มะเร็งปากมดลูก : งานวิจัยอังกฤษชี้ วัคซีน HPV ช่วยลดอัตราเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เกือบ 90%

ที่มาของภาพ, Getty Images
ผลการศึกษาข้อมูลการใช้จริง (real-world data) ครั้งแรก บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีน HPV มีประสิทธิผลในการลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ได้เกือบ 90%
Cancer Research UK องค์กรวิจัยด้านโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักร ระบุว่า นี่เป็นผลการค้นพบ "ครั้งประวัติศาสตร์" ที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีน HPV ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้
99% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus หรือ HPV) จากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงมีความหวังว่าวัคซีนอาจช่วยขจัดโรคร้ายนี้ให้หมดไปได้
ทีมนักวิจัยระบุว่า ความสำเร็จครั้งนี้ อาจช่วยให้คนที่ได้รับวัคซีนต้านมะเร็งปากมดลูกไปแล้วเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนี้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก
สหราชอาณาจักรให้บริการฉีดวัคซีน HPV ฟรีแก่เด็กหญิงอายุระหว่าง 11-13 ปี และยังเริ่มให้วัคซีนชนิดนี้แก่เด็กผู้ชายมาตั้งแต่ปี 2019 ด้วย ส่วนในประเทศไทยได้ให้บริการฉีดวัคซีน HPV โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
ผลการศึกษาพบอะไร
การศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet โดยทีมนักวิจัยได้สำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากอังกฤษเริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีน HPV ให้แก่เด็กหญิงในปี พ.ศ. 2551
ปัจจุบันเด็กเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ในวัยยี่สิบปีเศษแล้ว และผลการศึกษาพบว่า วัคซีนดังกล่าวช่วยลดอัตราการเกิดเนื้องอกหรือก้อนเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 87%
ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ซาซีนี หนึ่งในคณะนักวิจัยจากสถาบันคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า "วัคซีนชนิดนี้ส่งผลอย่างใหญ่หลวง"
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงเล็กน้อยในกลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย โดยวัคซีน HPV จะมีประสิทธิผลสูงสุดเมื่อฉีดให้เด็กก่อนถึงวัยที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์
โดยรวมแล้ว คาดว่าโครงการฉีดวัคซีน HPV นี้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ราว 450 คน และป้องกันการเกิดเนื้องอกหรือก้อนเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ 17,200 คน
การตรวจคัดกรองโรค
ที่มาของภาพ, Science Photo Library
ปัจจุบันสหราชอาณาจักร ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีแก่สตรีที่มีอายุถึงเกณฑ์ในทุก 3-5 ปี
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ซาซีนี ระบุว่า ผลการศึกษาที่ได้ครั้งนี้ ทำให้เป็นที่ "แน่นอน" ว่าจะต้องมีการทบทวนความถี่ในการตรวจคัดกรองโรคนี้ในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีน HPV ไปแล้ว โดยอาจลดการตรวจลงมาอยู่ที่เพียง 2-3 ครั้งตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายของเรื่องการให้วัคซีน HPV เพราะยังมีคำถามที่ยังไม่ทราบคำตอบอื่น ๆ อยู่อีก เช่น วัคซีนชนิดนี้จะให้การป้องกันโรคได้ยาวนานเพียงใด และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกหรือไม่
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถิติปี 2563 พบมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 9,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือในแต่ละวันจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 13 คนซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย