ทำความเข้าใจ 'แฟนคลับเกาหลี' ไทย ผ่านมุมคนในวงการ
- ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images
กลุ่มแฟนของบอยแบนด์วงหนึ่งในเกาหลีใต้
การเสียชีวิตของ 'จงฮยอน' นักร้องดังจากวง SHINee เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กลุ่มแฟนคลับนักร้องเกาหลีทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ทำให้กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเตือนให้คนรอบข้างเฝ้าระวังด้วยความเข้าใจอย่างใกล้ชิด
"แฟนคลับเกาหลี" เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเป็น 'ติ่งเกาหลี' ไม่ได้ช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจพวกเขาได้ง่ายขึ้น
ภาพของแฟนคลับที่วิ่งตามนักร้องคนโปรดในห้างสรรพสินค้า หรือเบียดเสียดส่งเสียงดังขณะต้อนรับศิลปินเกาหลีที่สนามบิน ทำให้บ่อยครั้งแฟนเกาหลีถูกวิจารณ์ว่า ไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผล และเกินพอดี
สำหรับคนทั่วไปการทำความเข้าใจพฤติกรรมและวัฒนธรรมของแฟนคลับเกาหลี อาจยากพอ ๆ กับการหาเหตุผลว่าทำไม อนนต์ เดชะปัญญา วัย 26 ปี ถึงมีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์มากกว่า 8.5 แสนคน

ที่มาของภาพ, Boom Cassiopeia
อนนต์ เดชะปัญญา หรือ บูมแคสซิโอเปีย
เช่นเดียวกับผู้ติดตามของเขาหลายคน อนนต์ หรือที่รู้จักในวงการว่า "บูมแคสซิโอเปีย" หนึ่งในแฟนคลับเกาหลีรุ่นบุกเบิก เริ่มสนใจในสื่อบันเทิงต่างชาติมาก่อนที่จะได้รู้จักกับศิลปินเกาหลี
กระแสวัฒนธรรมเกาหลีเริ่มก่อตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2548 ที่ซีรีส์ยอดนิยมเรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง และฟูลเฮาส์ ออกอากาศทางฟรีทีวี เบิกทางให้ความบันเทิงชนิดอื่นจากเกาหลีเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นในปีต่อ ๆ มา รวมทั้งวงดนตรีและรายการโทรทัศน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงสากลอยู่แล้วจะหันมาสนใจ
"เราเป็นคนที่ติดตามวงการบันเทิงชาตินู้นชาตินี้อยู่แล้ว สำหรับเกาหลีเราก็จะพอรู้จักอยู่บ้าง เช่น ชินฮวา หรือ Fly To The Sky ว่าพวกนี้นักร้องเกาหลีชื่อดังนะ เพลงดีนะ ร้องเพราะนะ จนกระทั่งมารู้จัก ดงบังชินกิ ที่ทำให้รู้สึกว่า โห โดนใจมาก คุณภาพเสียงสุดยอดไร้ที่ติจริง ๆ คงต้องเป็นแฟนคลับวงนี้แล้วล่ะ ปล่อยผ่านไปไม่ได้แล้ว" บูมกล่าว
การเป็นแฟนคลับเกาหลีในยุคก่อนโซเชียลมีเดียนั้น หมายถึงการตั้งตารอดูรายการเพลงทางโทรทัศน์เพื่อลุ้นว่าจะได้ฟังวงโปรดหรือไม่
ขณะที่ปัจจุบันเหล่าแฟนคลับนัดพบปะกันเป็นเรื่องปกติ ในสมัยก่อนการสื่อสารระหว่างกันเป็นไปได้ยากและไม่ได้หาคนที่ 'อิน' เหมือนกันได้ง่าย ๆ
"ทันสมัยที่สุดตอนนั้น คือเว็บไซต์แยกของแฟนคลับแต่ละวงในไทย แล้วก็เป็นเว็บบอร์ด อย่าง Pingbook และ สยามโซน ที่เป็นยุคบุกเบิก"
สิ่งที่ยากกว่าการหาเพื่อนที่สนใจเหมือนกัน คือการแสดงความคลั่งไคล้อย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนคลับเกาหลีด้วยกันยอมรับ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนรอบข้างจะเข้าใจ แม้แต่ในห้องเรียน
"สมัยมัธยม เพื่อนในห้องเดียวกัน ด่าเราว่าเป็นไอ้ทาสเกาหลี สมัยนั้นเราชอบ เซีย จุนซู มาก เขาถามเราว่า 'มันเป็นพ่อเหรอ' 'เป็นญาติฝ่ายไหนเหรอ' "

ที่มาของภาพ, Boom Cassiopeia
ในสมัยนั้นบูมเป็นเหมือนแฟนคลับทั่วไป ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีของกลุ่มหรือเป็นเจ้าของเว็บไซต์ไหน แต่เขาจำได้ว่าทุกอย่างขยับรวดเร็วขึ้นเมื่อทวิตเตอร์เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่แฟนคลับประเทศไทย เพราะเป็นช่องทางที่แฟนคลับจะสามารถติดตามข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับศิลปินเกาหลีที่ตนชื่นชอบได้ง่ายขึ้น
แคสซิโอเปีย (Cassiopeia) คือชื่อของแฟนคลับดงบังชินกิ ซึ่งแปลว่า กลุ่มดาวค้างคาว อันประกอบไปด้วยดาว 5 ดวงเท่ากับจำนวนสมาชิกของวง บูมใช้ชื่อว่า บูมแคสซิโอเปีย เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าเขาเป็นแฟนของวงนี้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเป็นแฟนเกาหลี
ต่อจากนั้นหลายปี เขาก็เริ่มเปิดใจชอบวงอื่น ๆ มากขึ้น จนได้ไปคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ M Countdown Smile-Thailand ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในปี 2555
ในขณะที่วง Beast กำลังโชว์เพลง Fiction ให้แฟนเพลงมากกว่าสามหมื่นคนชม ตากล้องได้จับภาพบูมที่กำลังกรีดร้องและส่งเสียงร้องเพลงอย่างสุดพลัง ขึ้นจอใหญ่และออกอากาศไปทั่วเอเชีย ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะ "Thai hardcore fan boy" และในไทยว่า "นี่มันพี่บูมในทวิตเตอร์นี่ ที่มันบ้า ๆ" บูมกล่าวถึงตัวเอง

ที่มาของภาพ, Getty Images
ความคลั่งไคล้นักร้องเกาหลีของกลุ่มแฟนไม่ได้เป็นเฉพาะกับชาวไทยเท่านั้น
แฟนเกาหลีครองทวิตเตอร์ไทย
เหตุการณ์นั้นทำให้ยอดติดตามบนทวิตเตอร์ของเขาเพิ่มจากหลักพันเป็นหลักหมื่น เขาใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อในการแสดงออก เช่น การร้องเพลงคัฟเวอร์ โพสต์รูปภาพ และข้อความที่ถูกส่งต่อมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้ติดตามเป็นหลักแสนในทุกวันนี้
"มันใหญ่ขึ้นเร็วมากตอนแรกมันเป็นวงแคบ ๆ เราชอบคนเดียวเรายังไม่รู้เลยว่ามีคนชอบกับเราด้วย ตอนนี้มีโซเชียลก็ทำให้เรามารวมกันและเห็นว่ามันใหญ่ขึ้นมาก เขามากดไลค์เรา มาแชร์เรา มีรูปมีข่าวให้ดูตลอดเวลา มันอาจจะไม่ได้สนิทสนมเหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่มีความสุขมากไม่แพ้กัน เหมือน 'K-pop is all around' รอบตัวไปหมด"
วัฒนธรรมแฟนเกาหลีในไทยเติบโตและอยู่คู่กับทวิตเตอร์ในไทยมาตลอด ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่ แฮชแท็ก ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของไทยในแต่ละวันจะเกี่ยวข้องกับนักร้องเกาหลีซึ่งเข้าใจกันในหมู่แฟนเกาหลีเท่านั้น
"แต่พลังของสื่อโซเชียล ก็เข้ามาขยายความคลั่งไคล้ให้เห็นชัดต่อสังคมภายนอกมากขึ้น เช่น การไปรับส่งที่สนามบิน การไปรอดูงานแถลงข่าวตามลานห้าง สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อตีแผ่ขยายความมากขึ้นในยุคนี้ คนนอกก็จะพากันตัดสินพวกเราไปแล้วว่าทำไมต้องบ้ากันขนาดนี้ด้วย"
ฐานแฟนคลับที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันมี 3-4 บริษัทนำศิลปินเกาหลีมาแสดงในไทยถึงเดือนละ 2-3 วง ซึ่งนับว่าบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ยังถูกกำหนดด้วยกติกาอันเคร่งครัดของต้นสังกัดของศิลปินที่ไม่อนุญาตให้แฟนคลับเข้าถึงได้ง่าย ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images
บรรยากาศการรอต้อนรับวงบอยแบนด์ในประเทศเกาหลีใต้
"ศิลปินเกาหลีจะค่อนข้าง untouchable (จับต้องไม่ได้) พอสมควร เพราะต้นสังกัดเขาเลี้ยงดูราวกับไข่ในหิน การมาไทยก็ไม่ได้ง่ายสักเท่าไหร่ ไม่ได้เจอได้ฟรีทุกสัปดาห์เหมือน 7 สีคอนเสิร์ต ค่าบัตรก็แพง พอเห็นก็เห็นแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น มันเลยเหมือนแรงกดดันเล็กน้อย ที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าเวลาศิลปินมาหาถึงไทยแล้วต้องทุ่มเทให้สุดพลังกันสักหน่อย ให้คุ้มที่อุตส่าห์ได้อยู่ในประเทศเดียวกันแล้ว ซึ่งมันก็สมเหตุสมผลนะ"
จำนวนแฟนคลับจำนวนมากในไทยยังเพิ่มโอกาสให้แต่ละคนได้ร่วมกิจกรรมร่วมกัน เช่น ประดิษฐ์ของแสดงความชอบต่อศิลปิน ที่เรียกว่า fan made และ fan art ซึ่งมีการรวมตัวกันถึงขั้นเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม
งานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมแฟนคลับเกาหลีโดย จุติมาศ เกลี้ยงเกลา และ พรทิพย์ เย็นจะบก ยังพบว่าแฟนคลับนิยมซื้อสินค้าหน้าคอนเสิร์ต เช่น สมุดภาพ แท่งไฟ และอุปกรณ์เชียร์ แต่ในส่วนของซีดี จะเลือกซื้อเฉพาะที่นำเข้าจากเกาหลีโดยตรง เพราะมองว่าเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายซึ่งมีผลต่อการได้รับรางวัลของศิลปินรายนั้น
คำว่า 'ติ่งเกาหลี'
ขณะที่แฟนคลับของจัสติน บีเบอร์ นักร้องชื่อดังชาวแคนาดา มีชื่อเรียกว่า บีลีบเบอร์ (Belieber) แฟนเกาหลีในประเทศไทยก็มีชื่อเล่นหลายชื่อ
"จริง ๆ ทั้งหมดเนี่ยคืออันเดียวกันหมด ติ่ง แฟนคลับ ไอ้พวกบ้าเกาหลี ซึ่งถ้าเกิดเราพูดกันเองเนี่ยเราไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ แต่ว่าบางที คำพูดว่าไอ้ติ่ง ไอ้พวกบ้าเกาหลี มันจะมาพร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น มันเลยทำให้เรารู้สึกฝังใจกับคำพวกนี้ อาจจะทำให้เราเซนสิทีฟกับคำเหล่านี้นิดหน่อย แต่ถ้าเรียกกันเองเนี่ย มันสั้น และง่ายดี" บูมกล่าว
บูมยังอธิบายอีกว่าคำวิจารณ์จากคนนอกเป็นเรื่องที่แฟนเกาหลีแทบทุกคนเคยสัมผัสไม่มากก็น้อยมาโดยตลอด และเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ที่วิจารณ์อาจได้เห็น "ติ่งเกาหลี" ในบางมุมเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่แฟนเกาหลีหลายคนมีการร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ไม่ใช่แค่กรีดร้องตามนักร้องเท่านั้น
"แน่นอน บ่อยมากด้วย และก็ชินแล้วด้วยครับ เพราะเราไม่ทราบว่าฝั่งที่เขาวิจารณ์ เขาเปิดใจหรือยอมรับเราขนาดไหน ทางที่ดีที่เราทำได้คือเราเปิดใจและปลงเองมากกว่า เอาเถอะ เขาคงวิจารณ์ด้วยความหวังดีมั้ง เขาคงไม่รู้ทุกอย่างเหมือนพวกเรามั้ง เขามองมาพวกเราคงดูบ้ามั้ง"
พิธีเคลื่อนศพ จงฮยอน ไปสุสาน
การเสียชีวิตของ 'จงฮยอน' กระทบทุกคน
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา การเสียชีวิตของ 'จงฮยอน' นักร้องดังจากวง SHINee อย่างไม่คาดคิดได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กลุ่มแฟนคลับนักร้องเกาหลีทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ทำให้กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเตือนให้คนรอบข้างเฝ้าระวังด้วยความเข้าใจอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง (Copycat suicide)
บูมกล่าวว่าการตายของจงฮยอน กระทบแฟนคลับเกาหลีทั้งวงการ ไม่เฉพาะเจาะจงวงใด ซึ่งต่างรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน คือความช็อกที่ตามมาด้วยความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก
"แฟนคลับวงอื่นแทบจะทุกวง แม้จะช็อกและเศร้าเสียใจไปตาม ๆ กัน แต่ก็ยังพอจะมีสติและคอยปลอบประโลมให้กำลังใจชยาวอล (แฟนคลับของ SHINee) กันอย่างเต็มที่ นับเป็นเรื่องน่าประทับใจเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเศร้าที่ยิ่งใหญ่"
ส่วนตัวเขามองว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกคนหันมาสนใจและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้าง "เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลย ว่าจิตใจของแต่ละคน อ่อนไหวเปราะบางเพียงไหน หรือความรักความผูกพันที่เขามีให้ศิลปินอันเป็นที่รัก มันลึกซึ้งเพียงใด เพราะการตาย และความสูญเสีย มันไม่เคยเป็นเรื่องเล็กน้อยแม้จะเกิดกับใครก็ตาม โดยเฉพาะกับคนที่รักมันก็สมเหตุสมผลอยู่แล้วที่เราต้องเศร้า"
"แต่สิ่งที่ทุกคนต้องมีคือการประคองสติ และรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง พยายามฉุดตัวเองให้ฟื้นจากอารมณ์ที่ดำดิ่งลงไปให้ได้ อย่าปล่อยให้ความเศร้านั้นกลืนกินตัวเราจนมากเกินไป มองดูคนรอบตัวที่รักเรา มองดูพ่อแม่ที่มีค่ากับเรา และไปหาอะไรทำร่วมกัน ไปใช้ชีวิตกับพวกเขาอย่างมีความสุขดีกว่า" บูมกล่าว
"บูมเชื่อว่าเขาคนนั้นที่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว ก็คงต้องการจะให้แฟนคลับที่เขารัก และรักเขา มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขต่อไปอย่างแน่นอนครับ"