สามปีรัฐประหาร: ประชาชนเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจแย่ลง สวนทางกับความเห็นนักธุรกิจ

สวนดุสิตโพลล่าสุดระบุ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงหลังจาก 3 ปีภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่เอยูโพลของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเผยว่า ประชาชนส่วนใหญ่เครียดกับปัญหาสินค้าราคาแพง
ผลการสำรวจดังกล่าวสวนทางกับความเห็นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยที่ระบุว่า เศรษฐกิจมีการพัฒนาดีขึ้น เพราะการเมืองมีเสถียรภาพและมีนโยบายระยะสั้น-กลาง-ยาวที่ชัดเจน
- ภาคธุรกิจเร่งรัฐรีบทำนโยบายให้เกิดผลจริง หลังการเมืองมีเสถียรภาพ
- ฟังเสียงชาวนาอีสาน ชาวสวนยางใต้
- ป.ป.ช. ชี้ คะแนนโปร่งใสไทยตก เพราะ เงื่อนไข ปชต.
จากผลการสำรวจของความคิดเห็นของประชาชนโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต หรือ "สวนดุสิตโพล" ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 1,264 คน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 -19 พ.ค. ที่ผ่านมา ในประเด็น "3 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรดีขึ้น?อะไรแย่ลง?" หลังจากที่บริหารประเทศจะครบ 3 ปีในวันที่ 22 พ.ค.ที่จะถึงนี้
จากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.06 ระบุว่าสภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง ตามมาด้วยประชาชนร้อยละ 72.39 บอกว่า การบังคับใช้กฎหมายและการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 69.3 เห็นว่าราคาและผลผลิตทางการเกษตรย่ำแย่ลง นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว เรื่องของการบริหารบ้านเมืองและการใช้งบประมาณ และการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังถือว่าไม่ดีขึ้น
เมื่อถามถึงอนาคตของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งคาดว่าเหลือเวลาบริหารงาน ก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 ปีเท่านั้น สวนดุสิตโพลระบุว่า ประชาชนร้อยละ 83.7 ต้องการให้พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและแก้ไขปัญหาปากท้อง ตามมาด้วย ความต้องการในการช่วยเหลือดูแลสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ช่วยเหลือคนตกงาน ว่างงาน การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น การเดินหน้าตามโรดแมป และแก้ไขกฎหมายที่สำคัญ และการลงโทษอย่างเหมาะสมเป็นธรรม
สอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอยูโพล ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 18 เม.ย. ถึง 15 พ.ค. และมีกลุ่มตัวอย่าง 2,006 ตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา โดยเน้นการศึกษาเกี่ยวกับ "ดัชนีความเครียดของคนไทย" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดบอกตรงกันว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับราคาสินค้าแพง ปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดังกล่าว สวนทางกับความเห็นของบรรดานักธุรกิจต่างๆ ซึ่ง บีบีซีไทย ได้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ อาทิ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานการค้าและการลงทุน นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย และนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า สามปีของเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมือง พร้อมกับความพยายามปราบคอร์รัปชั่น รวมถึงการมีนโยบายระยะ 5-20 ปี แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐยังให้การสนับสนุนได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก