อัฟกานิสถาน : ชีวิตภายใต้การปกครองของตาลีบันที่สตรีถูกถาม "ทำไมคุณเดินทางโดยไม่มีผู้ติดตาม"

ที่มาของภาพ, AAMIR QURESHI
ลีซ ดูเซ็ต
หัวหน้าผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศของบีบีซี กรุงคาบูล
"ทำไมคุณเดินทางโดยไม่มีผู้ติดตาม" สมาชิกกลุ่มตาลีบันถามหญิงชาวอัฟกันถึงสามีหรือไม่ก็สมาชิกผู้ชายในครอบครัวของเธอ
ผู้หญิงคนนี้นั่งอยู่ท้ายรถแท็กซี่คันเก่าที่ไปหยุดที่ด่านตรวจซึ่งมีธงสีขาวและตัวหนังสือสีดำของตาลีบัน
ไม่มีใครแน่ใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ในกรุงคาบูลตอนนี้
สมาชิกกลุ่มตาลีบันซึ่งมีผ้าโพกหัวและสะพายปืนไรเฟิลผู้นี้บอกให้หญิงคนนี้โทรหาสามี เมื่อเธออธิบายว่าเธอไม่มีโทรศัพท์ เขาสั่งให้คนขับรถพาเธอกลับบ้านไปรับสามีมาด้วย
ดูเผิน ๆ กรุงคาบูลยังเหมือนเดิม มีรถติดจอแจ มีรถเข็นไม้ขนองุ่นเขียวและลูกพลัมสีม่วงเข้ม มีเด็กตามท้องถนนที่ใช้ชุดคลุมขาดรุ่งริ่งเดินฝ่าผู้คน
ตลาดในกรุงคาบูลยังเปิดตามปกติ
แต่จริง ๆ แล้ว ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว นี่เป็นเมืองหลวงที่ถูกปกครองโดยกลุ่มตาลีบัน และท้องถนนก็มีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธให้เห็นอยู่ทั่วไป
"ระมัดระวังเวลาจัดการกับผู้คนของพวกเราหน่อย ประเทศนี้เจ็บปวดมามากแล้ว อ่อนโยนหน่อย" นี่คือสิ่งที่ ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบัน กล่าวในวันแรกหลังจากกองทัพสหรัฐฯ ถอนทัพไปหมด
แต่บางสิ่งบางอย่างก็ไม่ต้องใช้คำพูด ชาวอัฟกันปรับตัวรับกับการอยู่ใต้อำนาจตาลีบันเป็นครั้งที่ 2 โดยอัตโนมัติ ผู้ชายหยุดโกนหนวด ผู้หญิงเปลี่ยนมาใช้ผ้าพันคอสีดำแทนที่มีสีสันฉูดฉาด
"ความฝันทั้งหมดของฉันถูกทำลาย"
"จะทำยังไงดี?" คือคำถามและการขอความช่วยเหลือที่ชาวอัฟกันหลายคนส่งมายังมือถือและคอมพิวเตอร์ฉัน และอีกหลายคนทั่วโลกตลอดเวลา
มาร์ยัม ราเจอี รู้ดีว่าเธอต้องทำอย่างไรตอนกรุงคาบูลถูกยึด
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ขณะที่กลุ่มตาลีบันออกมาตามท้องถนน เธอกำลังนำการสัมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับอัยการผู้หญิงประจำสำนักอัยการอัฟกานิสถาน
"เราต้องทำต่อไป" นักเรียนที่เฝ้ารอการเรียนการสอนในครั้งนั้นขอร้องเธอหลังจากที่เธอบอกถึงความเสี่ยงที่กำลังใกล้ตัวเข้ามาเรื่อย ๆ
มาร์ยัมต้องย้ายที่หลบซ่อนไปเรื่อย ๆ
และแล้ว ห้องเรียนของเธอก็ต้องยุติ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มาร์ยัมต้องคอยย้ายไปหลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ พร้อมครอบครัวซึ่งมีเด็กเล็ก 2 คน
นิโลฟาร์ ลูกสาววัย 3 ขวบ เธอถึงกับบอกแล้วว่าโตขึ้นอยากเป็นวิศวกรหญิงขณะนั่งอยู่หน้าชุดตัวต่อของเล่นทำจากพลาสติกในห้องที่สร้างจากอิฐดินเหนียว มีแสงแดดหน้าร้อนส่องเข้ามาทางหน้าต่าง
ไม่มีใครแน่ใจเลยว่าผู้นำตาลีบันหมายความว่าอย่างไรตอนที่บอกว่าผู้หญิงอัฟกันจะได้รับ "สิทธิภายใต้หลักศาสนาอิสลาม"
ผู้หญิงหลายคนรวมถึงมาร์ยัน ได้รับการแจ้งว่าอย่ากลับไปที่ทำงาน หลายคนรู้สึกว่าพวกเขาคงไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมแล้ว และเมืองนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเขาอีกต่อไป
"มันเป็นสิทธิของฉันที่จะได้รับการศึกษา มีการงานที่ดี มีบทบาทระดับสูงในสังคม" อาร์ยัมเล่าให้เราฟังขณะนั่งอยู่ข้างกองหนังสือสำหรับเรียนระดับมหาวิทยาลัยและสำหรับการนำหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้คนตระหนักเรื่องเพศและสิทธิมนุษยชน
"ความฝันทั้งหมดของฉันถูกทำลาย" เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
หลังจากมีกองกำลังนานาชาติเข้ามาอยู่ในประเทศถึง 2 ทศวรรษ ก็เกิดพื้นที่สำหรับความคิดและตัวตนใหม่ ๆ สำหรับชาวอัฟกันหลายคน
"ผมมีความทรงจำดี ๆ จากตอนงานเลี้ยงวันคริสมาสต์ ตอนที่เราทำอาหารอร่อย ๆ และเราก็มีความสุขกันมาก" ฮามีด เล่า เขาเคยเป็นหัวหน้าเชฟที่สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในกรุงคาบูลอยู่ 13 ปี เรานั่งขัดสมาธิคุยกันพร้อมลูกเล็ก 5 คนของเขา ตรงพื้นมีรูปถ่ายเก่าๆ และก็ใบประกาศแสดงความขอบคุณที่เขาทำงานช่วยเหลือ
ฮามีดเคยทำงานที่สถานทูตสหราชอาณาจักรและรู้สึกว่าเขาถูกทรยศ
แต่ฮามีด และพนักงานอีก 60 คน ได้รับการว่าจ้างผ่านบริษัทเอกชนอีกที มีแหล่งข่าวบอกว่าพนักงานเกือบทั้งหมดที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรงจากกระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้รับการช่วยเหลืออพยพออกจากประเทศได้
"พวกเราทำงานหนักมาก แม้กระทั่งตอนล็อกดาวน์เพราะโควิด หากพวกเขาไม่พาเราออกไปจากที่นี่ มันเท่ากับเป็นการทรยศกัน" ฮามีด กล่าว
สหราชอาณาจักรและชาติตะวันตกอื่น ๆ สัญญาว่าจะหาทางช่วยเหลือพวกเขาจากประเทศที่ 3 แต่การหาทางหนีออกไปจากอัฟกานิสถานเป็นเรื่องลำบากยากเย็นและน่ากลัว
บทสนทนากับกลุ่มตาลีบัน
มีหลายคนอยากออกจากเมืองหลวง แต่ก็มีบางคนที่อยากเดินทางเข้ามาเหมือนกัน มีสมาชิกกลุ่มตาลีบันกลุ่มหนึ่งมาชวนเราไปคุยด้วยขณะเรากำลังมุ่งหน้าไปทางเข้าสนามบินคาบูล
"ผมไม่ได้มาคาบูลมาหลายปีแล้ว" ราฟิลลาห์ สมาชิกวัย 25 ปีของตาลีบัน กล่าว สีหน้าท่าทางเขามีความสุขมาก
สมาชิกกลุ่มตาลีบันบอกว่า "เราทุกคนต่างก็เป็นชาวอัฟกัน"
เมื่อถามถึงคนหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกับเขาที่มีการศึกษาที่รู้สึกว่าอนาคตถูกทำลายไป ราฟิลลาห์บอกว่า "เราทุกคนต่างก็เป็นชาวอัฟกัน และประเทศกำลังมุ่งไปสู่สันติภาพและความเจริญก้าวหน้า"
แต่ในบางพื้นที่ นักรบตาลีบันก็เที่ยวไปตามบ้านต่าง ๆ เรียกร้องให้คนคืนมือถือและรถยนต์ของรัฐบาล หรือของมีค่าอะไรก็ตามจากงานเก่าของพวกเขา ในบางกรณี กลุ่มตาลีบันก็ยึดรถส่วนตัวของคนไปด้วยโดยกล่าวหาว่าพวกเขาได้มาเพราะการทุจริต
ในแถบตะวันตกของกรุงคาบูล มีบางย่านที่มีชุนกลุ่มน้อยชาวฮาซาราอาศัยอยู่ มีการบอกเล่าถึงเหตุเข้าบุกค้นที่บ้าน หรือชายบางคนที่ถูกจับตัวไป
"ฉันกลัว" ผู้หญิงชาวฮาซาราคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปใจกลางเมืองเพื่อทำงาน "เราบอกกับพวกตาลีบันว่าเราคือคนหารายได้คนเดียวของครอบครัว เราจำเป็นต้องไปทำงาน"
"นี่เรื่องจริงหรือเปล่า"
ที่ใจกลางกรุงคาบูล มีคนต่อคิวหน้าธนาคารยาวเหยียด สาขาธนาคารส่วนใหญ่ปิดทำการ หรือไม่ก็ไม่มีเงิน
"สัปดาห์หนึ่งมาแล้วที่ผมมานี่ทุกวันเพื่อมากดเงิน" ชายคนหนึ่งเล่า "นี่เป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่จะถอยหลังกลับ"
ผู้คนมหาศาลกำลังต่อคิวหน้าธนาคาร
แต่ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศ ประชาชนบางส่วนก็โล่งอกที่ไม่มีเครื่องบินรบของสหรัฐฯ อีกต่อไป ไม่มีการสู้รบอีกต่อไปแล้ว แต่สำหรับชาวอัฟกันอีกหลายล้านคน ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ยังประสบกับความยากลำบากและความหิวโหยเช่นเคย
"นี่คือประวัติศาสตร์เหรอ นี่เรื่องจริงหรือเปล่า ผมไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองเลย" อาเหม็ด มังลี นักข่าวอิสระชาวอัฟกันกล่าว ตอนเราเจอกันที่สถานบินคาบูล
เราเดินคุยกันในย่านที่เต็มไปด้วยขยะและกระเป๋าที่ถูกทิ้งไว้ขณะคนพยายามขึ้นเครื่องบินทหารเที่ยวท้าย ๆ อาเหม็ดเริ่มทำงานตั้งแต่ตอนที่ตาลีบันถูกโค่นจากอำนาจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
"โฆษกตาลีบันพยายามจะประสานงานกับสื่อ แต่สมาชิกทุกคนก็มีอาวุธ ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นพระราชา" อาเหม็ด กล่าว "ผมไม่รู้ว่าจะเสี่ยงชีวิตได้อีกนานแค่ไหนแต่ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในครั้งนี้"