วงจรชีวิตจักรพรรดิโรมัน ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงถูกสังหาร เป็นไปตาม "กฎกำลัง" ทางคณิตศาสตร์

ที่มาของภาพ, Getty Images
รูปสลักหินอ่อนของออกัสตัส ซีซาร์ จักรพรรดิโรมันพระองค์แรก
ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตก มีโศกนาฏกรรมทางการเมืองบันทึกไว้มากมายหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงวงจรชีวิตอันดำมืดของจักรพรรดิโรมันหลายพระองค์ที่ได้ขึ้นครองราชย์โดยไม่คาดฝัน และต่างก็ประสบเคราะห์กรรมถูกโค่นบัลลังก์และถูกสังหารจนสิ้นชีพไปก่อนวัยอันควร
เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ยุคโรมันโบราณเช่นนี้ วนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนดูเหมือนกับเป็นคำสาป แต่ใครจะคาดคิดว่ามันมีความสอดคล้องกับแบบแผนทางคณิตศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่สามารถใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์อื่น ๆ ได้แบบครอบจักรวาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดแผ่นดินไหว แนวโน้มการขยายตัวทางธุรกิจ หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย
ทีมนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์เชิงสถิติจากมหาวิทยาลัยเซาเปาลูของบราซิล ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์โอกาสรอดชีวิตของบรรดาจักรพรรดิโรมัน 175 พระองค์ ในวารสาร Royal Society Open Science โดยใช้หลักทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่เรียกว่า "กฎกำลัง" (Power Law) มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ครั้งนี้
กฎกำลังนั้นแสดงความสัมพันธ์เชิงฟังก์ชันระหว่างตัวเลข 2 จำนวน โดยความเปลี่ยนแปลงในจำนวนหนึ่ง จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนตามการยกกำลังในอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งกฎกำลังที่นำมาใช้ในกรณีของจักรพรรดิโรมันนี้เรียกว่า "หลักการพาเรโต" (Pareto principle) หรือกฎ 80/20 ที่มาจาก 8 = 2^3
หลักการดังกล่าวชี้ว่าเหตุการณ์สองประเภทจะมีความสัมพันธ์เป็นสัดส่วนกัน โดยเหตุการณ์ทั่วไปที่พบได้บ่อยจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าที่ 80% ในขณะที่เหตุผิดปกติซึ่งพบได้ยากมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่าที่ 20% ซึ่งในกรณีของจักรพรรดิโรมันนั้น การตายด้วยสาเหตุปกติตามธรรมชาติถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก

ที่มาของภาพ, Getty Images
"มรณกรรมของจูเลียส ซีซาร์" ภาพวาดยุคปลายศตวรรษที่ 18 โดย Vincenzo Camuccini ศิลปินชาวอิตาลี
ผลการคำนวณด้วยหลักคณิตศาสตร์ข้างต้นปรากฏว่า เหล่าจักรพรรดิโรมันมีโอกาสเพียง 1 ใน 4 หรือ 24.8% ที่จะเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อสิ้นอายุขัย โดยไม่ถูกลอบสังหาร สิ้นชีพในสงคราม หรือถูกบีบบังคับให้ฆ่าตัวตายไปเสียก่อน
ผลการคำนวณยังชี้ว่า ความเป็นไปได้ที่จักรพรรดิโรมันจะสิ้นชีพด้วยเหตุรุนแรงนั้น พุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อแรกขึ้นครองบัลลังก์ แต่หากผ่านช่วงวิกฤตดังกล่าวมาได้ ความเสี่ยงที่จะถูกสังหารจะลดลงเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงปีที่ 13 ของการครองราชย์ ซึ่งค่าความน่าจะเป็นของการถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
ดร. ฟรานซิสโก โรดริเกซ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยอธิบายว่า จักรพรรดิพระองค์ใหม่ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ มีความเสี่ยงถูกลอบสังหารมากที่สุด เนื่องจากอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ปั่นป่วนไม่แน่นอน และองค์จักรพรรดิเองยังไม่มีทักษะทางการเมืองมากนัก ความเสี่ยงลักษณะนี้จะหวนคืนกลับมาในอีก 13 ปีให้หลัง อาจเป็นเพราะเกิดศัตรูกลุ่มใหม่ หรือศัตรูเก่าสามารถรวมกำลังกันได้อีกครั้งและหมดความอดทนที่จะรอคอยต่อไป
"แม้จะดูเหมือนว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่แบบแผนการแจกแจงความน่าจะเป็นตามกฎกำลังนั้นมีความเป็นสากล และใช้ได้ทั่วไปในหลายสถานการณ์ เราจะพบแบบแผนเดียวกันนี้ได้ในระบบที่ซับซ้อนอื่น ๆ เช่นขนาดของแอ่งหลุมบนดวงจันทร์ รวมทั้งขนาดหรือแมกนิจูดของเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเราสามารถประยุกต์ใช้กฎกำลังเข้ามาอธิบายและทำนายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ด้วย" ดร. โรดริเกซ กล่าวสรุป