“ไม่ฝักใจทางเพศ” การปรากฏตัวของอัตลักษณ์ทางเพศที่สังคมมองข้าม

Alice, 23, from Northamptonshire

ที่มาของภาพ, CONTRIBUTOR IMAGE

คำบรรยายภาพ,

อลิซ เป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) ที่มีความรู้สึกรักใคร่กับคนเพศตรงข้าม (heteroromantic)

จำนวนผู้คนที่ระบุว่าตัวเองเป็นผู้ "ไม่ฝักใจทางเพศ" (Asexual) กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ แม้เพศวิถีนี้จะอยู่คู่มนุษย์มายาวนานแต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงหรือได้รับการยอมรับมากนัก

การที่ผู้คนออกมาเปิดเผยและพูดคุยถึงความไม่ฝักใจทางเพศมากขึ้น อาจช่วยให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้ค้นพบและรู้จักตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนมุมมองของสังคมเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศนี้

ไม่ฝักใจทางเพศคืออะไร

ไม่ฝักใจทางเพศ คือการขาดความสนใจในเรื่องเพศ หรือความดึงดูดทางเพศ เป็นความรู้สึกและอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลาย โดยผู้ไม่ฝักใจทางเพศบางคนอาจไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว แต่บางคนมี

ผู้ไม่ฝักใจทางเพศบางคนอาจอยู่เป็นโสดและไม่มีความสนใจเรื่องการมีคู่ครอง ในขณะที่บางคนอาจเลือกมีความสัมพันธ์แบบที่เรียกว่า "เควียร์พลาโทนิก รีเลชันชิป" (queerplatonic relationship) ซึ่งเป็นการมีคู่ชีวิตที่มีความรู้สึกเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง โดยที่ไม่มีเรื่องเพศหรือความรู้สึกรักแบบชู้สาวเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นความรักระหว่างคนต่างเพศ คนเพศเดียวกัน หรือรักได้ทั้งสองเพศ

คำศัพท์เฉพาะของกลุ่มผู้ไม่ฝักใจทางเพศ

เครือข่ายการศึกษาและการมองเห็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (Asexual Visibility and Education Network หรือ AVEN) อธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับการไม่ฝักใจทางเพศเอาไว้ดังนี้

Asexual : การไม่ฝักใจทางเพศ คือผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือความปรารถนาจากภายในจิตใจที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ

Ace : กลุ่มคำที่ใช้บรรยายความแตกต่างของระดับความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาวและความดึงดูดทางเพศ

Demisexual: ผู้ที่จะมีความรู้สึกดึงดูดทางเพศหรือความต้องการทางเพศได้ก็ต่อเมื่อเกิดความผูกพันทางอารมณ์กับฝ่ายตรงข้ามแล้วเท่านั้น

Aromantic : ผู้ที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว หรือมีความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว

Gray-sexual : ผู้อยู่กึ่งกลางระหว่างการไม่ฝักใจทางเพศกับการสนใจเรื่องเพศ

Heteroromantic: ความรู้สึกรักใคร่กับคนเพศตรงข้าม

Homoromantic: ความรู้สึกรักใคร่กับคนเพศเดียวกัน

Allosexual: หรือเรียกสั้น ๆ ว่า allo หมายถึงคนที่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น ซึ่งเป็นคำตรงข้ามของการไม่ฝักใจทางเพศ

AVEN ระบุว่า ปัจจุบันมีคนที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ไมเคิล ดอร์ โฆษก AVEN กล่าวว่า "สิ่งชัดเจนที่สุดคือการที่มีกลุ่มของผู้ไม่ฝักใจทางเพศกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

บีบีซีได้พูดคุยกับผู้ไม่ฝักใจทางเพศ 3 คนถึงการเติบโตมาในเพศวิถีนี้ที่สังคมบางส่วนอาจยังไม่รู้ว่ามีอยู่

"ฉันไม่อยากให้การไม่ฝักใจทางเพศเป็นญาติที่แปลกประหลาดของกลุ่ม LGBTQ"

ที่มาของภาพ, CONTRIBUTOR IMAGE

ยาสมิน นางแบบวัย 24 ปีจากเมืองเรดดิง ระบุว่าตัวเองเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) และไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว (aromantic)

"ฉันค้นพบว่าตัวเองเป็นคนไม่ฝักใจทางเพศตอนอายุ 15 ปี ตอนนั้นฉันอยู่ที่โรงเรียน และพยายามใช้ถ้อยคำทางเลือกเพื่ออธิบายความรู้สึกของตัวเอง ฉันบอกว่าฉันเป็นหญิงที่ไม่ได้ชอบผู้หญิงด้วยกัน แต่ฉันก็ไม่ได้ชอบผู้ชาย หรือไม่รู้สึกดึงดูดกับใครเลย ซึ่งตอนนั้นเองมีคนพูดขึ้นมาว่า 'บางทีเธออาจเป็นคนไม่ฝักใจทางเพศ'"

ยาสมินเล่าว่าได้ค้นหาคำนี้ทางกูเกิล และดูวิดีโอทางยูทิวบ์ จึงได้รู้ว่ามีคนอื่นที่รู้สึกแบบเดียวกับเธอ

"ฉันไม่มีความรู้สึกดึงดูดทางเพศหรือความรักใคร่แบบชู้สาว ฉันคิดว่ามันคือสิ่งเดียวกัน จนกระทั่งฉันได้พบกับคนไม่ฝักใจทางเพศคนอื่น ๆ ที่มีความรู้สึกรักใคร่...ดังนั้นในปี 2018 ฉันจึงเริ่มระบุว่าตัวเองเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศและไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว"

"เวลาที่คุณไม่ฝักใจทางเพศ ผู้คนมักคิดว่าร่างกายคุณผิดปกติ เวลาที่คุณไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว ผู้คนก็คิดว่าจิตใจคุณผิดปกติ ในโลกออนไลน์ฉันถูกเรียกต่าง ๆ นานา ตั้งแต่ "ไซโคพาธ" (psychopath คือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม) ไปจนถึงพวกหลงตัวเอง (narcissist) และพวกฆาตกรต่อเนื่องใจอำมหิต รวมถึงพวกไร้หัวใจ..."

"ฉันมีเพื่อนฝูงมากมาย และไม่คิดจะใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ฉันมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อนและความสัมพันธ์กับครอบครัวที่กินเวลาของฉันไปมากอยู่แล้ว ในอนาคตฉันอาจมีสัตว์เลี้ยง หรือมีลูก..."

ยาสมินเล่าว่าได้พูดคุยกับคนที่องค์กรสโตนวอลล์ที่ทำงานส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหราชอาณาจักร และเธออยากเห็นกลุ่มผู้ไม่ฝักใจทางเพศถูกรวมอยู่ในกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคและต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังด้วย

"ฉันอยากเห็นการไม่ฝักใจทางเพศถูกพูดถึงอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มเพศวิถีอื่น ๆ และไม่ถูกปฏิบัติเหมือนญาติที่แปลกประหลาดของกลุ่ม LGBTQ หรือโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง"

"ฉันหวังว่าจะข่มความ 'ไม่ฝักใจทางเพศ' ของตัวเองเอาไว้ได้"

ที่มาของภาพ, CONTRIBUTOR IMAGE

คำบรรยายภาพ,

อลิซ เป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) ที่มีความรู้สึกรักใคร่กับคนเพศตรงข้าม (heteroromantic)

อลิซ วัย 23 ปี จากมณฑลนอร์ทแฮมป์เชียร์ เป็นนักรณรงค์เรื่องสุขภาพจิต ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) ที่มีความรู้สึกรักใคร่กับคนเพศตรงข้าม (heteroromantic)

"ฉันไม่เคยได้ยินคำว่า "ไม่ฝักใจทางเพศ" จนกระทั่งได้เรียนวิชาชีววิทยาสำหรับเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย..."

"จากนั้นฉันได้ยินคำนี้อีกครั้งตอนอายุ 17 ปี ตอนนั้นฉันคบหากับผู้ชายเป็นครั้งแรก และเขาก็อยากทำกิจกรรมทางเพศต่าง ๆ แบบที่วัยรุ่นมักทำกัน ซึ่งแทนที่ฉันจะรู้สึกตื่นเต้น แต่กลับไม่รู้สึกอะไรเลย นอกจากความรู้สึกขยะแขยง"

"หลังจากฉันได้ตระหนักว่าตัวเองเป็นคนไม่ฝักใจทางเพศ ฉันรู้สึกเหมือนคนหลงทาง และไม่คิดว่าจะได้พบเจอกับความรักถ้าฉันไม่สามารถทำกิจกรรมทางเพศได้ เพราะฉันถูกสังคมปลูกฝังให้คิดว่าความรักกับเพศเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกันเสมอ"

"ฉันใช้เวลา 2 ปีบังคับตัวเองให้ทำกิจกรรมทางเพศด้วยความรู้สึกไม่สบายใจและขยะแขยงกับตัวเองอย่างที่สุดโดยที่หวังว่าฉันจะสามารถข่มความไม่ฝักใจทางเพศของตัวเองเอาไว้ได้ และเอาชนะมันในที่สุด"

ตอนที่อลิซได้พบกับคู่หมั้นของเธอผ่านเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เธอตัดสินใจบอกเขาว่าเธอเป็นคนไม่ฝักใจทางเพศ

"...เขาช็อกและดูสับสนเล็กน้อย แต่ฉันชอบที่เขาเป็นคนตรงไปตรงมาและใจกว้าง เขาพูดว่าเขาไม่สามารถพูดได้ว่ามันจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเขาในอนาคต แต่ในตอนนี้เขาชอบฉันแบบที่ฉันเป็น"

"เราทำช่องยูทิวบ์ด้วยกัน โดยพูดเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเรา...เราพูดกันทุกเรื่องเกี่ยวกับเซ็กส์และขอบเขตต่าง ๆ...ไม่มีการตัดสิน และไม่มีแรงกดดัน"

อลิซเชื่อว่านี่คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จใจการคบหากับคนที่มีความต้องการและดึงดูดทางเพศ

"เรามีเซ็กส์ แต่ก็น้อยกว่าคู่รักคู่อื่นอย่างไม่ต้องสงสัย มันเป็นสถานการณ์ที่ยาก แต่นี่คือเหตุผลว่าทำไมการพูดแบบเปิดใจเกี่ยวกับเรื่องเพศจึงสำคัญ"

"บางวันฉันรู้สึกขยะแขยงกับกิจกรรมทางเพศ และอาจสติแตกที่ต้องคิดถึงมัน แต่บางวันฉันก็ชินชากับมัน และยินดีที่จะทำให้คู่ของฉันมีความสุข"

"ฉันพยายามจะอธิบายว่าถึงแม้ฉันจะไม่รู้สึกถึงความสุขทางเพศ แต่ก็มีความพึงพอใจทางอารมณ์ที่ได้รู้ว่าเขามีความสุขจากมัน"

"(แฟนของฉัน) ทำให้ฉันผ่อนคลาย"

"การมีเซ็กส์โดยปราศจากความรักมีอยู่จริง แล้วทำไมถึงยากที่จะเชื่อว่าความรักที่ปราศจากเซ็กส์จะมีอยู่จริงเช่นกัน ฉันตกหลุมรักและอกหักเหมือนคนอื่น ๆ"

"ทุกคนที่ผมหลงรัก ผมไม่ได้รู้สึกดึงดูดทางเพศกับพวกเขาในตอนแรก"

จีโอวานนี วัย 37 ปี ครีเอทีฟฟรีแลนซ์และนักกิจกรรมจากกรุงลอนดอน ที่ระบุว่าตัวเองเป็นเกย์ที่จะมีความรู้สึกดึงดูดทางเพศหรือความต้องการทางเพศได้ก็ต่อเมื่อเกิดความผูกพันทางอารมณ์กับฝ่ายตรงข้ามแล้วเท่านั้น (demisexual)

"ผมรู้สึกเชื่อมโยงกับใครสักคน และจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกดึงดูด...ผมต้องพบหน้า 2 -3 ครั้ง ต้องรู้สึกใกล้ชิดและสบายใจเสียก่อน"

"ทุกคนที่ผมหลงรัก ผมไม่ได้รู้สึกดึงดูดทางเพศกับพวกเขาในตอนแรก"

จีโอวานนี อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า "ผมไม่ได้หมายความว่าผมไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดกับพวกเขา ผมชอบพวกเขามาก ผมมีอาการทุกอย่างของการตกหลุมรัก แต่ความรู้สึกดึงดูดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้น (ในครั้งแรก ๆ)"

จีโอวานนี เล่าว่า ปัจจุบันสังคมยังไม่ให้การยอมรับว่าผู้ไม่ฝักใจทางเพศ คืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างหนึ่ง เช่นในการสำรวจสำมะโนประชากรในสหราชอาณาจักครั้งล่าสุดซึ่งเขาอยากระบุอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตนเองว่ามีมากกว่าหนึ่งตัวเลือก นั่นคือเป็นเกย์และผู้ไม่ฝักใจทางเพศ

"ผู้คนไม่ยอมรับว่ามันคืออัตลักษณ์หนึ่ง...บางคนไม่เข้าใจว่าคุณสามารถเป็นเกย์และเป็นผู้ไม่ฝักใจทางเพศได้ด้วย ผมบอกพวกเขาว่า 'คุณยังสามารถพัฒนาความรู้สึกรักใคร่ได้'