รัฐประหารเมียนมา : ใครเป็นใครในชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ กับประวัติย่อของข้อพิพาท
ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธในเมียนมาเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้ง หลังจากถูกสื่อของทางการเมียนมากล่าวหาว่าสังหารหมู่คนงานสร้างสะพาน 25 คน ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่
หนังสือพิมพ์เดอะโกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมา และสถานีโทรทัศน์เมียวดีของกองทัพเมียนมา เผยแพร่ภาพศพผู้เสียชีวิต 25 รายที่ถูกนำมาทิ้งไว้กลางป่าในเมืองเมียวดี ทางภาคตะวันออกของประเทศ บริเวณพรมแดนที่ติดกับจังหวัดตากของไทย พร้อมระบุว่า กลุ่มผู้เสียชีวิตเคยทำงานก่อสร้างสะพานแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงแต่ถูกองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) ลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. แล้วลงมือสังหาร
ด้านกลุ่ม KNDO ยอมรับว่า ได้สังหารคนงานทั้ง 25 คนจริง เนื่องจากสะพานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในพื้นที่หวงห้าม และคนงานก่อสร้างทั้ง 25 คน เป็นทหารพม่าที่ปลอมตัวมา ดังนั้น จึงต้องถูกลงโทษตามขั้นตอนของ KNDO
กลุ่ม KNDO เป็นหนึ่งในกองทัพกะเหรี่ยงที่อยู่ภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ทำงานร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งกำลังเปิดศึกสู้รบอยู่กับกองทัพเมียนมาบริเวณจังหวัดผาปูน ตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในขณะนี้
ความขัดแย้งบริเวณชายแดนของเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในหลายจุด นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา การปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากต้องพลัดถิ่นฐาน และบางส่วนอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทย
ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารบางส่วนได้หลบหนีการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพเมียนมาเข้าป่า และเข้าฝึกการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ในฐานะของ "กองกำลังพิทักษ์ประชาชน"(People's Defense Force หรือ PDF)
ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธคือใคร
เมียนมามีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ราว 135 กลุ่ม แต่ถูกแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 8 กลุ่ม ได้แก่ชาวพุทธบะหม่า ซึ่งมีจำนวน 2 ใน 3 ของประชากรในเมียนมา ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ คะฉิ่น, ไทใหญ่, ชิน, ยะไข่, คะยา, กะเหรี่ยง และมอญ
ดร.ไมตรี อ่อง-ทวิน นักประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า เดิมทีชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน แต่เริ่มมีความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในช่วงที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งมีการจัดระบียบสังคมตามชาติพันธุ์ของประชากร
หลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ไม่นาน ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในตอนนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยบางกลุ่มต้องการร่วมงานกับรัฐบาล แต่กลุ่มอื่นต้องการแยกตัวเป็นอิสระ และตั้งรัฐปกครองตนเอง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และความไม่สงบในประเทศเรื่อยมา
นายพล ออง ซาน ผู้นำการปฏิวัติ เคยสัญญาว่าจะให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกครองตนเองตามข้อตกลงปางหลวง ปี 1947 แต่เขาถูกลอบสังหารลงก่อนที่เมียนมาจะได้รับเอกราชในปี 1948 ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่บรรลุผล
และแม้จะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศในปี 2015 รวมทั้งการที่รัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี จะพยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการสันติภาพ แต่การก่อรัฐประหารในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ทำให้กระบวนการดังกล่าวยุติลง ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธบางกลุ่ม เช่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง และกองทัพเอกราชคะฉิ่น กลับมาก่อเหตุโจมตีทหารเมียนมาอีกครั้ง
ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมคัดค้านรัฐประหาร
ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับบีบีซีไทยว่า
"โดยพื้นฐานแล้วกลุ่มชาติพันธุ์หวาดระแวงกองทัพที่พยายามโจมตี ทำสงครามประปรายเป็นะระยะช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้มีข้อตกลงหยุดยิง และถ้าให้เลือกระหว่างคณะรัฐประหารที่เป็นเผด็จการที่พยายามรวบอำนาจ กับกลุ่มคนพม่าเรียกร้องประชาธิปไตย และพูดเรื่องสหพันธรัฐ ก็ต้องเอนมาทางกลุ่มด้านหลังมากกว่า เพราะการเจรจาสันติภาพเมื่อสิบปีที่ผ่านมาธงคือการมุ่งสู่สหพันธรัฐประชาธิปไตย...ตามความปรารถนาของกลุ่มชาติพันธุ์หลาย ๆ กลุ่ม"
ทำไมต้องสนใจเรื่องเมียนมา
ผศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า "พม่าเป็นเพื่อนบ้านที่ติดประชิดไทยด้วยเขตแดนยาวไกลเมื่อเทียบเพื่อนบ้านอื่น ๆ มีความอ่อนไหวเปราะบางทางการเมืองทหาร ความขัดแย้งหลายมิติ แม้แต่เรื่องโรฮิงญา...ก็กระทบไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับความขัดแย้งตรงพรมแดนไทยพม่าโดยตรง และพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นการสั่นไหวทางการเมืองในพม่าย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐไทยอยู่แล้ว มีข้อพึงระวังหลายแบบ อาทิ รองรับผู้ลี้ภัย เรื่องกลุ่มติดอาวุธ กองบัญชาการอยู่ติดตะเข็บชายแดน เขาถูกโจมตี แล้วหลบมาฝั่งไทย..."