ลดโทษ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” คดี ม.112 จาก 10 ปี เหลือ 6 ปี

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images
นายสมยศยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถึง 16 ครั้ง แต่ถูกศาลปฏิเสธทุกครั้ง
ศาลฎีกาเบิกตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ จำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าฟังการพิจารณาคดี วันนี้ (23 ก.พ.) โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลดโทษนายสมยศ จาก 10 ปี เหลือ 6 ปี ในความผิด 2 กระทง โดยระบุว่าจำเลยมีอายุและรับโทษมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
ส่วนคดีที่นายสมยศเคยถูกตัดสินจำคุกหนึ่งปี ในข้อหาหมิ่นประมาทพลเอกสพรั่ง กัลญาณมิตร อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และหนึ่งในคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่โทษจำคุกได้รอลงอาญาไว้ ศาลสั่งให้นำโทษจำคุกหนึ่งปีมารวมในครั้งนี้ ซึ่งทำให้นายสมยศต้องรับโทษรวม 7 ปี แต่เขาถูกควบคุมระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี 10 เดือน จึงเหลือเวลาที่จะถูกจำคุกต่อไปอีกราว 14 เดือน
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่ามีตัวแทนองค์กรด้านกฎหมาย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และตัวแทนสถานทูต ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีนายสมยศในวันนี้ ประมาณ 30 คน ทั้งตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ตัวแทนจากสหภาพยุโรป และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR)

ที่มาของภาพ, Ed Jones/AFP/Getty Images
นักสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัวนายสมยศเมื่อปี 2554
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายสมยศเป็นเวลา 10 ปี จากการเผยแพร่บทความสองชิ้น ชิ้นละ 5 ปี โดยข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าความผิดทั้งสองกรรมของนายสมยศ สืบเนื่องจากการยินยอมให้ตีพิมพ์บทความทั้งสองชิ้นลงในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ในปี 2553 ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการ และบทความทั้งสองชิ้นมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ทำให้เขาถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 30 เม.ย.2554 และถูกนำไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม้เขาพยายามยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถึง 16 ครั้ง แต่ถูกศาลปฏิเสธทุกครั้ง โดยระบุว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและมีพฤติการณ์หลบหนี
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งตัดสินลงโทษจำคุกนายสมยศ 10 ปี ระบุว่า ผู้อ่านสามารถตีความเนื้อหาของบทความทั้งสองชิ้นได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่มีกฎหมายใดระบุให้บรรณาธิการรับผิดชอบต่อบทความที่ตนไม่ได้เขียน แต่บรรณาธิการย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาไม่นำบทความเผยแพร่ได้หากพบว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่สมยศกลับปล่อยให้มีการเผยแพร่ จึงถือว่าสมยศมีเจตนาที่จะกระทำความผิด
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการพิจารณาดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยระบุว่าหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดี ม. 112 รวมกว่า 90 คน และบางคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี

ที่มาของภาพ, JEWEL SAMAD/AFP/Getty Images
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ยืนยันว่าไทยจะยึดมั่นแนวทางโรดแมป
ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) เผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559/2560 เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) โดยในส่วนของประเทศไทย เนื้อหาในรายงานระบุว่ายังมีการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ ทำให้เกิดสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ หรือเนื่องจากการทำงานสนับสนุนบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญาเพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที และรัฐไทยต้องให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย และสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคม

ที่มาของภาพ, Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images
กลุ่มเยาวชนจำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมต่อต้านการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2559
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานของแอมเนสตี้ฯ โดยระบุว่ารายงานดังกล่าว "ยังมิได้สะท้อนถึงพัฒนาการในประเทศไทยอย่างครอบคลุม" พร้อมย้ำว่า รัฐบาลยึดมั่นดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล
ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมิได้มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด