ซัมมิทเพื่อประชาธิปไตย : สหรัฐฯ ตั้งกองทุน 1.42 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมสื่อเสรี เลือกตั้งอิสระ สู้ทุจริต

ไบเดน

ที่มาของภาพ, Getty Images

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยปิดฉากลงแล้ว โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอกย้ำความสำคัญของความสุจริตขั้นสูงและความสมบูรณ์ของการเลือกตั้ง และการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดของระบอบเผด็จการ รวมถึงการสนับสนุนสื่ออิสระ

สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ร่วมประกาศข้อคิดริเริ่มเพื่อสกัดกั้นระบอบเผด็จการจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดเพื่อปิดกั้นผู้เห็นต่าง และแสวงหาความช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในสาระที่ปรากฏในความคิดริเริ่มนี้คือ การเรียกร้องให้มีการกำหนดจรรยาบรรณที่เป็นลายลักษณ์อักษรภายใต้ความสมัครใจ เพื่อเป็นแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่รัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยี เกี่ยวกับนโยบายการส่งออกและการออกใบอนุญาต ภายใต้กฎบัตรด้านสินค้าสาธารณะดิจิทัลนี้ รัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และบริษัทเทคโนโลยี จะต้องกำหนดหลักการสำหรับสินค้าเทคโนโลยีแบบเปิดกว้าง (open source)

นางซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้อำนวยการหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มความรับผิดชอบต่ออุปกรณ์ดิจิทัลที่ส่งออก เพราะบ่อยครั้งที่สินค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ได้กลายเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น

นอกเหนือจากประเด็นบิ๊กเทค สื่อเสรี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังพูดถึงความพยายามอื่น ๆ แม้เพียงเล็กน้อย แต่จะเป็น "เมล็ดพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับประชาธิปไตยที่จะเบ่งบานไปทั่วโลก"

ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า หนทางข้างหน้าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับประชาธิปไตยท่ามกลางกระแสอำนาจนิยมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

"เรารู้ว่ามีงานหนักแค่ไหนรออยู่ข้างหน้า แต่เราก็รู้ว่าเราพร้อมรับความท้าทาย" ไบเดนกล่าวปิดการประชุมเมื่อ 10 ส.ค.

ที่มาของภาพ, Reuters

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไบเดน เรียกร้องให้ผู้นำจากชาติประชาธิปไตยกว่า 100 รายร่วมกัน "คล้องแขน" สกัดกั้นลัทธิอำนาจนิยม ในขณะที่เสรีภาพโลกกำลังถูกคุกคามจากผู้นำเผด็จการที่พยายามขยายอำนาจ อิทธิพล และสร้างความชอบธรรมต่อการปราบปรามผู้เห็นต่าง

"ประชาธิปไตยไม่ได้มาโดยเหตุบังเอิญ คนแต่ละรุ่นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา" นายไบเดนแถลงผ่านการประชุมทางวิดีโอจากรุงวอชิงตันดีซีที่มีผู้นำจากอีก 111 ประเทศร่วมประชุมทางไกล

"ในความเห็นของผมแล้ว นี่คือความท้าทายที่สำคัญยิ่งของยุคเรา"

ในจำนวนชาติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมทางไกลครั้งนี้ มีตั้งแต่ประเทศที่เป็นเกาะ เช่น ติมอร์-เลสเต, ฟิจิ และ ไต้หวัน ไปจนถึงประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก เช่น แคนาดา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร แต่ไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรมาช้านานกับสหรัฐฯ กลับไม่ได้รับเชิญ

ที่มาของภาพ, Reuters

การประชุมสุดยอดนี้ คือหนึ่งในความพยายามของประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตที่สัญญาว่าจะพาสหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง เพื่อเผชิญหน้ากับชาติมหาอำนาจอย่างจีน และรัสเซีย

ทว่าการประชุมครั้งนี้ ก็ถูกวิจารณ์ว่าชักนำประเทศที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือผู้นำมักใช้แนวทางอำนาจนิยมในการปกครองประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ และบราซิล มาร่วมด้วย

นอกจากนี้ การเชิญไต้หวันมาร่วมประชุม ก็สร้างความโกรธแค้นให้จีนที่ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลปักกิ่ง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า การเชิญไต้หวันมาร่วมประชุมแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ต้องการใช้ประชาธิปไตยมาเป็น "ชุดกำบัง และเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์, กดขี่ประเทศอื่น ๆ, แบ่งโลกออกเป็นส่วน ๆ และ ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง"

กองทุนเพื่อประชาธิปไตยโลก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่า จะใช้งบประมาณไม่เกิน 424.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.42 หมื่นล้านบาท) เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลก โดยทำเนียบขาวแถลงเพิ่มเติมว่า อยู่ระหว่างการหารือกับรัฐสภาเพื่อจัดตั้งกองทุนภายใต้ชื่อ ความริเริ่มของประธานาธิบดีเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย (The Presidential Initiative for Democratic Renewal) โดยครอบคลุม 5 เนื้องานคือ

  • การสนับสนุนสื่อที่เสรีและปลอดการแทรกแซง
  • การต่อสู้การทุจริต
  • การสนับสนุนนักปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย
  • การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาธิปไตย
  • การปกป้องคุ้มครองการเลือกตั้งและกระบวนการการเมืองที่เป็นอิสระและยุติธรรม

อังกฤษร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านทางวิดีโอ โดยสัญญาว่าสหราชอาณาจักรจะร่วมมือกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการที่โปร่งใส เปิดให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ พร้อมทั้งการนำระบบตรวจตราใหม่มาใช้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เขากล่าวว่า อังกฤษจะออกมาตรการที่เข้มแข็งขึ้นในการต่อกรกับกระบวนการการเงินผิดกฎหมายที่มุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตยในทุกที่ เพิ่มความเข้มแข็งให้การบังคับใช้ทางกฎหมาย เพื่อนำอาชญากรทางเศรษฐกิจมาลงโทษ

"เราจะสร้างความเปิดเผยมากขึ้นในกระบวนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักรโดยผู้ซื้อจากต่างประเทศ และจะผ่านกฎหมายใหม่ ๆ มาใช้ปกป้องกระบวนการและสถาบันทางประชาธิปไตยจากกลุ่มผู้พยายามจะสร้างความเสียหายให้"

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ร่วมประชุมทางไกลด้วย

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยคืออะไร

  • การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยเป็นความคิดริเริ่มของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของเขายกให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศ
  • การประชุมครั้งนี้จัดแบบออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยและการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม 2) ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ 3) ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
  • รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าการประชุมนี้จะเป็นโอกาสให้ได้รับฟัง เรียนรู้ และพูดถึงสิ่งที่ท้าทายประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ
  • ผู้แทนรัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ จะให้คำมั่นสัญญาในการร่วมกันผลักดันประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก

จัดที่ไหน-เมื่อไหร่

การประชุดสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยจะมีขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประชุมทางไกลออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (www.state.gov) ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งใจจะให้ผู้เข้าร่วมเดินทางมาเจอกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนั้นด้วย ระหว่างการประชุมครั้งที่ 1 และ 2 นายไบเดนจะประกาศให้เป็น "ปีแห่งการลงมือทำ" (Year of Action) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายในการรื้อฟื้นประชาธิปไตย

ใครเข้าร่วมบ้าง

ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐบาล ภาคเอกชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และผู้นำรุ่นใหม่ องค์กรพหุภาคีที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ดูรายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมได้ ที่นี่

คำบรรยายภาพ,

กต. เผยแพร่คำพูดของนายดอน รมว. ต่างประเทศต่อการที่สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย