จะดีไหม หากเปลี่ยนวันพักร้อนเป็นเงินได้

จะดีไหม หากเปลี่ยนวันพักร้อนเป็นเงินได้

วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง

ถามมนุษย์เงินเดือนเห็นด้วยหรือไม่ หากนายจ้างจ่ายเงินทดแทนวันลาพักร้อนที่ไม่ได้ใช้

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสนอกระทู้บนหน้าเว็บไซต์ change.org รณรงค์ขอเสียงสนับสนุนเพื่อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้ เปลี่ยนข้อกำหนดการใช้วันหยุดพักร้อน หากใช้ไม่หมดให้คืนเป็นจำนวนเงินแก่พนักงาน

ผู้ตั้งกระทู้นี้ให้เหตุผลว่า กลุ่มคนในวัยทำงานในประเทศไทยที่มีวันลาพักร้อน 10 วัน มักไม่ได้ใช้สิทธิลาพักผ่อนวันหยุดประจำปี เนื่องจากหัวหน้าไม่ให้พนักงานลาง่ายๆ บ้าง จึงทำให้ต้องเลื่อนไปใช้วันลาพักร้อนในปีถัดไป แต่เมื่อถึงปีถัดไปก็ลายากเหมือนเดิมอีก จึงเสนอกระทรวงแรงงานร่างกฎหมายสำหรับข้อกำหนดการบังคับใช้วันหยุดพักร้อนให้หมดภายในปี แต่หากใช้ไม่หมดให้คืนเป็นจำนวนเงินตามรายได้ต่อวันคูณด้วยจำนวนวันที่คงเหลือคืนให้กลับพนักงานเป็นค่าทดแทนช่วงสิ้นปี

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศในปี 2559 ด้วยกลุ่มตัวอย่าง 63,060 คน ผลสำรวจบอกว่า ร้อยละ 36.7 ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยว

สำหรับเหตุผลที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยว 5 อันดับแรก คือ ไม่มีเวลาว่าง ร้อยละ 52.3 ตามด้วย ไม่มีเงินเพียงพอจะเดินทาง ไม่ชอบเดินทาง สภาพเศรษฐกิจไม่ดี และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

บีบีซีไทยสำรวจสิทธิลาพักร้อนจากพนักงานบริษัทบางแห่ง

พนักงานรายหนึ่งของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่า บริษัทมีนโยบายให้พนักงานต้องใช้วันหยุดพักร้อนติดต่อกัน 5 วัน จากสิทธิทั้งหมดปีละ 12 วัน และหากไม่ใช้สิทธิหัวหน้าต้องเขียนรายงานเหตุผลไปยังฝ่ายบุคคล

ด้านพนักงานบริษัทผลิตซีเมนต์แห่งหนึ่ง บอกกับบีบีซีไทยว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินแทนวันหยุดพักร้อนที่ใช้ไม่หมดแก่พนักงานที่เข้างานเป็นกะ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ขาดงาน ลากิจ ลาป่วย หรือมาสาย โดยอนุโลมให้ใช้สิทธิวันลาเหล่านั้นในโควตาวันลาพักร้อนประจำปี เมื่อสิ้นปีวันพักร้อนที่เหลือสามารถแลกเป็นเงินโดยคำนวณจากอัตราระดับเงินเดือน

ขณะที่พนักงานบริษัทผลิตซีเมนต์อีกแห่งหนึ่ง กล่าวว่า บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายแทนเป็นเงิน แต่ให้สะสมไปใช้ในปีถัดไปได้สูงสุด 45 วัน แต่หากพนักงานลาออกบริษัทจะจ่ายเป็นเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ คำนวณจากอายุงาน

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วัน ในปีต่อไป นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างมากกว่า 6 วัน และตกลงกันให้สะสมวันหยุด และนับรวมเข้ากับปีต่อๆไปได้ ส่วนลูกจ้างที่ยังทำงานไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักร้อนโดยคำนวณตามส่วน

กฎหมาย ยังเขียนไว้อีกว่า หากนายจ้างไม่ได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือหยุดน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศนั้นมีนโยบายเรื่องการใช้สิทธิวันลาพักร้อนที่ต่างออกไป การศึกษาของศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจ ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2556 บอกว่า หลายชาติมีมาตรการพิเศษในการทำให้แน่ใจว่าลูกจ้างจะใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนของพวกเขาอย่างเช่น โปรตุเกส สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

ประเทศเหล่านี้มีข้อห้ามแก่นายจ้างไม่ให้เสนอจ่ายเงินเพิ่มแก่ลูกจ้างเพื่อทดแทนการไม่ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ก็มีบางประเทศอย่างออสเตรเลียที่จะจ่ายเป็นจำนวนเงินให้แก่พนักงานที่มีวันลาพักผ่อนประจำปีเกิน 4 สัปดาห์ขึ้นไป