นายกฯ สั่งทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่

ที่มาของภาพ, AP
เพิ่มเติม : กระทรวงพลังงาน เตรียมหาช่องทางอื่น ป้องกันไฟฟ้าขาด
นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ ขออย่าปลุกระดมประชาชนต่อต้าน เตือนพร้อมใช้ ม.44 จัดการกับผู้ยุยงให้เกิดความไม่สงบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (21 ก.พ.) ว่า ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาและทำความเข้าใจ กับจัดทำ EIA และ EHIA ใหม่ โดยเน้นให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่าการดำเนินการทุกอย่างจะผ่านคณะกรรมการไตรภาคีที่จะเข้ามาพิจารณาร่วมกัน และคาดว่าหากสามารถดำเนินการต่อไปได้จะสามารถใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ในปี พ.ศ. 2565 แต่ถ้าหากการดำเนินการล่าช้าออกไปจากการทำ EIA และ EHIA ใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี คือประมาณปี 2566-2567 การเปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ล่าช้าตามไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ตามไปด้วย
ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้คัดค้านโครงการจะเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบฯ ว่ารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะบังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีความจำเป็น เพราะประชาชนที่มาร่วมประท้วงยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการดำเนินการ รัฐบาลจึงไม่ต้องการจะดำเนินการตามกฎหมาย
"การบังคับใช้กฎหมายก็ทำเท่าที่จำเป็นและเห็นว่าประชาชนเหล่านี้ยังขาดความเข้าใจ ดังนั้นจึงไม่อยากดำเนินคดีอะไรทั้งสิ้นจึงต้องมีมาตรา 44 ซึ่งจะสามารถปลดล็อคได้ หลังจากพูดจาทำความเข้าใจก็ถือว่าใช้หลักรัฐศาสตร์แล้ว ไม่ใช่เรื่องกลัวหรือไม่กลัวมาตรา 44 จะใช้ให้เต็มที่ ไม่กลัวก็ให้รู้ไป แต่อย่าไปยุยงปลุกปั่น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะดูงานโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่น ในวันเดียวกันว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานต้องเตรียมตัวหาทางออก ในกรณีที่ โครงการกระบี่ และเทพา จะไม่เกิดขึ้นด้วยว่า จะหาไฟฟ้ามาจากที่ใด เพื่อรองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งความน่าจะเป็นในขณะนี้ ได้แก่ การซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา หรือ มาเลเซีย หรือ หาแนวทางการฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ทับสะแก ซึ่งถูกระงับไป หลัง นายปิยะสวัสดิ์ อมรนันท์ รมว. พลังงาน สมัยนั้น ได้เซ็นบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้านในพื้นที่
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ มีตัวแทนชาวบ้าน มาคุยกับทาง กฟผ. และกระทรวงพลังงานว่า อยากให้สร้างอีกครั้ง ซึ่งทาง กฟผ. ได้ขอให้ตัวแทนชาวบ้านไปเจรจากันเองก่อน เพื่อให้เป็นฉันทามติออกมา"ถ้าสร้างไม่ได้ ไม่ทัน ก็ต้องใช้สายส่งไฟจากภาคกลางลงไป การซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นออฟชั่นหนึ่ง ปัญหาขณะนี้ คือ คนไทยไม่เอาถ่านหิน ไม่ใช่แค่คนใต้ไม่เอาถ่านหิน เราจะทำยังไง อาจต้องไป LNG แทน ซึ่งก็มีประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้กันอีก"ปลัดกระทรวงกล่าว
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่ากิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า "ขณะนี้ กฟผ. มีที่อยู่แล้ว 4 พันไร่ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ถ้าสร้างที่นี่ได้จะช่วยแบ่งเบาภาระขาดแคลนพลังงานในภาคใต้ได้มาก"