากคนในเกาหลีเหนือผู้ไม่ต้องการเปิดเผยนามว่า "ตอนนี้แทบจะไม่มีอาหารจากจีนเข้ามาในประเทศเกือบ 2 เดือนแล้ว"
"มีขอทานเพิ่มขึ้นมาก บางคนเสียชีวิตจากความหิวโหยบริเวณพื้นที่แนวชายแดน และยังไม่มีสบู่ ยาสีฟัน หรือแม้แต่แบตเตอรี่"
เมื่อเดือนที่แล้ว นายโทมัส โอเค คีนทานา ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ ได้เตือนว่า "วิกฤตอาหารครั้งรุนแรง" ได้ทำให้เกิดปัญหาขาดสารอาหารและความอดอยากในประเทศนี้แล้ว
"มีรายงานการเสียชีวิตจากความอดอยาก รวมทั้งมีเด็กและคนชราที่ต้องออกมาขอทานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้"
ที่มาของภาพ, Reuters
เกาหลีเหนือปิดพรมแดนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อป้องกันประเทศจากโควิด-19
ลอรา บิคเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล ระบุว่า นายคิม จอง-อึน ขอแรงสนับสนุนจากคนในพรรคช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับความยากลำบาก เพื่อให้แน่ใจว่าคำเตือนนี้เป็นสิ่งที่มาจากตัวเขา หรือหากสถานการณ์เลวร้ายลงเขาก็จะสามารถกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเขาได้
นอกจากนี้ เขายังอาจกล่าวโทษว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติต่อโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
แต่ถึงอย่างนั้น เกาหลีเหนือกลับยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาและทดลองขีปนาวุธรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
เกาหลีเหนือแสดงแสนยานุภาพท้าทายว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่
เหตุใดเกาหลีเหนือจึงประสบปัญหาหนัก
ระบบเศรษฐกิจเกาหลีเหนือถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล และเป็นประเทศที่มีการค้าขายเสรีน้อยที่สุด
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายมหาศาลในการบำรุงรักษากองทัพและระบบความมั่นคงต่าง ๆ ก็ทำให้มีเงินเหลือตกมาถึงประชาชนเพียงน้อยนิด
การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติเพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือล้มโลกโครงการนิวเคลียร์ รวมทั้งการปิดพรมแดนสกัดโควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจให้เลวร้ายลง
โดยการค้ากับจีนซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจเกาหลีเหนือถูกระงับลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เกาหลีเหนือระบุว่าการปิดพรมแดนมีขึ้นเพื่อให้ประเทศปลอดจากโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังขาต่อคำกล่าวอ้างนี้